ตอกย้ำด้วยข้อมูล คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่
ข้อเท็จจริงข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกู้ของครัวเรือนไทยระยะ 9 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนเริ่มจะกู้สินเชื่อรถยนต์ก่อนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เริ่มไม่ได้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อแรก และเริ่มกู้บ้านเป็นลำดับหลัง ๆ มากขึ้น
ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาใหญ่ แก้ไม่ได้ด้วยสูตรเดียว ซึ่งดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาให้ข้อมูลล่าสุด ที่พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น
"คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ" (อ่านประกอบ:วิรไท สันติประภพ:วัยที่มี’หนี้เสีย’มาก เป็นกำลังสำคัญของประเทศ)
เพื่อให้ความเข้าใจ “ไส้ใน”ของหนี้ และการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เผยแพร่บทความ "เข้าใจพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big data ของเครดิตบูโร" โดยชี้ให้เห็นถึงลักษณะการขยายตัวของผู้กู้ พฤติกรรม และคุณภาพของผู้กู้ที่เปลี่ยนไปในรอบ 9 ปีที่ผ่าน (ตั้งแต่ปี 2552-2561 )
บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยอาจส่งผลให้เกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เพิ่มภาระหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดถึงอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงระบบต่อเสถียรภาพการเงินไทยได้ เพราะ
1) สินเชื่อที่ขยายตัวมากส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
2) 1 ใน 3 ของผู้กู้เดิมที่เพิ่มบัญชี ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนทั่วประเทศ มักมีพฤติกรรมการกู้หลายบัญชีและหลายสถาบันการเงิน และพฤติกรรมดังกล่าวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 9 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และผู้กู้กลุ่มนี้ก็มีคุณภาพด้อยลงเรื่อย ๆ
3) ผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีก็มีแนวโน้ม “เด็กลง” และมีพฤติกรรมการกู้ทีละหลาย ๆ บัญชีเพิ่มขึ้นเช่นกัน และคุณภาพด้อยลงโดยเฉพาะในปี 2561 ซึ่งด้อยกว่าปีก่อน ๆ
และ 4) คุณภาพของสินเชื่อบางประเภทกำลังต้องจับตามอง เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่มีอัตราหนี้เสียภายในปีแรกสูงที่สุดในรอบ 9 ปี หรือสินเชื่อบ้านที่ผู้กู้ครั้งแรกเริ่มมีจำนวนสินเชื่อในพอร์ตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความน่าสนใจ อยู่ที่ลักษณะผู้กู้ใหม่และผู้กู้เดิม พบว่า
ผู้กู้เดิม ที่ได้กู้เพิ่มมีอายุมากขึ้นและสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายบัญชีสูงขึ้น โดยสัดส่วนผู้กู้ในกลุ่มนี้ที่อายุ 46-60 และมากกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2552 เป็น 28% ในปี 2561 ซึ่งแนวโน้มของผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น ก็พบได้ในกลุ่มผู้กู้ที่ไม่ได้กู้เพิ่มด้วย สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้นานขึ้น
แต่ที่น่าสนใจก็คือ พบว่า สัดส่วนของผู้กู้เดิมที่เพิ่มบัญชีที่มีสินเชื่อในพอร์ตมากกว่า 4 บัญชีมีสูงถึง 40% ในปี 2552 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีสัดส่วนผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปีสูงขึ้น มีการกระจายตัวเชิงพื้นที่สูง และสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายบัญชีสูงขึ้นด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้น และการขยายตัวของสินเชื่อไปสู่ผู้กู้ใหม่มีความครอบคลุมมากขึ้น
แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ การที่ผู้กู้ใหม่มีอายุน้อยลงและเริ่มมีหลายบัญชีสินเชื่อขึ้นจะส่งผลต่อความเปราะบางและคุณภาพสินเชื่อของคนกลุ่มใหม่นี้หรือไม่
ขณะที่หน้าตาผู้กู้ใหม่ของสินเชื่อแต่ละประเภท
ผู้กู้ใหม่มีสัดส่วนอายุน้อยลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะผู้กู้ที่เพิ่งเริ่มมีสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ลักษณะของผู้กู้ใหม่ของสินเชื่อแต่ละประเภท และพบว่า สัดส่วนผู้กู้สินเชื่อรถยนต์ (สินเชื่อส่วนบุคคล) ครั้งแรกที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีก็สูงขึ้นจาก 5% (15%) ในปี 2552 มาเป็นเกือบ 15% (20%) ในปี 2561
และสัดส่วนของผู้กู้บ้านครั้งแรกที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีได้เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2552 มาเป็น 58% ในปี 2561
สัดส่วนของผู้กู้สินเชื่อบ้านครั้งแรกที่มีหลายบัญชีได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลสวนทางกับกลุ่มผู้ก็สินเชื่อรถครั้งแรก ซึ่งข้อเท็จจริงข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกู้ของครัวเรือนไทยในระยะ 9 ปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า ครัวเรือนเริ่มจะกู้สินเชื่อรถยนต์ก่อนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เริ่มจะไม่ได้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อแรก และเริ่มจะกู้บ้านเป็นลำดับหลัง ๆ มากขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือสัดส่วนของผู้กู้บ้านครั้งแรกที่มีมากกว่า 4 บัญชีขยายตัวจาก 30% ในปี 2552 มาเป็นเกือบ 45% ในปี 2561 ทำให้เกิดคำถามที่ว่า การที่ผู้กู้บ้านครั้งแรกมีสินเชื่ออื่น ๆ ในพอร์ตหลายบัญชีขึ้นจะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ของผู้ก็และสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่อย่างไร
และจากข้อมูลนี้ ก็พอจะทำให้เราได้เห็นหน้าตา อายุของกลุ่มคนที่เข้าถึงสินเชื่อในบ้านเรา..
อ่านฉบับเต็มได้ที่:เข้าใจพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big data ของเครดิตบูโร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:เปิดไส้ใน คนไทย “เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน”