สรรพคุณกัญชา รักษาโรค คู่แพทย์แผนปัจจุบัน ‘จิตเภท-ไบโพล่าร์’ ห้ามใช้
ไขคำตอบ 'กัญชาทางการเเพทย์' รักษาโรคอะไรได้บ้าง 'นพ.ธีระวัฒน์' หยิบยกข้อมูลกรมการเเพทย์ ช่วยได้ 6 กรณี ย้ำต้องมีความปลอดภัยสูงสุด ขณะที่ 21 พ.ค. ครบวันสิ้นสุดนิรโทษกรรมกัญชา รพ.จุฬาฯ -อย. ร่วมมือเปิดลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ต
วันที่ 21 พ.ค. 2562 จะเป็นวันสิ้นสุดนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562
ในเวลาเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้ลงทะเบียนผู้ใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ตผ่าน www.cbd-oss.org ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ:เปิดลงทะเบียนผู้ใช้กัญชารักษาโรคผ่านเว็บไซต์ cbd-oss.org ถึง 21 พ.ค.) เพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐาน ป้องกันการถูกจับและปรับ กรณีที่ยื่นผ่าน อย.ไม่ทัน อย่างน้อยก็แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจในการครอบครองกัญชาได้
ทั้งนี้ แม้กัญชาจะเป็นยา แต่จากการยืนยันของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในเวทีแถลงข่าวลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ต ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ ระบุไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกโรคอย่างไร้ข้อจำกัด
แล้วใครควรได้รับกัญชาและไม่ควรรับกัญชา โดยมีข้อแม้ว่า ต้องมีความปลอดภัยต่อร่างกายสูงสุด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อ้างอิงข้อมูลจากกรมการแพทย์ โดยสรุปให้ฟังว่า มีทั้งหมด 6 กรณี สามารถใช้กัญชาได้
1.อาการแข็งเกร็ง ที่อาจเกิดร่วมกับการบิดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น เกิดจากเส้นเลือดตันหรือแตก ความผิดปกติที่ระดับของไขสันหลัง และรวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กหลังคลอดที่มีสมองพิการ หรือเจริญเติบโตผิดปกติ และโรค multiple sclerosis สามารถใช้กัญชาได้ เพื่อลดอาการแข็งเกร็ง
2.อาการปวดทรมาน ที่นอกเหนือจากมะเร็ง หรือปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือระบบประสาท เช่น การปวดที่เกี่ยวเนื่องจากการอักเสบของข้อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยปกติต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างรุนแรงและร่วมกับยาแก้ปวดที่เป็นอนุพันธุ์ของมอร์ฟีน โดยเราทราบข้อจำกัดของการใช้ยาแก้ปวด เมื่อใช้ในปริมาณมาก ยาวนาน และหลายตัวยา ไม่ว่าชนิดราคาถูกหรือแพง ล้วนมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดตาย และส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร รวมถึงไต ซึ่งเราอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยใช้กัญชา
3.ภาวะการปฏิเสธอาหาร ทั้งที่เกิดจากโรคทางจิตประสาท anorexia nervosa และโรคทางกายที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อจิตใจ และอาการอาเจียนจากเคมีบำบัดโรคมะเร็ง กัญชาสามารถนำมาใช้ได้
4.โรคทางสมอง ได้แก่ โรคพาร์กินสันส์ โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งปัจจุบันไม่มียาใดรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้นเพียงบรรเทาเท่านั้น เพราะฉะนั้นใช้กัญชาแทนกันได้
5. โรคลมชักทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ที่ไม่สามารถควบคุมด้วยยากันชัก 1 ชนิด สามารถควบรวมกับกัญชาได้ โดยไม่ต้องใช้ยากันชัก 3 ชนิด
6.โรคมะเร็ง ต้องใช้การรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพื่อไม่ให้เสียโอกาส และใช้กัญชาเป็นตัวควบรวมคุณภาพชิวิต แต่ต้องแจ้งให้แพทย์รักษาแผนปัจจุบันทราบด้วย
ส่วนโรคจิตเภท และโรคไบโพล่าห์ ห้ามใช้กัญชา
“ถ้ามีโรคบางชนิด เช่น โรคทางจิตประสาทเกิดขึ้น ไม่ควรใช้สารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อจิตประสาท ควรเลี่ยงไปใช้อย่างอื่น ที่สำคัญ คือ การใช้กัญชาต้องมีความรู้เพียงพอจะบอกว่า คนนั้นได้รับยาอะไร โรคประจำตัวใด ฉะนั้นกัญชาอาจมีปฏิกิริยาเข้าไปตีกับยาที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ทำให้ยาดังกล่าวออกฤทธิ์มากขึ้น ทำให้เลือดออกง่าย หยุดยาก หรือทำให้ยาบางชนิดมีระดับเพิ่มขึ้น เช่น รับประทาน 1 เม็ด อาจออกฤทธิ์ 3 เม็ด ฉะนั้นการใช้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค และรู้สาเหตุของโรคด้วย เพื่อการใช้กัญชาเกิดประโยชน์สูงสุดได้ และควรควบรวมกับการรักษาแผนปัจจุบัน”หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ กล่าวในที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/