เปิดคำพิพากษาคดีเสี่ยเบนซ์ชน 2 นศ.ป.โทดับ-ศาลฯ ชี้ไม่ให้ตรวจสารเสพติดเท่ากับเสพ!
"....เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานขับรถด้วยอัตราเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมเป็นอันยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามฟ้อง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้...."
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีอาญา หมายเลขคดีดำที่ อ.1528/2559 ดีหมายเลขแดงที่ อ.2443/2560 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นโจทก์ นายเจนภพ วีรพร จำเลย ที่ขับรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด เป็นเหตุให้ นายกฤษณะ ถาวร และนางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย นิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถูกไฟคลอกเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน และไม่รอลงอาญา โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เพิ่มโทษจำคุกจำเลย และในวันที่ 8 พ.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เพิ่มโทษตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานเสพแอมเฟตามีนขับรถเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ด้วยการลงโทษจำคุก 6 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้บางส่วน เหลือลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และไม่รอลงอาญา (อ้างอิงข่าวจากผู้จัดการ : จำคุก 4 ปี ขับเบนซ์ชนฟอร์ดทำ 2 นศ.ปริญญาโทดับ)
ขณะที่ นายวิเชียร ชุบไธสง ทนายความของครอบครัวผู้เสียหาย เปิดเผยว่า คดีนี้นับเป็นมาตรฐานใหม่ของการตัดสินคดีในศาล เนื่องจากนายเจนภพ ปฏิเสธที่จะตรวจสารเสพติดหลังเกิดเหตุ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาตามแนวทางของกฎหมาย ซึ่งระบุว่าหากผู้ต้องหาปฏิเสธที่จะตรวจสารเสพติดให้พิจารณาว่าผู้ต้องหาคนนั้นเสพสารเสพติดมาก่อน คดีนี้ศาลจึงพิพากษาว่า ผู้ต้องหามีความผิดฐานเสพสารเสพติด ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-10 ปี ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษหนักกว่าข้อหาเดิม ที่ศาลชั้นต้นตัดสิน คือข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (อ้างอิงข่าวจากไทยพีบีเอส : ศาลอุทธรณ์จำคุก 6 ปี เสี่ยเบนซ์ชนนักศึกษา ป.โท เสียชีวิต)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายละเอียดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีดังกล่าว มานำเสนอ ณ ที่นี้
.................
คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีหมายเลขดำที่ อ.237/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1329/2562 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2562
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์
นายไพบูลย์ ถาวร โจทก์ร่วมที่ 1 นางทองทิพย์ ถาวร โจทก์ร่วมที่ 2 นายทิวากร ฮ้อแสงชัย โจทก์ร่วมที่ 3 นางกมลรัตน์ ศิลาเจริญธนกิจหรือฮ้อแสงชัย โจทก์ร่วมที่ 4
นางสาวกมลรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ผู้ร้อง
และ นายเจนภพ วีรพร จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อ พ.ร.บ. จราจรทางบก ลหุโทษ
โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 และจำเลย อุทธรณ์ คำพิพากษา ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงวันที่ 19 ก.ค. 2560
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวันที่ 1 ก.พ. 2562
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ฉบับที่ 41006330 ของนายทะเบียนจังหวัดกรุงเทพฯ กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน คือ
1.1 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559 เวลากลางวัน จำเลยขับรถนั่งส่วนบุคคล ทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางพิเศษพระราม 4 ผ่านช่องชำระเงินอัตโนมัติของด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระราม 4 ที่ 2 แล้วขับเข้ามาในทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง 1 ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางอนุสรณ์สถาน 1/2 (ขาออก) จากนั้นขับต่อไปตามถนนพหลโยธิน (ฝั่งขาออก) จนถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 52+400 ม.8 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น และเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และได้รับประทานยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า ยาคลายเครียด ยาคลายกังวล ซึ่งมีสารโคลนาซีแพมและโปรมาซีแพม (ที่ถูก โบรมาซีแพม) อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ที่มีผลทำให้เกิดการมึนเมาและหย่อนความสามารถในการขับรถ เป็นการกระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นผู้ขับรถเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และขับรถในขณะหย่อนความสามารถที่จะขับ
