คปร.สายชุมชนติงสื่อหย่อนเสนอข่าวรากหญ้า นักวิชาการแนะชุมชนฝึกทักษะสื่อสาร
บัณฑรติงสื่อหย่อนเสนอข่าวชุมชน แนะชาวบ้านคว้าโอกาสปฏิรูป ปท.ดันปัญหาจากพื้นที่สู่สาธารณะ บก.มติชนบอกชุมชนรู้ปัญหาตัวเองดี แต่ต้องชงเนื้อหาให้เป็น-รู้จักช่องเผยแพร่ นักวิชาการสื่อสารชี้ไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลักเสมอไป วิทยุชุมชนเป็นทางเลือกที่ดี เสนอตั้งศูนย์ฝึกทักษะการสื่อสารในชุมชน
เร็วๆนี้ ที่อูหลง รีสอร์ท จ.ราชบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารของผู้นำชุมชน”(ภาคกลาง) โดย ผศ.บัณฑร อ่อนดำ กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) และที่ปรึกษา พอช. กล่าวว่าสังคมไทยปัจจุบันเป็นยุคของการเรียนรู้ ผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารมักได้เปรียบ แต่ปัญหาของสื่อปัจจุบันคือเนื้อหามักจะมุ่งไปที่ผู้มีอำนาจ ขาดการนำเสนอเรื่องราวชาวบ้านรากหญ้า ต้องช่วยกันคิดว่าจะเพิ่มเนื้อหาเหล่านี้ลงไปในสื่อเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างไร
“ที่ผ่านมาเรามีปัญหาข้อจำกัดในการบริหารและใช้สื่อให้เป็นสาธารณะ แต่วันนี้ประชาชนกำลังก้าวมาเป็นเจ้าภาพจัดการบริหารประเทศ โดยมีสภาองค์กรชุมชนที่ยกระดับจากตำบลเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อน จึงจำเป็นต้องช่วยกันคิดว่าจะมีช่องทางอย่างไรให้สภาฯออกสู่สาธารณะ ทำแบบจากล่างขึ้นบนได้ยิ่งดี”
นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของข่าว นอกจากจะเน้นเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อประเทศ ยังขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของเนื้อหา ซึ่งหากชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่และรู้ปัญหาตนเองดีอยู่แล้ว รู้จักหยิบประเด็นมานำเสนอ ประกอบกับเข้าใจหลักการสื่อสารและรู้จักแหล่งหรือช่องทางการเผยแพร่ การนำเสนอเรื่องราวของชุมชนออกสู่สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องไม่ท้อถอยที่จะนำเสนอ
“ทุกวันนี้สื่อให้ความสนใจชุมชนมากขึ้น อยากรู้ปัญหาและความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น เช่น งบประมาณต่างๆที่ลงไปในพื้นที่มีความโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้กระทั่งกระแสปฏิรูปที่ต้องฟังเสียงจากท้องถิ่น ประเด็นคือต้องมีการนำเสนอปัญหา นำเสนอวิธีแก้ไข เหล่านี้เป็นเรื่องที่สื่อสนใจ และต้องสร้างกระบวนการที่จะสื่อสารออกไปอย่างต่อเนื่อง”
นายสุรชา บุญเปี่ยม ผู้สื่อข่าวอาวุโส กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่คล้ายคลึงของสื่อทุกประเภท คือ มักถูกแทรกแซงจากคนนอก เช่น นักการเมืองหรือนายทุน ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางข่าว เช่น การทำงานของสื่อโทรทัศน์ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจเนื้อหาเรื่องราวภาคประชาชนมากนัก ละเลยข้อเท็จจริงจากปากชาวบ้าน
“แต่ปัจจุบันพื้นที่เปิด การเข้าถึงสื่อมีมากขึ้น นโยบายสถานีบางช่องเปลี่ยนไป ความสนใจของนักข่าวเปลี่ยนไป ข่าวที่เกิดจากภาคประชาชนจึงมีมากขึ้น สื่อกระแสหลัก ตอนนี้มีช่องทางเปิดรับข่าวจากชุมชนอยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจะทำอย่างไรให้เข้าไปถึงตรงนั้นได้”
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาการสื่อสารเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ต้องขับเคลื่อนไปทั้งชุมชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้นำ จึงจะมีพลังมากพอที่จะส่งไปถึงภายนอก โดยอาศัยพื้นที่สื่อต่างๆ ที่ปัจจุบันเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อกระแสหลักเสมอไป
“วันนี้เรามีวิทยุจำนวนมาก โดยเฉพาะวิทยุชุมชน ซึ่งมีข้อดีคือใกล้ชิดผู้ฟัง เข้าถึงง่ายและค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นอีกช่องทางนอกจากสื่อกระแสหลักที่ชุมชนสามารถสื่อเรื่องราวหรือปัญหาออกไปข้างนอก แต่เน้นว่าให้รวมกันทำ จึงจะได้ผลดี”
ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาวิทยุชุมชนปัจจุบันว่า ขณะนี้กำลังอ่อนแรง แม้จะเกิดขึ้นมากกว่า 6,500 คลื่นทั่วประเทศ แต่ที่ดำเนินการแล้วมีประสิทธิภาพแท้จริงคือเป็นสื่อเพื่อชุมชนนั้นค่อนข้างน้อย เพราะสิ่งยั่วยุภายนอกที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นทุนหรืออำนาจ
ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ประธานโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาการสื่อสารของชุมชนให้มีประสิทธิภาพว่า ลำดับแรกต้องมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับองค์กรเครือข่าย ต่อมาคือเนื้อหาต้องน่าสนใจมากพอเพื่อให้ผู้มีอำนาจแปลงปัญหาไปเป็นนโยบายสาธารณะและสะท้อนกลับมาสู่การพัฒนาในท้องถิ่น สุดท้ายคือต้องปรับโครงสร้างชุมชนให้เอื้อต่อการพัฒนาการสื่อสาร อาจจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฝึกทักษะการสื่อสารให้ชาวบ้านก่อนสื่อไปสู่ภายนอก.
ภาพประกอบจาก : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน