ถอดบทเรียน 'วัยแสบสาแหรกขาด' ละครสะท้อนสังคม
"เราพบว่า เด็กไทยจะมีภาวะแบบวีหนึ่งเยอะ นี่คือสิ่งที่เราเจอเสียงสะท้อนกลับมาจากละคร ตอนแรกคิดว่า เคสเด็กติดเกม กับหลากหลายทางเพศจะเยอะในสังคมไทย ปรากฎว่า พอละครออนแอร์ เคสของวีหนึ่งเป็นคลื่นใต้น้ำ อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ "
"Thai Media Fund Talk : สร้างสื่อให้ปัง เด่น ดัง โดน" เวทีเสวนาถอดบทเรียนจากละครดัง "วัยแสบสาแหรกขาด" จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้จัดละคร นักวิชาการด้านสื่อ พร้อมนักแสดงจากละคร มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ละครโทรทัศน์ นับเป็นสื่อบันเทิงประเภทหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมาก เข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง ตอนจบของละคร บางครั้งถึงกับทำให้ถนนโล่ง เพราะผู้คนกลับไปลุ้นว่า ตอนจบจะเป็นอย่างไร" นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน และว่า ในแง่ของละคร มีบทบาทสำคัญในการสนองและสะท้อนความเป็นไปของสังคมว่า บ้านนี้เมืองนี้ สภาพการณ์ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง และมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจ แง่มุม แง่คิดต่างๆ อีกทั้ง ผู้คนวันนี้ไม่ต้องรอชมหน้าจอเพียงอย่างเดียวแล้ว สามารถรับชมได้ทุกทีทุกเวลา ได้หลายแพลตฟอร์มทั้งสดและย้อนหลัง
ละครวัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2 นับเป็นหนึ่งในละครที่ถูกกล่าวขวัญกันค่อนข้างมาก เวลานี้
นายวสันต์ กล่าวว่า กองทุนฯ จึงอยากหนุนเสริมคนทำงานด้านนี้ให้หันมาสร้างงานที่สร้างสรรค์ มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อผู้รับชม รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า การผลิตละครสร้างสรรค์สามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งแง่ผู้รับชม และธุรกิจ
สำหรับผู้เขียนบทละคร วัยแสบฯ "ณัฐิยา ศิรกรวิไล" เล่าถึงกว่าจะได้เรื่องที่เข้ากับความสนใจของตัวเอง เริ่มจากการเดินทางไปสหรัฐฯ ได้พบกับคนไทยคนหนึ่งมีอาชีพเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และเด็กคนนั้นต้องเข้าคอร์ส banana split กับนักจิตวิทยา
"เราก็สนใจ banana split คืออะไร ก็พบว่า เป็นการสนทนากับเด็กที่อยู่ในครอบครัวหย่าร้าง พ่อแม่แยกทางกัน ต้องเข้าคอร์สนี้ ...เราก็เก็บไว้ในใจ"
จากนั้นก็ได้พบเพื่อนที่แคนนาดา ทำอาชีพเป็นที่ปรึกษาเด็กในโรงเรียนแห่งหนึ่งในแคนนาดา โดยทำงานคู่กับครูประจำโรงเรียน
เมื่อกลับมาประเทศไทย เธอได้ดูรายการหนึ่งพูดถึงสถิติการหย่าร้างของบ้านเราสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งได้สังเกตคนรอบข้าง แต่งงานแล้วเลิกรากันเยอะมาก
"นี่คือแนวเรื่องที่เราอยากทำ บวกกับ banana split ปัญหาการหย่าร้างในประเทศไทย และอาชีพนักจิตวิทยา จึงกลายเป็นวัยแสบสาแหรกขาด"
ณัฐิยา กล่าวต่อถึงขั้นตอนหลังจากคิดเรื่องแล้ว ต่อไปคือการขายละครวัยแสบฯ เราขายความเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ประกอบกับช่องกำลังต้องการละครครอบครัว จากนั้นจึงลงมือค้นหาข้อมูล (research)โดยภาค 2 ได้ติดต่อกับนักจิตวิทยามาเป็นที่ปรึกษาจำนวนมาก
