ความคืบหน้า ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี
วันที่ 13 พ.ค.62 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่ภาครัฐลงทุนน้อยที่สุด เพื่อภาครัฐจะได้ประหยัดงบประมาณ และสามารถนำงบประมาณไปใช้พัฒนาคนและบริการขั้นพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในด้านอื่น ๆ โดยจากการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพราะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจา
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือกดังกล่าว
2. โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ใน EEC
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในอีอีซี (Thailand Genome Sequencing Center) จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
(1) ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ
(2) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub
(3) ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) และให้ สกพอ. ประสานหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC
ต่อเนื่องจากการประชุม กพอ. ครั้งที่ 3/2562 ซึ่งที่ประชุมฯ ได้รับทราบความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และปริมาณตรงตามความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายในปี 2566 โดยเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย
• นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน
• นักศึกษาสาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน
แนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ได้แก่
1. กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกงานเพื่อให้มีประสบการณ์ตรงกับ ภาคอุตสาหกรรม
2. กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
3. กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 โดยที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง. สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ร่วมทุนในโครงการฯ หลังผ่านการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกดังกล่าว คาดว่าจะเสนอ ครม. วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และอาจลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ หากผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้งหมด