1.2 ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยขับรถยนต์ดังกล่าวผ่านช่องชำระเงินอัตโนมัติของด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระราม 4 ที่ 2 โดยไม่ชะลอความเร็วและชนไม้กั้นรถในช่องชำระเงินฯ ดังกล่าว แล้วขับเข้ามาในโทลล์เวย์ ถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง 1 ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 115 กม./ชม. และขับผ่านช่องชำระเงินสดของด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง 1 โดยไม่ชำระค่าผ่านทาง และแล่นต่อไปถึงด่านเก็บค่าผ่านทางอนุสรณ์สถาน 1/2 (ขาออก) ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 177 กม./ชม. หลังจากนั้นขับจากโทลล์เวย์ไปตามถนนพหลโยธิน (ฝั่งขาแก) ผ่านบริเวณหลักกิโลเมตร ที่ 48+900 ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 100 กม./ชม. ผ่านบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 51+400 ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 107 กม./ชม. จนมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 52+400 ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 215-257 กม./ชม. ซึ่งเป็นการขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดฐานขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น
1.3 ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ขับรถด้วยความประมาท กล่าวคือ เมื่อขับรถมาถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งแบ่งช่องทางเดินรถด่วนกับทางเดินรถคู่ขนาน โดยช่องทางเดินรถด่วน 3 ช่อง ส่วนช่องทางเดินรถคู่ขนาน 2 ช่อง เพื่อให้รถแล่นไปในทิศทางเดียวกัน จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงประมาณ 215-257 กม./ชม. แล่นไปในช่องทางเดินรถด่วน ช่องที่ 1 นับจากซ้าย ซึ่งขณะนั้น นายกฤษณะ ถาวร ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน ฆย 6911 กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย นั่งโดยสารมาในที่นั่งข้างคนขับ แล่นอยู่ด้านหน้ารถคันที่จำเลยขับ ในช่องทางเดินรถด่วน ช่องที่ 1 นับจากซ้ายในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในภาวการณ์เช่นนี้จำเลยต้องใช้ความระมัดระวัง โดยจะต้องชะลอความเร็วลง แต่จำเลยยังคงขับรถไปด้วยความเร็วประมาณ 215-257 กม./ชม. ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้อื่น และโดยเหตุที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงมาก รวมกับเหตุจากการที่ขับในขณะมึนเมาหย่อนความสามารถที่จะขับ เนื่องมาจากการดื่มสุรา เสพยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังกล่าว จำเลยจึงไม่สามารถควบคุมรถให้หยุดหรือหลบหลีกไม่ให้ชนรถที่ขับอยู่ด้านหน้าได้ทัน ทำให้รถของจำเลยขับพุ่งชนท้ายรถคันที่นายกฤษณะขับ จนรถที่นายกฤษณะขับพลิกคว่ำไถลไปตามพื้นถนนห่างจากจุชนประมาณ 230 ม. และเกิดไฟลุกไหม้ได้รับความเสียหายหนักทั้งคัน เป็นเหตุให้ นายกฤษณะ และ นางสาวธันฐภัทร์ ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ
1.4 ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงได้มีคำสั่งให้มีการทดสอบจำเลย ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ ว่า ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับรถหรือในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าว แต่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ไม่ยอมให้ทดสอบ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) มาตรา 142 พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ให้สันนิษฐานก่อนว่าจำเลยได้ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
1.5 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 เวลากลางวัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระอินทร์ราชา ซึ่งมีอำนาจจัดให้มีการตรวจสอบว่าผู้ขับขี่ได้เสพหรือรับเมทแอมเฟตามีนเข้าสู่ร่างกายหรือไม่ ตามที่อธิบดีกำหนดในข้อกำหนด เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ มีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยได้ขับรถในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อยู่ในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงเดิน 3 ปี และพนักงานสอบสวนฯ ได้ให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายของจำเลย และจำเลยทราบคำสั่งแล้ว แต่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม ไม่ย่อมให้แพทย์ตรวจโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถขณะมีสารเมทแอมเฟตามีน อยู่ในร่างกาย อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะเป็นผลเสียต่อจำเลยหากได้มีการพิสูจน์แล้ว
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48, 49, 91, 291, 368 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 43 ทวิ, 67, 142, 152, 154, 157, 157/1, 160, 160 ตรี เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย และกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48, 49
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาขับรถโดยประมาท อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำโดยประมาทเห็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามฟ้องข้อ 1.3 ส่วนการฟ้องอื่นตามฟ้องข้อ 1.3 และข้อหาอื่นตามฟ้องข้ออื่นๆ ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพข้อหาขับรถด้วยอัตราเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้อื่น ตามฟ้องข้อ 1.2 ส่วนข้อหาอื่นนอกนั้นคงให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายไพบูลย์ ถาวร กับนางทองทิพย์ ถาวร บิดาและมารดาของ นายกฤษณะ ถาวร ผู้ตาย และทิวากร ฮ้อแสงชัย กับนางกมลรัตน์ ศิลาเจิญธนกิจหรือฮ้อแสงชัย บิดาและมารดาของ นางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยเรียกบุคคลทั้งสี่เป็นโจทก์ร่วม
และโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องของให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 19,069,153 บาท และโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 ยื่นคำร้องของให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 41,593,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป
นางสาวกมลรัตน์ วงศ์เกียรติขจร ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับรถยนต์คันที่นายกฤษณะขับ เป็นเงิน 356,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าเสียหายของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 รวมกันไม่กิน 410,000 บาท ค่าเสียหายของโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 รวมกันไม่เกิน 400,000 บาท บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยขับได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 1,165,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 เป็นเงิน 1,000,000 บาท
โจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 ไม่ได้ยื่นคำร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุคดีขาดอายุความ และโจทก์ทั้งสี่ไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อ ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสี่ แต่จำเลยไม่ให้การแก้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทผู้รับเอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยขับได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 1,165,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท นอกจากนี้ จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแมนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 1 เป็นเงิน 7,000,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 เป็นเงิน 8,000,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอีกต่อไป และถอนคำร้องดังกล่าว
ส่วนผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง อ้างว่าจะไปดำเนินการใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องทางแพ่งของโจทก์ร่วมทั้งสี่ และของผู้ร้องออกจากสารบบความ หลังจากนั้น จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 150,000 บาท โดยผู้ร้องไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายแก่จำเลยอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) (8), 67 วรรคหนึ่ง, 152, 157, 160 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ฉบับที่ 41006330 ของจำเลย ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ฐานขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน และฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้ทดสอบว่าขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
โจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 11 น. จำเลยขับรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ หมายเลขทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานคร ผ่านช่องทางชำระเงินอัตโนมัติของด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษพระราม 4 ที่ 2 โดยไม่หยุดหรือชะลอความเร็ว จำเลยยื่นกล่องอีซี่พาสออกมานอกรถแต่เครื่องไม่อ่านและไม้กั้นไม่เปิด จึงชนไม้กั้นผ่านด่านแล้วแล่นไปจนผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางดินแดง 1 ขึ้นทางยกระดับดอนเมือง หรือทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ไปผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางอนุสรณ์สถาน 1/2 (ขาออก) ด้วยความเร็ว 115-177 กม./ชม. แล้วลงถนนพหลโยธิน (ขาออก) ผ่านหลักกิโลเมตรที่ 48+900 จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 51+400 ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 100-107 กม./ชม. จนกระทั่งมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 52+400 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 215-257 กม./ชม. รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 52.1 กม. อันเป็นการขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ตามหนังสือขอตรวจสอบข้อมูลเพื่อประกอบคดีจราจรทางบกพร้อมภาพถ่ายป้ายจำกัดความเร็ว เอกสารหมาย จ.53 และเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น
