เอสซีจี เข้าถือหุ้นใหญ่ใน Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย
เอสซีจี เดินหน้าตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ลงทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. หนึ่งในผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย พร้อมรองรับตลาดที่มีประชากรสูงถึง 270 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาส การเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในอนาคต
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า "เอสซีจี" ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว (Long-term Growth) ด้วยการขยายฐานการลงทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้เข้าลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนร้อยละ 55 ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (หรือ “Fajar”) ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย จากผู้ถือหุ้นปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.6 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,150 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า จะดำเนินธุรกรรมแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยใช้แหล่งเงินทุนจากภายใน นอกจากนี้ เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งในอนาคต เอสซีจีอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นี้
นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “การเข้าถือหุ้นข้างมากใน Fajar จะช่วยขยายการเติบโตของเอสซีจีในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งธุรกิจแพคเกจจิ้งมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยหากพิจารณาจากจำนวนประชากร 270 ล้านคน และอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อคนของอินโดนีเซียแล้ว ศักยภาพการเติบโตของตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่รุนแรงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีขีดความสามารถสูง และมีศักยภาพในการขยายธุรกิจครอบคลุมอาเซียน โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก โดยมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเป็นผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Total Packaging Solutions Provider) รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า บริการ และกระบวนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการใช้งานของผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางของเอสซีจี หรือ SCG Circular Way
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท ขณะที่ Fajar ในปี 2561 มียอดขายกระดาษบรรจุภัณฑ์รวม 1.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9.94 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 21,900 ล้านบาท) และมีกำไรสำหรับปีประมาณ 1.41 ล้านล้านรูเปีย (ประมาณ 3,100 ล้านบาท)