ใช้ 20 พรรคตั้ง รบ.! กางสูตรดัน‘บิ๊กตู่’อยู่ต่อ ภท.-ปชป.ลุ้นแบ่งเค้ก พท.-อนค.ริบหรี่?
“…หากพิจารณาตามสูตรการจัดตั้งรัฐบาลข้างต้นแล้ว เหลืออยู่ 2 แนวทาง คือ ฝ่ายไม่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ ที่มี 245 เสียง ดีล ส.ส. มาให้ได้อีกอย่างน้อย 6 เสียง ได้รวมกัน 251 เสียง มีความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล แต่คงเป็นไปได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ส่วนฝ่ายสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ คาดว่าท้ายที่สุดคงรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยคะแนนรวมจากฝ่าย ‘แทงกั๊ก’ ได้ทั้งหมด 254 เสียง…”
แวดวงการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการ รวมจำนวน 498 ชีวิตที่ได้เข้าไปโลดแล่นในสภา แบ่งเป็น ส.ส.เขต 349 ราย (เต็ม 350 ราย) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 ราย (เต็ม 150 ราย) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘สูตร’ ที่ กกต. นำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้พรรคขนาดเล็ก 11 แห่ง ที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน (ต่ำกว่า 7.1 หมื่นคะแนน) ได้อานิสงค์เข้าสภาด้วย (อ่านประกอบ : ครบทุกชื่อ! 149 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรคเข้าสภา-มี 11 พรรคต่ำ 7.1 หมื่นเข้าวิน!)
ฉากต่อไปที่ต้องรอดูคือ การจัดตั้งรัฐบาลจากกลุ่มขั้ว-พรรคการเมืองต่าง ๆ โดยขณะนี้มีบางพรรค ‘มองข้ามช็อต’ ไปถึงการเจรจาต่อรองตำแหน่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีกันบ้างแล้ว ?
แบ่งย่อยจุดยืนแต่ละพรรค (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค. 2562) ได้ดังนี้
หนึ่ง ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. รวม 115 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง พรรคพลังประชาชนปฏิรูป 1 ที่นั่ง รวม 121 เสียง
สอง ฝ่ายไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 136 ที่นั่ง (ไม่ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากได้ ส.ส.เขต เกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี) พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรคพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง รวม 245 เสียง
สาม ฝ่ายที่ยัง ‘แทงกั๊ก’
ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือเป็นพรรคเล็ก 11 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคพลังชาติไทย 1 ที่นั่ง พรรคประชาภิวัฒน์ 1 ที่นั่ง พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 ที่นั่ง พรรคพลังไทยรักไทย 1 ที่นั่ง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง พรรคประชานิยม 1 ที่นั่ง พรรคประชาธรรมไทย 1 ที่นั่ง พรรคพลเมืองไทย 1 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคพลังธรรมใหม่ 1 ที่นั่ง และพรรคพลังไทรักธรรม 1 ที่นั่ง รวม 133 เสียง
ส่วนความคืบหน้าในการตั้งรัฐบาลขณะนี้ ยังคงฝุ่นตลบ แต่ละพรรคที่เป็นแกนนำต่างต่อสายกันวุ่น เจรจาต่อรองแบ่งเค้กโควตารัฐมนตรีกันวุ่นวาย สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ ดังนี้
ขั้วแรก ฝ่ายไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ รวมเสียงได้แล้ว 245 เสียง มีรายงานข่าวระบุว่า อยู่ระหว่างการเจรจาพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคขนาดเล็กอื่น ๆ ให้เข้าร่วม โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ถูกกดดันอย่างหนัก เนื่องจากก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เคยหล่นคำพูดหลายหนว่า ไม่เห็นด้วยให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงจะร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มาจากซีกประชาธิปไตยเท่านั้น
อย่างไรก็ดีกูรูการเมืองหลายรายวิเคราะห์กันว่า ขั้วนี้แม้จะมี ‘ความหวัง’ อยู่บ้าง แต่ต้อง ‘ทำใจ’ เนื่องจากโอกาสค่อนข้างริบหรี่ทีเดียวในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนอกจากจะต้องดีลจำนวน ส.ส. ให้ได้อีกอย่างน้อย 6 เสียง (รวม 251 เสียง ข้างมากในสภา) แล้ว ยังต้องระแวดระวังภัยจาก ‘งูเห่า’ ที่ว่ากันว่า มีหลายรายได้รับการเชื้อเชิญจากขั้วตรงข้ามมาบ้างแล้ว ?
ขั้วที่สอง ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ขั้วนี้ดูท่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะมีเสียงในกำมือแน่นอนแล้วราว 121 เสียงก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า ตัวแปรสำคัญที่อยู่ระหว่างการดีล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (52 เสียง) และพรรคภูมิใจไทย (51 เสียง) จะส่งผลให้ขั้วนี้จัดตั้งรัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ได้สำเร็จ
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า การเจรจาระหว่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ยังคงฝุ่นตลบในเรื่องแบ่งเค้กโควตารัฐมนตรี เนื่องจากฝ่ายหนึ่งต้องการกระทรวง ‘เกรดเอบวก’ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เป็นต้น สวนทางกับความต้องการอีกฝ่ายที่จ้องเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ตาเป็นมันเช่นกัน นี่ยังไม่นับรวมถึง ‘พรรคปลาไหล’ อื่น ๆ ทำให้จนถึงขณะนี้ยังตกลงกันไม่ลงตัว ต้องรอดูท่าทีหลังจากนี้ว่าจะจัดสรรกันอย่างไร ?
ขั้วที่สาม เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากขั้วที่สอง นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะเจรจาดีลเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีกันไม่ได้ อย่างไรก็ดีขั้วนี้ว่ากันว่า อาจเป็นเพียงหน้าฉากการเมืองที่กดดันขอโควตารัฐมนตรี และในท้ายที่สุดหากตกลงกับพรรคพลังประชารัฐได้แล้ว ขั้วนี้ก็คงกลับไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม
หากพิจารณาตามสูตรการจัดตั้งรัฐบาลข้างต้นแล้ว เหลืออยู่ 2 แนวทาง คือ ฝ่ายไม่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ ที่มี 245 เสียง ดีล ส.ส. มาให้ได้อีกอย่างน้อย 6 เสียง ได้รวมกัน 251 เสียง มีความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล แต่คงเป็นไปได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ส่วนฝ่ายสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ คาดว่าท้ายที่สุดคงรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งหมด 20 พรรค รวมจากฝ่าย ‘แทงกั๊ก’ อีก ได้ทั้งหมด 254 เสียง
แม้ออกมาในแนวทางนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลฝ่ายหนุน ‘บิ๊กตู่’ คงทำงานด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่รัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ เท่านั้น แต่การรวมเสียงถึง 20 พรรค ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และกูรูการเมืองหลายรายวิเคราะห์ว่า อาจอยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี หรือเร็วที่สุดภายใน 1 ปีด้วยซ้ำ หลังจากนั้นอาจมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ?
อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงกระแสข่าวในช่วงเวลานี้เท่านั้น กว่าจะเปิดสภาครั้งแรก เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังมีเวลาให้ ‘ดีล’ กันอีกหลายวัน!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : INFO : ใครเป็นใคร? 27 พรรค 498 ชีวิตเข้าสภา ส.ส.เขต 349 คน-ปาร์ตี้ลิสต์ 149 คน