ขณะนั้นบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งแบ่งทางเดินรถเป็นช่องทางเดินรถด่วน 3 ช่อง ช่องทางเดินรถคู่ขนาน 2 ช่อง เพื่อให้รถแล่นไปในทิศทางเดีวกัน นายกฤษณะ ถาวร ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน ฆย 6911 กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย นั่งโดยสารมาข้างคนขับ แล่นอยู่หน้ารถยนต์คันที่จำเลยขับ ในช่องทางเดินรถด่วนที่ 1 นับจากซ้ายในทิศทางเดียวกัน จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 215-257 กม./ชม. จึงไม่สามารถควบคุมให้หยุดหรือหลบหลีกไม่ให้ชนได้ ทำให้รถคันที่จำเลยขับพุ่งชนท้ายรถยนต์คันที่นายกฤษณะขับอย่างแรง จนพลิกคว่ำไถลไปตามพื้นถนนและหยุดอยู่ห่างจากจุดชนประมาณ 230 ม. เกิดไฟลุกไหม้ได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งคัน ทำให้นายกฤษณะและนางสาวธันฐภัทร์ซึ่งติดอยู่ภายในรถถูกไฟไหม้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ อันเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยตามรายงานการสืบสวนคดี
หลังเกิดเหตุจำเลยได้รับการช่วยเหลือพาไปรักษาเบื้องต้นที่ โรงพยาบาลบางปะอิน พ.ต.ท.สมศักดิ์ พลพันขาง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระอินทร์ราชา ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบยารักษาโรคของจำเลยหลายขนานภายในรถที่จำเลยขับ เมื่อติดตามไปสอบถามจำเลยที่ห้องฉุกเฉิน จำเลยมีอาการเหม่อลอยไม่ค่อยยอมตอบคำถาม จนต้องให้ นายอดิศร จันทร์เป้า พนักงานเปลของโรงพยาบาลฯ เป็นคนถามแทน จึงยอมตอบในลักษณะถามคำตอบคำ และไม่ได้เจาะเลือดจำเลยที่โรงพยาบาลบางปะอินเพื่อทดสอบหรือตรวจพิสูจน์
ในวันเดียวกันนั้นจำเลยไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ด้วยอาการปวดบวมที่เข่าขวาเพื่อผ่าตัดโดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูก ครั้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2559 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ โดยมี พ.ต.อ.สุรินทร์ ทับพันบุบผา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
ต่อมาระหว่างวันที่ 20-31 มี.ค. 2559 ขณะจำเลยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช พนักงานสอบสวนขอให้ทางโรงพยาบาลฯ ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด ของเหลว เนื้อเยื่อ หรือส่วนประกอบในร่างกายจำเลยหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอมในการตรวจเก็บ รวมทั้งคัดค้านการส่งมอบตัวอย่างเลือดจำเลยที่ตรวจเก็บไว้แล้วให้แก่พนักงานสอบสวน อีกทั้ง โรงพยาบาลสมิติเวชอ้างว่า ขณะที่พนักงานสอบสวนขอให้ส่งมอบเลือดที่ตรวจเก็บในวันเกิดเหตุก็ล่วงเลยระยะเวลาที่ต้องจัดเก็บตามระเบียบของโรงพยาบาลฯ แล้ว คงมีแต่เฉพาะการตรวจเก็บตัวอย่างเลือดจำเลย ในวันที่ 28 มี.ค. 2559 ที่จำเลยยินยอมให้ตรวจพิสูจน์หาแอลกอฮอล์ ของมึนเมา หรือสารเสพติด โดย บริษัท เอ็นเฮลท์ จำกัด อันเป็นบริษัทในเครือเดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวช แล้วแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่า ไม่พบแต่อย่างใด
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 พนักงานสอบสวนให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ดำเนินการตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เส้นผม หรือสารประกอบในร่างกายจำเลย เพื่อนำไปพิสูจน์ดังกล่าวด้วย แต่จำเลยก็ไม่ให้ความยินยอมจึงไม่อาจตรวจเก็บได้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น และฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้ทดสอบว่าขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามฟ้องหรือไม่
โดยที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ ในเรื่องที่ พ.ต.ท.สมศักดิ์ ในฐานะพนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้ทดสอบจำเลยโดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจพิสูจน์ สาระสำคัญคือจำเลยยอมให้เจาะเลือดหรือไม่ ศาลชั้นต้นไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย เห็นว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนยึดยารักษาโรคของจำเลยหลายขนานจากภายในรถคันที่จำเลยขับ และจำเลยมีอาการเหม่อลอยไม่ค่อยยอมพูด อันถือได้ว่ามีเหตุควรเชื่อว่าจำเลยขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
พ.ต.ท.สมศักดิ์ มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบจำเลยว่าขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอื่นหรือไม่ หากจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอื่น ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 142 วรรคสอง และวรรคสี่ ดังที่โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 1.4
แต่การทดสอบดังกล่าว มาตรา 142 วรรคท้าย บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งคือกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้ทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่โดยวิธีการตามลำดับต่อไปนี้ (1) ตรวจวัดลมหายใจด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหรือทดสอบ (2) ตรวจจากปัสสาวะ (3) ตรวจวัดจากเลือก
การตรวจตาม (2) (3) ให้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบตาม (1) ได้เท่านั้น
ดังนั้น พ.ต.ท.สมศักดิ์ ต้องทดสอบโดยวิธีการตามลำดับในกฎกระทรวง ด้วยวิธีการตรวจวัดลมหายใจโดยวิธีเป่าเป็นลำดับแรก ถ้าไม่สามรถทดสอบด้วยวิธีการนี้ได้เท่านั้นจึงทดสอบโดยวิธีการตรวจวัดจากปัสสาวะหรือจากเลือดเป็นลำดับต่อไป
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ ว่า พ.ต.ท.สมศักดิ์ ไม่ได้ทดสอบโดยวิธีการตามลำดับในกฎกระทรวง คือตรวจจากลมหายใจเป็นลำดับแรก แต่ใช้วิธีการตรวจวัดจากเลือดเป็นลำดับแรก ที่ พ.ต.ท.สมศักดิ์ อ้างว่า จำเลยอยู่ในอาการป่วยไม่สามารถตรวจวัดลมหายใจได้นั้น เป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ ไม่มีความเห็นของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหรือหลักวิชาการใดๆ สนับสนุน
อีกทั้ง ในขณะนั้นจำเลยยังสามารถพูดคุยหายใจได้เองตามปกติ ก็น่าจะเป่าลมหายใจเพื่อทดสอบเป็นลำดับแรกได้ ข้ออ้างของ พ.ต.ท.สมศักดิ์ จึงฟังไม่ได้
ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่า พ.ต.ท.สมศักดิ์ มีคำสั่งให้ทดสอบจำเลยโดยการตรวจวัดจากเลือดและจำเลยไม่ยอมดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่เมื่อการตรวจโดยวิธีการดังกล่าวของ พ.ต.ท.สมศักดิ์ ไม่ถูกต้องตามลำดับที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควร และกรณีไม่อาจสันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่าจำเลยขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 142 วรรคสอง และวรรคสี่
อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่แสดงให้เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ และฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธรวมทั้งนำสืบปฏิเสธในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่เท่าที่นำมา ยังไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะหย่อยความสามรถในอันที่จะขับ และฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้ทดสอบว่าขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 142 วรรคสอง, 154 (3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า การสอบสวนจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดฐานนี้หรือไม่
เห็นว่า การสอบสวนเป็นเพียงการที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยามหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นั้น เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อได้แจ้งการกระทำที่กล่าวหาและแจ้งข้อหาอันเป็นความผิดหลักไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งการกระทำที่กล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดเกี่ยวพันกันอีก พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้
ทั้งนี้ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7888/2549 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย โจทก์ นายประพรรณ์ คำแก่น กับพวก จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2550 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ นายอาทิตย์ ประสาทศรี โจทก์ร่วม นายเทวา ศรีบุญ จำเลย สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติโดยจำเลยไม่คัดค้านว่า พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่า จำเลยได้กระทำความผิดแล้วแจ้งข้อหารวม 4 ครั้ง จำเลยให้การและให้การเพิ่มเติมรวม 7 ครั้ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจพิจารณาเอกสารพบว่า ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2559 พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยในฐานะผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้คือ ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันอื่นทำให้รถยนต์คันที่ถูกชนเกิดไฟลุกไหม้เสียหายทั้งคัน และไฟไหม้คนที่ติดอยู่ในรถ 2 คน ถึงแก่ความตาย แล้วแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยให้การรับสารภาพ โดยมีบิดาร่วมฟังการสอบสวนด้วย จึงเห็นพ้องต้องกันว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้จำเลยในฐานะผู้ต้องหารู้ตัวแล้วว่าจะถูกสอบสวนเรื่องใด โดยเฉพาะการกระทำที่กล่าวหาและข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งดังกล่าวถือเป็นความผิดหลัก
แม้ผลการสอบสวนเพิ่มเติมพบว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและคามเดือดร้อนของผู้อื่น ฐานขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้ทดสอบว่าขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน พนักงานสอบสวนก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งการกระทำที่กล่าวหาและข้อหาในความผิดเหล่านี้ให้จำเลยทราบอีก เพราะเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกันกับความผิดหลักซึ่งแจ้งไปแล้วในครั้งแรก พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดข้อหาเหล่านี้ได้ทุกข้อหา
แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงการกระทำที่กล่าวหาและข้อหาในความผิดที่เกี่ยวกันเหล่านี้เป็นระยะเรื่อยมา โดยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอฟเฟตามีน ซึ่งมีการกระทำของจำเลยในวันที่ 30 มี.ค. 2559 ที่ไม่ยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจเก็บตัวอย่างเลือด เส้นผม หรือส่วนประกอบในร่างกายจำเลย เพื่อพิสูจน์ดังที่โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 1.5 นั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจพิจารณาบันทึกคำให้การเพิ่มเติมของจำเลย ฉบับลงวันที่ 30 มี.ค. 2559 ซึ่งเป็นการสอบคำให้การในวันเดียวกับวันที่จำเลยไม่ยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างดังกล่าว พบว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหา แล้วแจ้งข้อกล่าวหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนผู้อื่น และข้อหาขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อพนักงานสอบสวนถามว่าตามที่พนักงานสอบสวนสั่งให้เจ้าหน้าที่นิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างเส้นผม เส้นขน และเนื้อเยื่อจากตัวจำเลยจะให้การอย่างไร จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ยินยอม เนื่องจากได้ยินยอมให้เจาะเลือดและตรวจพิสูจน์สิ่งมึนเมาและสารเสพติดแล้ว ผลการตรวจก็ไม่มีสิ่งมึนเมาหรือสารเสพติด
ต่อมาในวันที่ 8 เม.ย. 2559 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลยในข้อหาเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมฟาตามีน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามบันทึกข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และบันทึกคำให้การเพิ่มเติมของผู้ต้องหา โดยมิได้แจ้งถึงข้อเท็จจริงในวันที่ 30 มี.ค. 2559 ด้วย
แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยก็ให้การว่า ขณะจำเลยรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช พนักงานสอบสวนมาพบพร้อมกับยื่นหนังสือและแจ้งด้วยวาจาต่อจำเลยขอให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสมิติเวช ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เจาะเลือดจำเลยเพื่อตรวจหาแอลกอลฮอล์ สารมึนเมาอย่างอื่น สารเสพติด (เมทแอมเฟตามีน) และตรวจทางพันธุกรรม แต่จำเลยไม่ยินยอม เนื่องจากจะต้องเจาะเลือดเพื่อเตรียมการผ่าตัดอยู่แล้ว จึงควรรอการเจาะเพียงครั้งเดียว จำเลยกลัวเข็ม หลังจากเจาะเลือดแล้วก็สลบต้องพักฟื้น
หลังจากจากแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวชเจาะเลือดแล้วได้ให้บริษัทในเครือเดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวชเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ จำเลยไม่ยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติเวชวิทยาเจาะเลือดหรือเก็บตัวอย่างเส้นผมหรือส่วนประกอบจากร่างกาย เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานอื่น เลือดที่เหลือจากการพิสูจน์ก็มอบให้ นายเจริญ ทำหนังสือคัดค้านการมอบให้หน่วยงานอื่น เพราะเกรงว่าจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น แสดงว่าจำเลยรู้และเข้าใจได้ถูกต้องตลอดมาถึงการกระทำของตน ในวันที่ 30 มี.ค. 2559 ที่ไม่ยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างดังกล่าวเพื่อตรวจพิสูจน์ อันถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งการกระทำของจำเลย ในวันที่ 30 มี.ค. 2559 ให้จำเลยทราบแล้ว ส่วนที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเอกสารหมายเลข จ.58 แผ่นที่ 4 ก็ปรากฏว่า จำเลยลงชื่อไว้ในช่องผู้ต้องหา และจำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว และที่มีการเติมข้อความ “วันที่ 30 มี.ค. 2559” ในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมายเลข จ.59 แผ่นที่ 10 ด้านหลัง อาจเกิดจากการเขียนวันที่ผิดพลาดจากวันที่ 20 เป็นวันที่ 30 ก็ได้
ในเมื่อการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สอบถาม และบันทึกคำให้การครั้งนี้ จำเลยมีทั้ง นายเจริญ บุคคลที่จำเลยไว้วางใจซึ่งมีอาชัพทนายความ และนายเขมชาติ เธียรพิทยามาศ ทนายความอีกคนหนึ่งร่วมรับฟังการสอบสวนพร้อมทั้งลงชื่อเป็นหลักฐานในบันทึกคำให้การ โดยไม่เคยโต้แย้งความไม่ถูกต้อง อีกทั้งการตกเติมข้องความดังกล่าวก็ไม่ทำให้สาระสำคัญของคำให้การเปลี่ยนแปลงไป การไม่ลงชื่อและการตกเติมข้อความนั้นจึงหาได้เป็นพิรุธดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงการกระทำของจำเลยในวันที่ 30 มี.ค. 2559 ที่ไม่ยินยอมให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างเลือด เส้นผม หรือส่วนประกอบในร่างกาย เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะขับรถหรือไม่ ดังที่โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 1.5 แล้ว การสอบสวนจำเลยในฐานความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจึงชอบด้วยประมวยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การสอบสวนจำเลยในความผิดดังกล่าวไม่ชอบทำให้โจทก์มี่อำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 1
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังยุติดังที่วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 พนักงานสอบสวนให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ และเส้นผมจำเลยเพื่อตรวจพิสูจน์ว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะขับรถหรือไม่ แต่จำเลยไม่ให้ความยินยอม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะได้ส่งผลการตรวจวิเคราะห์เลือดจำเลยของ บริษัทในเครือเดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งไม่พบสารเสพติดแก่พนังงานสอบสวนแล้ว
รวมทั้งจำเลยนำสืบว่า คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน เกรงจะมีการกลั่นแกล้งจึงไม่ยินยอม ประกอบกับได้ความจากคำให้การของ นายสมชาย ผลเอี่ยมเอก อายุ 77 ปี ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางการแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวชของโรงพยาบาลสมิติเวช รวมทั้งเป็นผู้ให้การตรวจรักษาจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2559 แพทย์ประจำโรงพยาบาลสมิติเวชเจาะเลือดจำเลยส่งให้ บริษัท เอ็นเฮลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับโรงพยาบาลสมิติเวชเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ ผลปรากฏว่า ไม่พบแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือสารมึนเมาอย่างอื่น ถ้าจำเลยเสพสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2559 แต่ตรวจหารสารนั้นจากเลือดในวันดังกล่าวจะตรวจไม่พบอย่างแน่นอนเพราะระยะเวลาเนิ่นนานแล้ว แต่ถ้าตรวจจากเส้นผมอาจจะพบได้ เนื่องจาการเสพติดจะไปสะสมอยู่ที่โคนเส้นผม
ตามบันทึกคำให้การและบันทึกคำให้การเพิ่มเติมเอกสารหมายเลข จ.24 เห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนให้ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เก็บตัวอย่างเส้นผมจำเลยในวันที่ 30 มี.ค. 2559 เพื่อพิสูจน์หาเมแอมเฟตามีนนั้น ถือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญเก็บตัวอย่างดังกล่าวได้ การที่จำเลยไม่ยินยอม โดยอ้างว่าผลการตรวจเลือดไม่พบสารเสพติดและเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งโดยไม่มีเหตุผลใดสนับสนุนให้น่าเชื่อถือว่าจะเป็นเช่นนั้น ถือว่าจำเลยไม่ให้ความยินยอมในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงต้องสันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน
อันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 เมื่อฟังประกอบกับจำเลยให้การยอมรับตามบันทึกคำให้การเพิ่มเติมเอกสารหมายเลข จ.59 แผ่นที่ 13 ว่า จำเลยเคยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อน และได้เข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาไว้แล้ว
อีกทั้งจำเลยเพียงแต่นำสืบปฏิเสธโดยมีจำเลยเบิกความลอยๆ ว่า วันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ดื่มสุรา ไม่ได้เสพยาเสพติด จำเลยลืมกระเป๋าสตางค์จึงไม่มีเงินสดที่จะชำระค่าผ่านทางพิเศษ รวมทั้งตอบคำถามค้านโจทก์และตอบคำถามทนายจำเลยได้ความว่า จำเลยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2556 แพทย์ให้ยารับประทานหลายขนาน และต้องปรับยาทุก 2 สัปดาห์ แม้รับประทานยาทั้ง 9 ขนาน ที่แพทย์จ่ายให้ ก็ไม่มีผลต่อการทำงานหรือขับรถยนต์ และแพทย์ไม่เคยห้ามขับรถหลังรับประทานยาดังกล่าว ในวันเกิดเหตุจำเลยก็ไม่ได้รับประทานยานั้น เนื่องจากต้องขับรถทางไกล
และตอบทนายโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 ขออนุญาตศาลถามว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ 6 เดือน จำเลยไม่มีอาการทางจิต มีสติสัมปชัญญะดี พยานหลักฐานจำเลยเท่าที่สืบมาจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมฟาตามีนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกคำอื่นของโจทก์ ซึ่งหมายถึงคำขอให้ศาลใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 หรือมาตรา 49 โดยไม่มีเหตุผล เป็นการไม่ชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอดังกล่าว แต่ไม่ให้เหตุผลในการตัดสินว่ายกด้วยเหตุใด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) ดังที่โจทก์อุทธรณ์ คดีมีเหตุสมควรใช้วิธีการเพื่อความปอดภัยตามคำขอของโจทก์หรทอไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อน
ในปัญหานี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีประวัติติดยาเสพติดให้โทษต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลมาก่อน ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ในขณะเสพเมทแอมเฟตามีน จนชนรถยนต์คันอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2 คน อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยจึงเป็นผู้ที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49
ทั้งยังได้ความว่า จำเลยต้องรับการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตด้วย คดีย่อมมีเหตุสมควรใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย โดยกำหนดว่า จำเลยจะต้องไม่เสพสุราและยาเสพติดให้โทษ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในคำพิพากษาตามมาตรา 49 ซึ่งกรณีของจำเลยไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 จึงต้องยกคำขอของโจทก์ ตามมาตรา 48 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเช่นกัน
