หึ่ง!แบ่งเค้กไม่ลงตัว'ปชป.-ภท.-ชทพ.'ผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลแข่งพปชร.
หึ่ง!แบ่งเค้กไม่ลงตัว'ปชป.-ภท.-ชทพ.'ผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลแข่งพปชร.
แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ) ประกาศว่าสามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เสียงเกิน 250 เสียง โดยตำแหน่งนายกฯ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม และ รมต.กระทรวศรษฐกิจเดิมทั้งหมดอยู่กับพปชร.และมอบ 6 เก้าอี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งยังมอบ 2 เก้าอี้ ให้พรรคชาติไทยพัฒนานั้น แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกแปลกใจกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และอยากเรียกร้องให้เจ้าของพรรคตัวจริงของพปชร. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มาเปิดโต๊ะเจรจากับ แกนนำพรรคการเมืองต่างๆที่ปรากฎเป็นข่าวโดยตรง ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้คุยกับแกนนำพปชร.ตัวจริงในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะ ปชป. จะคุยเรื่องเหล่านี้ภายหลังคัดเลือกหัวหน้าพรรคแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค. เสร็จสิ้นเสียก่อน
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับกรณีที่พปชร. ระบุจะเก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด เพราะอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นจากประชาชนต่อรัฐบาลในอนาคต ร่วมทั้งยังเปิดช่องให้ถูกโจมตีจากฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม เพราะตลอดระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลคสช. 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนระดับล่างและกลางได้รับความยากจนเป็นวงกว้าง เห็นได้ชัดการเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า และยอดคนขึ้นทะเบียนคนจนมากขึ้นจาก 11.4 ล้านคนเป็น 14.5 ล้านคน ดังนั้นหากพปชร. ไม่ยอมคลายกระทรวงเศรษฐกิจเหล่านี้ให้พรรคการเมืองต่างๆ อาจเกิดปัญหา และพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงกับประชาชนได้
แหล่งข่าวจากปชป. กล่าวต่อว่า ขณะที่สูตรการจัดตั้งรัฐบาล ที่ถูกปล่อยออกมา ก็ไม่ถูกต้องทั้งหลักการและประเพณีปฏิบัติ เพราะ พปชร. มีเสียงเพียง 115 เสียง เท่านั้นแต่กลับยึดกระทรวงหลักไว้ทั้งหมด ทั้งกระทรวงความมั่นคง และ เศรษฐกิจ แตกต่างจากสมัยพรรคประชาธิปัตย์ในปี 52 ที่เสียงในมือมากถึง163 เสียง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ใจถึงมอบเก้าอี้สำคัญให้พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวินจำนวน 29 เสียง ก่อนไปกำเนิดเป็นพรรคภูมิใจไทยได้เก้าอี้สำคัญอย่าง กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ก่อนที่จะผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯได้สำเร็จ ดังนั้น เงื่อนไขที่พปชร.ปล่อยออกมา จึงยากที่จะยอมรับ
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าหากพปชร. ยังไม่ยอมคลายกระทรวงสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย(ภท.) 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) 10 เสียง รวมประมาณ 113 เสียง จะอาสาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นขั้วที่ 3 ไปเชิญชวนพรรคการเมืองต่างๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับ พปชร. และพรรคเพื่อไทย และยังถือเป็นสูตรการเมืองขั้วที่ 3 ที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร และเปิดกว้างการร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองต่างๆ และถือเป็นอีกหนึ่งทางออกของประเทศได้อีกด้วย