บูรณาการครบ! ม.รังสิต เปิดกัญชาศาสตร์ -ปลูกระบบปิด พัฒนาสายพันธุ์ ใช้การแพทย์
ม.รังสิต เดินหน้าปลูกกัญชาระบบปิด หลัง อย.อนุมัติ เริ่มทดลอง 50 ต้น ในพื้นที่ 50 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้า พร้อมเปิดสอนวิชา 'กัญชาศาสตร์' เเห่งเเรกในไทย ครบวงจร ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ม.รังสิต ถือเป็นมหาวิทยาลัยเเห่งแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดสอนวิชา ‘กัญชาศาสตร์’ ภายใต้การดูแลของคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร ภายหลังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ปลูกกัญชาได้
ทั้งนี้ ตลอดหลักสูตรนวัตกรรมเกษตร มีทั้งหมด 123 หน่วยกิต โดยวิชากัญชาศาสตร์ จะอยู่ในกลุ่มวิชาชีพเลือก จำนวน 12 หน่วยกิต มุ่งเน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกัญชา เทคนิคการปลูก การขยายและปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาออกมาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพเป็นเกษตรอัจฉริยะ ผู้จัดการฟาร์มอัจริยะ นักวิชาการ นักวิจัย หรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการทางการเกษตรได้
(อ่านประกอบ:ม.รังสิต เปิดวิชา 'กัญชาศาสตร์' เเห่งเเรกในไทย ใช้ประโยชน์ทางการเเพทย์)
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร บอกเล่าจุดเริ่มต้นในการบรรจุวิชากัญชาศาสตร์เข้าไว้ในหลักสูตรฯ ว่า วิทยาลัยฯ ได้รับมอบนโยบายจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต ให้ริเริ่มการศึกษาวิจัยกัญชาใช้ทางการแพทย์มาก่อนราว 3-4 ปีแล้ว
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยเปิด “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์’ ขึ้น (อ่านประกอบ:ครั้งแรกในไทยกับ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบสารสกัดกัญชา) โดยเป็นการวิจัยกัญชาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในหลายโรค เช่น มะเร็ง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ จึงมอบหมายให้คณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยฯ ดูแลด้านวัตถุดิบต้นทาง ในการนำไปแปรรูปเพื่อใช้ทางการแพทย์ ให้มีกระบวนการปลูกที่ถูกต้อง ปลอดจากสารโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลงเจือปน ด้วยเหตุนี้จึงเปิดสอนวิชาดังกล่าวขึ้นด้วย
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร
“รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร รับหน้าที่รับผิดชอบในวิชาและจัดเตรียมสถานที่เพาะปลูก แล้วส่งให้วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย นำไปวิจัยพัฒนาต่อ ก่อนจะส่งไปใช้ทางการแพทย์ต่อไป”
ส่วนการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการสอนนั้น อธิการวิทยาลัยฯ ระบุมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมการ โดยมอบหมายให้คณาจารย์เป็นทีมงานดูแลกระบวนการผลิต และร่วมกับ ศ. (พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ เข้ามาร่วมในด้านกฎหมาย ควบคุม กำกับดูแลการปลูกการผลิตด้วย
"จุดมุ่งหมายหลักในการเปิดวิชา เนื่องจากเราเป็นสถาบันการศึกษา จึงอยากให้ความรู้วิชาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกัญชาจากพื้นฐานในสังคมไทยที่ใช้มาเป็นยาประกอบ หรือตำรับโบราณที่มีอยู่ ย้อนกลับมาต้นทาง คือ กระบวนการปลูกกัญชาให้ดีที่สุด ซึ่งถือเป็นพืชชนิดหนึ่งในกระบวนการเกษตร เพราะฉะนั้นตรงนี้กระบวนการปลูกจะต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อทำให้สิ่งที่เราปรารถนา ซึ่งคณะนวัตกรรมเกษตรจะเข้ามาให้ความรู้ตรงนี้" ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมในเรื่องกัญชามานานถึง 9 เดือน เนื่องจากขั้นตอนการขออนุมัติจาก อย. ค่อนข้างมีกฎกติกามาก ตั้งแต่กระบวนการจัดเตรียมสถานที่ให้ถูกต้อง