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ได้ขับรถด้วยความเร็วมากตามฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานขับรถด้วยอัตราเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมเป็นอันยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามฟ้อง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบา โดยรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ รวมทั้งไม่เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย กับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 ที่ขอให้เพิ่มโทษของจำเลยและไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่เสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถย่อมทำให้จิตประสาทของจำเลยผิดปกติ โดยเฉพาะจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 52.1 กม. อันเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือนร้อนของผู้อื่น การที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วเฉลี่ย 215-257 กม./ชม. จนพุ่งชนท้ายรถคันที่นายกฤษณะขับอย่างแรง ทำให้รถที่นายกฤษณะขับพลิกคว่ำไถลไปตามพื้นถนนห่างจากจุดชนประมาณ 230 ม. เกิดไฟลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งคัน และไฟไหม้นายกฤษณะและนางสาวธันฐภัทร์ซึ่งติดอยู่ในรถถึงแก่ความตายทั้ง 2 คน ในที่เกิดเหตุ
สภาพความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุแทนที่จำเลยจะสำนึกผิด ยอมรับในสิ่งที่กระทำความผิดของตน กลับบ่ายเบี่ยงต่อการพิสูจน์หาสาเหตุที่แท้จริงในการขับรถอย่างผิดปกติของบุคคลทั่วไป พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง
ส่วนที่จำเลยอุทธร์ว่า นายกฤษณะไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ ก่อนเกิดเหตุนายกฤษณะเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาพร้อมเบี่ยงรถไปทางขวาแต่แล้วก็กลับมาทางเดิม ทำให้จำเลยเข้าใจผิดขับไปทางซ้ายจนชนท้ายรถยนต์ที่นายกฤษณะขับ อันถือว่านายกฤษณะมีส่วนประมาทด้วยนั้น เห็นว่า นายกฤษณะขับรถไปตามปกติในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดของทางด่วนและถูกต้องตามกฎจราจร การที่นายกฤษณะเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาก็น่าเชื่อว่า เพราะกลัวจะถูกรถยนต์คันที่จำเลยขับตามหลังมาชน ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดูให้ปลอดภัยก่อนที่จะขับต่อไป แต่จำเลยไม่กระทำ จนพุ่งชนท้ายรถคันที่นายกฤษณะขับ เหตุที่รถชนกันจึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว
และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า รถคันที่นายกฤษณะขับใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงอันเป็นสาเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้นั้น เห็นว่า เหตุไฟลุกไหม้ที่เกิดขึ้น เป็นผลโดยตรงจากการถูกจำเลยขับรถชนอย่างแรง หาใช่เพราะใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงไม่ ที่จำเลยอ้างสองเหตุนี้ เพื่อให้สภาพความผิดเบาลง จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า บิดามารดาจำเลยไปร่วมงานศพและร่วมทำบุญทั้ง 2 ศพ จำเลยช่วยติดตามให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายผู้ตายทั้งสอง และจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว เห็นว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสี่ ในฐานะทำละเมิดจามกฎหมายอยู่แล้ว แม้โจทก์ร่วมทั้งสี่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายจำเลยจนเป็นที่พอใจ รวมทั้งโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ศาลสามารถนำมาใช้เพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ทันที
ดังนั้น เมื่อคำนึงสภาพความผิด พฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยจบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ ประกอบการงานเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทต่างๆ และมีคุณงานความดีในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนแล้ว เห็นว่า คดียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ คงมีเพียงเหตุที่จะลงโทษจำเลยให้เบาลงได้บ้างเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคท้าย ซึงต้องระวงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และการกระทำความผิดฐานนี้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาท
เมื่อการกระทำทั้งหมดของจำเลยเกี่ยวเนื่องกัน และเป็นผลโดยตรงให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รูปคดีมีเหตุสมควรต้องลงโทษหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษมา อีกทั้งไม่อาจลดโทษให้จำเลยถึงกึ่งหนึ่ง ดังที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้ เพราะจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพในฐานความผิดที่ต้องลงโทษ
นอกจากนี้ ศาลต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่อาจใช้ดุลยพินิจอื่นได้ และการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนตามที่เห็นสมควร ดังเช่นการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ฝ่าฝืน มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 157/1 วรรคสองถึงวรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 4 ฟังขึ้น แต่อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็น จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคท้าย
อีกบทหนึ่งด้วยการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี
คำให้การและการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
ห้ามจำเลยเสพสุราและยาเสพติดให้โทษภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบจาก : กรมการขนส่งทางบก