พระไพศาลชี้สังคมไทยยังอยู่กับความรุนแรงอีกนาน ต้องแก้หนึ่งรัฐสองสังคม ลดช่องว่างเมือง-ชนบท
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ มีการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าเรื่อง “ความขัดแย้ง ความชอบธรรมและการปฏิรูประบบรัฐ การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย”
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งฝ่ายและเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจนว่ามีแนวโน้มจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน เพราะภาพที่ปรากฏไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างบุคคลแต่เกิดจากโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ร้าวฉาน ซึ่งคนไทยมักมองปัญหาแค่ระดับบุคคลจึงมองไม่เห็นทางออก ความขัดแย้งระหว่างคนต่างสีเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกกับฝ่ายตรงข้าม การที่คนระดับรากหญ้าจำนวนมากร่วมสนับสนุนไม่ใช่เพราะอำนาจเงินเท่านั้นแต่เพราะไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่
พระนักพัฒนากล่าวว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนในชาติมากเท่าไทยจนเรียกได้ว่าเป็น “หนึ่งรัฐสองสังคม” ซึ่งเป็นรากเหง้าความขัดแย้งในปัจจุบัน คนระดับล่างที่ยากจนถูกทอดทิ้งจากรัฐส่วนใหญ่อยู่ในชนบทได้รับผลประโยชน์น้อยมากจากการพัฒนาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มิหนำซ้ำยังถูกแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทไปสนับสนุนเมือง คนเหล่านี้จึงหันไปพึ่งผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกลายเป็นฐานเสียงให้เจ้าพ่อได้เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี และนโยบายประชานิยมที่หยิบยื่นผลประโยชน์ลงไปให้ชนบทและคนยากไร้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ชาวบ้านชนบทและคนจนเมืองจำนวนมากยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ
พระไพศาล กล่าวว่า ทางออกที่ท้าทายของสังคมไทยในสภาพการณ์ปัจจุบันที่บ้านเมืองแตกแยกมีการเผชิญหน้า และพร้อมใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายเช่นนี้ การเทศนาสั่งสอนหรือเรียกร้องให้คนไทยปรองดองกันมีความหมายน้อยมาก เอกภาพและความสามัคคีของคนในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคือลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเมืองกับชนบท คนจนกับคนรวย เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียม มีกลไกการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้เป็นทางออกระยะยาวให้เกิดสังคมสมานฉันท์ ส่วนมาตรการระยะสั้นระยะกลางก็ต้องเร่งสร้างกลไกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติ มีเวทีต่อรองที่เท่าเทียม ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มีสื่อกลางเพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน .