ผลโพลเผย หลังรถเมล์ขึ้นค่าโดยสาร ปชช.มีค่าใช้จ่ายต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น
นิด้าโพลเผย ผลสำรวจความคิดเห็น "การขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง (รถเมล์)" 87.20% ระบุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 บาท/สัปดาห์ ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทาง 46.74% ระบุ ขึ้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แนะอยากให้ปรับปรุงสภาพภายในรถ ทั้งความสะอาด เบาะทีนั่ง หน้าต่าง และแอร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “การขึ้นค่าโดยสารประจำทาง(รถเมล์)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2562 จากผู้ที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง (รถเมล์) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” วิธีสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อสัปดาห์ จากการที่ ขสมก. และรถโดยสารเอกชนร่วมบริการเพิ่มค่าโดยสาร พบว่า ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ร้อยละ 87.20 ระบุว่า ไม่เกิน 100 บาท ร้อยละ 10.97 ระบุว่า 101 – 200 บาท ร้อยละ 1.59 ระบุว่า 201 – 300 บาท และร้อยละ 0.24 ระบุว่า 301 บาทขึ้นไป
สำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางของผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.74 ระบุว่า ขึ้นรถโดยสารประจำทางเท่าที่จำเป็นเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 16.69 ระบุว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทาง ยังคงใช้เหมือนเดิม ร้อยละ 13.35 ระบุว่า เปลี่ยนไปใช้รถตู้โดยสารแทน ร้อยละ 11.29 ระบุว่า ยอมเสียเวลาในการรอรถโดยสารประจำทาง ที่มีราคาถูกกว่า ร้อยละ 10.81 ระบุว่า เปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า/ใต้ดินแทน ร้อยละ 8.03 ระบุว่า เปลี่ยนไปใช้รถส่วนตัวแทน เช่น รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ ร้อยละ 3.82 ระบุว่า เปลี่ยนไปใช้เรือโดยสารแทน ร้อยละ 3.50 ระบุว่า เดินไปทำงาน/ทำธุระแทนการขึ้นรถประจำทาง และร้อยละ 1.99 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ใช้บริการรถโดยสารประเภทอื่นแทน เช่น รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถว รถแท็กซี่ และรถไฟ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากให้มีการปรับปรุงบริการของรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) โดยแยกประเภทรถ ดังนี้
1. รถ ขสมก. ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.87 ระบุว่า สภาพภายในของรถ เช่น ความสะอาด แอร์เย็น เบาะ หน้าต่าง ราวจับ รองลงมา ร้อยละ 46.02 ระบุว่า มารยาทของพนักงาน ทั้งการขับรถและการเก็บเงิน ร้อยละ 45.92 ระบุว่า ความเพียงพอของรถ เวลารอรถไม่นาน ร้อยละ 42.45ระบุว่า สภาพภายนอกของรถ ปรับให้เป็นรถใหม่ ร้อยละ 27.93 ระบุว่า การตรงต่อเวลาของการปล่อยรถ และร้อยละ 25.75 ระบุว่า การจอดรับ - ส่ง ให้ตรงป้ายรถเมล์
2. รถโดยสารเอกชนร่วมบริการ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.76 ระบุว่า สภาพภายในของรถ เช่น ความสะอาด แอร์เย็น เบาะ หน้าต่าง ราวจับ รองลงมา ร้อยละ 52.33 ระบุว่า มารยาทของพนักงาน ทั้งการขับรถและการเก็บเงิน ร้อยละ 42.82 ระบุว่า สภาพภายนอกของรถ ปรับให้เป็นรถใหม่ ร้อยละ 41.67 ระบุว่า ความเพียงพอของรถ เวลารอรถไม่นาน ร้อยละ 31.11 ระบุว่า การจอดรับ - ส่ง ให้ตรงป้ายรถเมล์ และร้อยละ 27.31 ระบุว่า การตรงต่อเวลาของการปล่อยรถ