“ตามหลักการของ อย. เมื่อปลูกกัญชาแล้ว ห้ามทุกชิ้นส่วนหลุดออกไป ซึ่งต้องทำตามกฎเกณฑ์ สมมติต้องหาพันธุ์หรือต้นกัญชาตรงกับความต้องการของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ เมื่อนำเมล็ดมาเพาะปลูก และวิทยาลัยเภสัชศาสตร์นำไปวิเคราะห์ได้สารตัวสำคัญตามที่ต้องการแล้ว ต้นกัญชานั้นจะกลายเป็นแม่พันธุ์ และขยายพันธุ์ออกมาเป็นหลายต้นเก็บเป็นสต๊อก เพื่อนำมาปรับปรุงหรือสร้างสายพันธุ์ใหม่ได้”
คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร ยังกล่าวถึงเหตุผลต้องปลูกที่ ม.รังสิต เพราะบุคลากรมีความรู้ด้านการปลูก ซึ่งสถานที่ปลูกต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด มีกุญแจ สแกนนิ้ว ใบหน้า และทุกคนที่เข้าออกจะถูกบันทึกข้อมูลไว้ทั้งหมด กัญชาทุกชิ้นมีเอกสารกำกับ แม้กระทั่งเวลาคณะฯ ไปรับเมล็ดกัญชาจากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการชั่งตวงต้องจดบันทึก ถ่ายภาพ และรายงานผลให้ อย.รับทราบ
รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร
เมื่อนำมาปลูกแล้ว กัญชาทุกชิ้นต้องไม่หายไปไหน ใครจะขโมยไม่ได้ และให้ใครไม่ได้ ชิ้นส่วนที่เก็บไว้ หรือราก ลำต้น ที่เหลือจากการวิเคราะห์ จะถูกเก็บแล้วนำไปทำลายในเตาเผาอุตสาหกรรม ไม่เหลือซาก และเมื่อ อย.มาสุ่มตรวจต้องมีหลักฐานเก็บไว้ มิฉะนั้นหากผิดพลาด จะถูกสั่งปิด ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ง่ายอย่างที่คนภายนอกคิด เพราะทุกขั้นตอนต้องมีการบันทึก แม้แต่ใบกัญชาร่วงเพียงใบเดียว
“โรงเรือนปลูกของ ม.รังสิต เป็นระบบปิด พื้นที่ราว 50 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของอาคาร 5/1 วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร เบื้องต้นจะปลูกประมาณ 50 ต้น โดยจะใช้เมล็ดพันธุ์ของกลางที่ได้รับมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งทำการเบิกจากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่จำกัด ไม่ใช่สิ่งที่สนใจ เพราะแม้จะมีกัญชาเพียงต้นเดียว หากพบมีการออกฤทธิ์ตรงกับความต้องการของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ จะนำต้นนั้นมาเป็นแม่พันธุ์”
ด้านเทคนิคการปลูกนั้น ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุเนื่องจากโรงปลูกอยู่บนดาดฟ้า หลังคาค่อนข้างใส ให้แสงผ่านได้ ซึ่งเราจะใช้ดินเป็นวัสดุปลูกให้น้อยที่สุด ขอเพียงเป็นที่ยึดรากได้ ผสมผสานกับนวัตกรรมไฮเทคมาช่วยในการให้น้ำ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า แสงดีที่สุดสำหรับกัญชา คือ แสงแดด
ทั้งนี้ จะเริ่มปลูกกัญชาตั้งแต่วันนี้ และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน แล้วจึงเก็บเกี่ยวนำไปวิเคราะห์วิจัยได้ แต่เน้นย้ำว่า สารออกฤทธิ์ Canabinol (CBN) พบทุกส่วนในกัญชา แต่เอกสารมักกล่าวถึงดอกเท่านั้น
พร้อมยืนยันไร้กังวลปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องวิจัยและการเรียนการสอนในวิชากัญชาศาสตร์ เนื่องจากบุคลากรมีพื้นฐานด้านเกษตร และส่วนตัวทำงานด้านนี้มานาน 40 ปี จึงไม่ใช่เรื่องยาก
*************************************
การบรรจุวิชากัญชาศาสตร์เข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนวัตกรรมเกษตร ม.รังสิต จึงเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบจากต้นทางที่สะอาด ปราศจากโลหะหนักและยาฆ่าแมลง ป้อนให้แก่วิทยาลัยเภสัชศาสตร์วิจัยและพัฒนาใช้ทางการแพทย์ต่อไป
นักศึกษาที่เข้าเรียนยังสามารถฝึกประสบการณ์จริงจากโรงเรือนระบบปิดของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเลือกศึกษาในวิชานี้จำนวนมาก โดยจะเปิดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาฤดูร้อน 10 มิ.ย. เป็นต้นไป นับเป็นการบูรณาการครอบคลุมครบทุกด้าน ตั้งเเต่ต้นน้ำ กลางน้ำ เเละปลายน้ำ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/