“พันธุ์ข้าว” 1 ในปัจจัยสำคัญเพิ่มผลผลิต ยุทธศาสตร์รองรับ AEC ในปี 2558
ข้าว เป็นพืชอาหารที่มีคนนิยมบริโภคเป็นอันดับต้นๆของโลก และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ แม้ไทยครองแชมป์อันดับหนึ่งในการส่งออกข้าวมาโดยตลอด แต่เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถในการผลิตข้าว พบว่าผลผลิตเฉลี่ยข้าวไทยอยู่ที่ 461 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยข้าวของเวียดนามอยู่ที่ 875 กิโลกรัม/ไร่ อินโดเนีเซีย 774 กิโลกรัม/ไร่ และจีน 1,054 กิโลกรัม/ไร่
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่าแม้ประเทศไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ตาม แต่ผลผลิตข้าวของไทยต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ด้วยกัน
จะสังเกตุได้ว่า ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าเวียดนามถึง 30% แต่เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองไทยอยู่แค่ 2.3 ล้านตัน เห็นได้ว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตข้าวต่ำกว่าเวียดนามเกือบ 1 เท่าตัว อนาคตข้าวไทยจะเป็นอย่างไร?
โอกาสที่ประเทศไทยจะเสียแชมป์ให้กับเวียดนามจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
ไทยจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)อย่างเต็มตัวในปี 2558 ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน และประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ (CLMV) ประกอบด้วย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว ต้องลดภาษีสินค้าเป็นศูนย์ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว ซึ่งมีทั้งโอกาสและอุปสรรคเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่งนักว่าจะไทยแสวงหาโอกาสในวิกฤตได้อย่างไร ?
ไทยจะสูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งตลาดที่หายไปนี้มากน้อยแค่ไหน ?
ในปีนี้ 2012 ไม่ใช่เฉพาะเวียดนามเท่านั้นที่ตัวเลขการส่งออกข้าวพุ่งสูงถึง 7 ล้านตันต่อปี แม้กระทั่งอินเดียได้ก้าวขึ้นมาเบียดเวียดนามในระยะประชั้นชิด ทำสถิติส่งออกข้าว 7 ล้านตันต่อปีเช่นกัน ในขณะที่การส่งออกของไทยลดลงเหลือ 6.5 ล้านตันต่อปี โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 39 %
จากการติดตามข้อมูลเรื่องข้าวอย่างต่อเนื่อง พบว่าการเพิ่มผลผลิตข้าวในจำนวนมากของเวียดนามไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากเกิดจากการทำนาด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง โดยเวียดนามใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมจากประเทศจีน สำหรับการปลูกข้าวในตอนเหนือของประเทศ
ท่ามกลางการแข่งขันที่ต้องช่วงชิงโอกาสเช่นนี้ ไทยจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การนำพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและให้ผลผลิตเพิ่มมาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งจะทำให้ชาวนาผู้ผลิตข้าวสามารถมีรายได้จากการขายข้าวที่มีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยก็สามารถรักษาแชมป์ส่งออกข้าวไว้ได้ต่อไป
“พันธุ์ข้าว” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และข้าวลูกผสม(Hybrid Rice) น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตข้าวที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม หากว่ามีพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดก็จะช่วยยกระดับการส่งออกข้าวไทยได้อีกขั้นหนึ่ง
หลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม ได้แก่ จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ และสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 1 ล้านตัน/ปี โดยปรากฏว่ากรมการข้าว มีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 ตัน/ปี โดยมีปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการซื้อรวม 600,000 ตัน แต่เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ 265,000 ตัน แบ่งเป็นจากกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธ์ 23 ศูนย์ 152,500 ตัน เอกชน 112,500 ตัน ซึ่งยังไม่พอจำหน่าย ขณะที่ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 800,000 ตัน เป็นเมล็ดพันธุ์ซึ่งชาวนาคัดสายพันธ์เอง และร้านค้ารายย่อย ในท้องถิ่น ประมาณ 300,000 ตัน/ปี
การใช้พันธุ์ข้าวที่เก็บเองนำมาปลูกในปีถัดไปนั้น ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตต่ำ เมล็ดข้าวหัก มีรูปร่างไม่สวย ชาวนาจึงขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำ
พื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทย มีกว่า 60 ล้านไร่ แต่ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีสาเหตุหลักที่สาคัญ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคแมลงระบาด มีเมล็ดพันธุ์อื่นปน เป็นต้น
ด้วยเหตุผลตามที่ระบุข้างต้น ข้าวลูกผสมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับชาวนาของประเทศ เนื่องจากข้าวลูกผสม มีคุณสมบัติให้ ผลผลิตมากกว่าข้าวสายพันธุ์แท้ทั่วไปประมาณ 20 % ต้านทานโรคและแมลง พร้อมทั้งปรับตัว เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
นอกเหนือจากการใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมมาเป็นปัจจัยในการเพิ่มผลผลิตข้าวให้แก่ไทยแล้ว ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตข้าวของไทย ควรประกอบไปด้วย
1.ต้องปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีระบบชลประทาน
2.ต้องมีการจัดการเรื่องปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชที่ดี
3.ต้องมีการพัฒนาวิธีการปลูกแบบใหม่
ประการแรก ระบบชลประทาน เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการปลูกข้าว ต้องมีการจัดรูปที่ดินเพื่อทำการเกษตร และกำหนดพื้นที่ทำนาข้าวในเขตที่มีชลประทาน ทั้งนี้เพราะ “น้ำ” จำเป็นอย่างยิ่งต่อการปลูกข้าว ในพื้นที่ที่มีชลประทานจะสามารถทำนาข้าวได้ปีละ 2.5 - 3 ครั้ง ในหลายประเทศจึงมีกฎหมายบังคับ กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวและจัดระบบชลประทานเข้าไปในพื้นที่นั้น เช่น ไต้หวัน หรือที่เวียดนามได้มีการกำหนดพื้นที่ทำนาข้าวในเขตที่มีชลประทาน
ประการต่อมา คือ เรื่องการใช้ปุ๋ย ต้องมีการใช้ปุ๋ย และยา อย่างมีประสิทธิภาพ ควรสนับสนุนให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เพราะตามหลักธรรมชาติแล้วการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และจุลินทรีย์ เท่ากับเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุเข้าไปในดิน และการใช้จุลินทรีย์ที่เหมาะสมก็จะช่วยฆ่าแมลง ช่วยลดโรคบางโรค เป็นการเพิ่มผลผลิตและทำให้ได้ข้าวคุณภาพดี
ประการสุดท้าย ต้องมีการพัฒนาวิธีการปลูกข้าวแบบใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและการจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งปัจจุบันนั้นการปลูกข้าวได้มีวิวัฒนาการขึ้นมาก มีการใช้เทคโลยีและการจัดการสมัยใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดิน การเพาะกล้า การดำนา และการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพแล้วยังลดต้นทุนค่าแรงงานได้อีกด้วย ทำให้ชาวนาบางส่วนหันมาใช้เครื่องดำนา
การเพิ่มผลผลิตข้าว ให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก และก้าวทันการเปิดประชาคมเศรฐกิจอาเซียน ปี 2558 “พันธุ์ข้าว”จะมีความสำคัญมาก ในขณะเดียวกันระบบชลประทานที่ดี การจัดการเรื่องปุ๋ย ยา รวมไปถึงวิธีการปลูกข้าว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศไทย เพื่อให้ชาวนาไทยได้ยกระดับฐานะเป็นชาวนาที่มั่งคั่ง และไทยจะได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยและเติบโตอย่างยั่งยืน