ส่วนการหยิบประเด็น LGBT (กลุ่มเพศทางเลือก) เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องเพศที่มีความหลากหลายและทับซ้อนกันอยู่ในยุคปัจจุบัน มาเล่าในละครนั้น ผู้เขียนบท บอกว่า ในแคนนาดากำลังเป็นประเด็นที่ใหญ่มากในวงการศึกษา มีการอนุมัติงบพิเศษขึ้นมาสำหรับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากมีการทำวิจัยออกมาแล้วว่า เด็กกลุ่มนี้จะถูก “กลั่นแกล้ง” (Bully)มากสุดในปัจจุบัน มีการจัดอบรม ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่การสร้างความเข้าใจอย่างเดียว แต่คือการยอมรับตัวเอง ครอบครัวยอมรับ และสังคมยอมรับในที่สุด
"เสียดายสิ่งที่ไม่ได้ใส่ไปในละคร คือ เมื่อเด็ก LGBT โดนแกล้ง คนรอบข้างจริงๆ แล้วมีส่วนที่ทำให้ยุติการโดนกลั้นแกล้งได้ แคนนาดาพยายามสร้างจิตสำนึกของสังคมตรงจุดนี้ด้วย"
กรณีของเด็กติดเกม หรือ เกมเมอร์ เธอบอกว่า มีนายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดและอ่านบท แก้บทอย่างละเอียด ทำให้ผู้ชมเข้าใจเกมเมอร์ คนรอบข้างเข้าใจ ไม่มีใครต่อต้านเกมเมอร์
อีกตัวละคร คือ วีหนึ่ง กับพฤติกรรม Perfectionism ที่ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างหนัก ครอบครัวมองไม่เห็นถึงปัญหาและไม่ให้ความร่วมมือ ธอบอกว่า ชุดข้อมูลเคสนี้ยากมาก เพราะต้องมีทุกมิติ มิติของเด็ก ครอบครัว วงการการศึกษา และสังคม โดยเฉพาะฉากการบำบัด มีความละเอียด ลึกทุกขั้นตอน
"เราพบว่า เด็กไทยจะมีภาวะแบบวีหนึ่งเยอะ นี่คือสิ่งที่เราเจอเสียงสะท้อนกลับมาจากละคร ตอนแรกคิดว่า เคสเด็กติดเกม กับหลากหลายทางเพศจะเยอะในสังคมไทย ปรากฎว่า พอละครออนแอร์ เคสของวีหนึ่งเป็นคลื่นใต้น้ำ อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ "
5 เคส ที่สุดหิน ผู้เขียนบท ยกให้กับเคสของ "ใบพัด" ความยากอยู่ที่ชุดข้อมูลเด็กออทิสติกในประเทศไทยหลากหลาย และค่อนข้างแตกกระจายออกไป สัมภาษณ์เยอะมาก มีทั้งตรงและไม่ตรงกัน เราจึงหาข้อมูลใหม่ โดยการสัมภาษณ์ผู้ปกครองเด็กออทิสติกจริงๆ
"ออทิสติกที่เรารู้คือ เด็กไม่มีใครซ้ำกัน ฉะนั้นเคสจริงสำคัญมาก เราได้ที่ปรึกษาเป็นพ่อแม่เด็กออทิสติกจริงๆ ฉะนั้นเมื่อละครฉายออกไป สังคมก็เกิดความเข้าใจ เห็นมุมมองเด็กออทิสติกที่แตกต่างกันออกไป"
สุดท้าย "เอิน"- นิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละครรุ่นใหม่ของทางช่อง 3 ให้ข้อมูลถึงกลุ่มคนดูละครวัยแสบฯ ที่ได้เพิ่มขึ้นมา คือกลุ่มคนไม่ดูละคร เช่น ครู อาจารย์ หมอ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ค้นหาคำตอบ วัยแสบฯ เป็นละครให้ใครดู ให้เด็กดูหรือเปล่า เราคุยกันตั้งแต่แรก อยากให้ผู้ใหญ่ดู อยากให้พ่อแม่ดูเพื่อให้เข้าใจลูกๆ ลูกได้เข้าใจพ่อแม่ ครูได้เข้าในนักเรียน
พร้อมยืนยันทิ้งท้าย ละครดีๆ การบอกปากต่อปาก มีกระแส มีผู้สนับสนุน หากขายให้ถูกจุด เชื่อว่า มีโฆษณาเข้ามาแน่นอน ...
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/