นพ.อดิศักดิ์ ชี้รถหัดเดินมีล้อ สินค้าอันตรายสำหรับทารก พบยังวางขายเกลื่อน
ต่างประเทศมีกฎหมายห้ามขายแล้ว รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุหลักฐานการวิจัยชี้ชัด รถหัดเดินจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์น้อย ไม่ช่วยการเดิน มีอันตรายมาก เลี่ยงไม่ได้ให้เลือกใช้ชนิดที่ไม่มีลูกล้อ
วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวกรณี ” เด็กเสียชีวิตจากรถหัดเดิน” ณ ชั้น 6 ห้อง safety hunter สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบ ม.มหิดล ศาลายา โดยเปิดเผยว่า
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการตายของทารกจากการใช้รถลูกล้อที่เรียกกันติดปากจากความเข้าใจผิดของพ่อแม่ว่า “รถหัดเดิน” ถึงสองรายจากการจมน้ำ และ ถูกรถชน อีกหนึ่งรายบาดเจ็บหนักแต่ไม่เสียชีวิตจากการถูกสุนัขรุมกัด ในความเป็นจริงยังมีการบาดเจ็บอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าวจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทารกประเภทนี้
"รถพยุงตัวหรือเดิมเรียกรถหัดเดินเป็นอุปกรณ์ที่ยังคงวางขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก พ่อแม่ในสังคมไทยมีความเคยชินในการใช้เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดหาให้เด็กเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 เดือน การศึกษาพบว่า พ่อแม่หาซื้อให้เด็กตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 4 เดือน ร้อยละ 50 คิดว่าจะช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น ร้อยละ 40 ให้เหตุผลว่า ใช้เพราะผู้ดูแลไม่ว่าง ต้องทำงานบ้านจึงต้องมีที่ที่วางเด็กไว้โดยไม่ต้องดูแลเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตรงข้ามกับข้อควรปฏิบัติในการใช้ทั้งสิ้น"
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศ ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายห้ามมิให้มีการจำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ในบางรัฐให้มีการจำหน่ายพร้อมคำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ ในบ้านเราปัจจุบัน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เรียกว่า รถพยุงตัวไม่ให้ใช้คำว่า รถหัดเดิน และให้กำกับฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ ให้ผู้ดูแลเด็กรู้ว่าอาจมีอันตราย ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี้ และไม่ช่วย ในการหัดเดิน
"รถหัดเดินทำให้เด็กเดินช้าเพราะเมื่อเด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเด็กเริ่มเดินจริง กลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน ดังนั้นเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินนานหลายชั่วโมงต่อวันเมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้ท่าทางการเดินทรงตัวได้ไม่ดี โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1-3 เดือน" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว และว่า ในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คนพบว่า ร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวฯ กล่าวต่อว่า แต่ที่เป็นผลเสียมากกว่านั้นคืออันตรายจากอุบัติเหตุ จากการวิจัยพบว่าหนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดิน อันตรายที่รุนแรงพบได้จากการตกจากที่สูง การพลิกคว่ำจากพื้นที่มีความต่างระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถหัดเดินในบ้านที่มีหลายชั้นหรือบ้านที่ยกระดับมีใต้ถุนบ้านแล้วมิได้ทำประตูกั้นหน้าบันได หรือทำประตูกั้นแต่เปิดได้สองทิศทางแล้วเกิดลืมใส่ล๊อคไว้ การตกจากที่สูงจะนำไปสู่การบาดเจ็บกระดูกต้นคอ บาดเจ็บศีรษะและเลือดออกในสมองทำให้เสียชีวิตได้
"การบาดเจ็บอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงคือการบาดเจ็บจากการเข้าสู่จุดอันตราย ความเสี่ยงรอบบ้าน เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็ว เกิดการคลาดสายตาจากพ่อแม่ได้ง่าย เด็กจะวิ่งชนโต๊ะที่วางกาน้ำร้อนอยู่ หรือวิ่งไปพร้อมกระชากสายไฟฟ้าของกาต้มน้ำ น้ำร้อนมักจะลวกเป็นพื้นที่กว้างตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงลำตัวและแขนขา จมน้ำแหล่งน้ำในบ้านหรือรอบๆบ้าน เช่นสระว่ายน้ำ บ่อน้ำ หรือเพียงแค่คว่ำในอ่างน้ำ ถังน้ำ กะละมัง เป็นเหตุให้เด็กจมน้ำได้ เคลื่อนออกพื้นที่ถนนทำให้ถูกรถชน สุนัขกัด เพียงเวลาไม่กี่นาทีที่เด็กคว่ำหรือตกลงในภาชนะเก็บกักน้ำทั้งหลายจะนำไปสู่การขาดอากาศและเกิดภาวะสมองตาย ยากเกินกว่าการแพทย์จะช่วยแก้ไขได้"
สำหรับการป้องกันที่ถูกต้อง รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า คือ “งดใช้รถไม่หัดเดินชนิดมีลูกล้อ” เนื่องจากหลักฐานการวิจัยที่ผ่านมาทั้งหมดเชื่อได้ว่ารถหัดเดินจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ “มีประโยชน์น้อย ไม่ช่วยการเดิน แต่มีอันตรายมาก” ไม่คุ้มค่าในการใช้ หรือเลือกใช้ “รถพยุงตัว ที่ไม่มีลูกล้อ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายกัน แต่ไม่มีลูกล้อ
"ทำไมกลไกการตลาด การควบคุมมาตรฐานของใช้เด็กทารก การคุ้มครองผู้บริโภคเด็กทารกจึงยังปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ออกแบบมาไร้ประโยชน์แต่มีอันตรายยังคงมีการซื้อขายกันตามความไม่รู้ของผู้บริโภคได้"
แนะเลือกใช้ “รถพยุงตัว ที่ไม่มีลูกล้อ”
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/