จี้ ทอท. ประมูลดิวตี้ฟรี ยึดหลักธรรมมาภิบาล หวั่นฉุดภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์
คมนาคม จี้ ทอท. ประมูลดิวตี้ฟรี ยึดหลัก ธรรมมาภิบาลประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ หลังพบบริษัท- จอยท์ เวนเจอร์ ประวัติเก่าสุดฉาวโฉ่ หวั่นฉุดภาพลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ กระทบจัดตั้งรัฐบาล และสังคมประณามซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยรายชื่อ จอยท์ เวนเจอร์ ที่ผู้ยื่นซองประมูลโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 3 ราย จากผู้ร่วมประมูลทั้งหมด 5 รายขณะนี้ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมในระดับสูงได้หารือกันและรู้สึกเป็นกังวลกับกระแสข่าวและข้อครหาต่างๆของบริษัทที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูลในขณะนี้ จึงเรียกร้องให้ ทอท. ยึดหลักธรรมมาภิบาลตามที่เคยประกาศไว้คือซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจาณาควบคู่กับผลงานด้านเทคนิคและผลต่อตอบแทนที่จะมอบให้รัฐตามระยะเวลาที่ทอท.กำหนดไว้เปิดรับซองประมูลดิวตี้ฟรี ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ และ เปิดซองผลตอบแทนรัฐในวันที่ 31 พ.ค.นี้และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือนมิ.ย.นี้
"ผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมรู้สึกไม่สบายใจที่รัฐวิสาหกิจต่างๆในกระทรวง ถูกมองว่าเป็นแหล่งทำมาหากิน ของผู้ที่เข้ามาหวังกอบโกยผลประโยชน์ ผ่านการทำสัญญาที่ภาครัฐมักจะเสียเปรียบอยู่เสมอ หลังจากก่อนหน้านี้ถูกสังคมโจมตีอย่างหนักเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สั่งชดใช้เงินให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือเสียค่าโง่สุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท จึงไม่อยากให้การประมูลดิวตี้ฟรี และเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมเพราะอาจถูกโจมตีเป็นประเด็นทางการเมืองลามไปกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กำลังสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องไร้ปัญหาเรื่องการทุจริตในช่วงนี้เพื่อกลับมาเป็นนายกฯต่อไป”
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย)หรือ ACT ที่เคยออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาบังคับในโครงการประมูลครั้งใหม่นี้ ซึ่งยังไม่มีเสียงขานรับจากทอท. รวมทั้งตลอดระยะเวลาการประมูล ยังปรากฎข้อมูลเชิงลบของผู้เข้าร่วมประมูลที่ขัดแย้งกลับธรรมาภิบาลหรือไม่ โดยพบว่าบริษัทแห่งหนึ่งที่ร่วมประมูล เคยมีประวัติรับงานกับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งเช่าพื้นที่เศรษฐกิจ โดยไม่ผ่านการประมูล และไม่ปฏิบัติ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างครบถ้วน ขณะนี้กำลังถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ หลังพบเคยทำผิดสัญญาต่อเติมอาคารตามอำเภอใจไม่แจ้งให้เจ้าของพื้นที่ทราบ
นอกจากนี้ยังพบบริษัทผู้ร่วมประมูลอีกแห่ง ผู้บริหารเคยถูกกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่ง ข้อหาสร้างราคาหุ้นของบริษัท หรือ ปั่นหุ้น และขณะนี้ จอยท์ เวนเจอร์ กับบริษัทต่างชาติ ที่แจ้งไปกับทอท. ก็เคยถูกจับคดีคอรัปชั่น และผู้บริหารต้องฆ่าตัวตายหนีความผิดมาแล้ว และบริษัทที่สาม ที่ร่วมประมูลครั้งนี้ ผู้บริหารยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในการบริหารงานพื้นที่ดิวตี้ฟรี ให้มีประสิทธิภาพได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเป็นนักลงทุนเพื่อแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มุ่งเน้นบริหารองค์กรให้ธุรกิจและภาครัฐเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ จึงอยากให้ทอท. นำมาพิจารณาอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย
สำหรับรายชื่อ บริษัท และ จอยท์ เวนเจอร์ ที่ผู้ยื่นซองประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่ 1.บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด 2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นรายชื่อบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด และบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด 3.บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ที่เป็นผู้ประกอบการ ดิวตี้ฟรีรายใหญ่สุดในโลก ขณะที่ อีก 2 บริษัทที่ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรีคือ 1.บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2.บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นรายชื่อจอยท์ เวนเจอร์
ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/35377