พระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา เเละต่อยอด เเละครองเเผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขเเห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา เเละต่อยอด เเละครองเเผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขเเห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม มหามงคลฤกษ์ เวลา 10.00 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีสุทิดา เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี
การนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติโดยเสด็จด้วย
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ เสด็จพระราชดำเนิน สรงพระมุรธาภิเษก โดยประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระอนุวงศ์ และพราหมณ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์ ตามลำดับ
ครั้นสรงพระมุรธาภิเษกเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงรับน้ำอภิเษกทั้ง 9 ทิศ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระครูพราหมน์ถวายพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 9 ชั้น เสด็จฯ ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงอัษฎาวุธ
นับจากวินานี้ ถือว่า ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี
ในการนี้ เวลา 12.18 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า
"เราจะสืบสาน รักษา เเละต่อยอด เเละครองเเผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขเเห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสุทิดา ดำรงราชฐานันดร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุทธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี
ที่มาภาพ:พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒
การสรงพระมุรธาภิเษก
การรับการถวายน้ำอภิเษก
สำหรับมุรธาภิเษก หมายถึงการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์ สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ
มณฑปพระกระยาสนาน หรือ พระมณฑปพระกระยาสนาน เป็นสถานที่สรงสนานสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดาน ดาดผ้าขาว มีสหัสธารา สำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง 4 ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรบนถาดทองรองน้ำสรง
พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทำด้วยไม้มะเดื่อ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษก
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี (พัชนีกับพระแส้จามรี) และฉลองพระบาท โดยมิได้นับพระมหาเศวตฉัตรรวมอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ หมายถึง เครื่องประดับอันเป็นมงคล หัวหน้าพราหมณ์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ มี 3 รายการ ได้แก่ พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เป็นสร้อยที่ทำจากฝ้าย พราหมณ์เป็นผู้จัดทำตามกรรมวิธีของพราหมณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาซ้าย พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นสร้อยทองคำ 2 เส้นคู่กัน มีดอกประจำยาม 27 ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ 9 ชนิด ได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ดอกละชนิดสลับกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา พระสังวาลพระนพ เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำ 3 เส้นเรียงกัน มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ 9 ชนิด เชื่อมสร้อยทั้ง 3 เส้นเข้าด้วยกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา
ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เป็นฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เดิมฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นออกนามแต่เพียงว่า “ฉลองพระองค์เครื่องต้นอย่างบรมราชาภิเษก”
ถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฏในหมายกำหนดการออกนามฉลองพระองค์สำรับนี้เป็นครั้งแรกว่า “เครื่องพระราชภูษิตาภรณ์อย่างวันบรมราชาภิเษก”
พระที่นั่งภัทรบิฐ มีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีกงสำหรับเท้าแขน ด้านหลังมีพนักพิง พื้นพระที่นั่งบุด้วยแผ่นทองแดงกะไหล่ทองเป็นเส้นลายกระหนก ตรงกลางเป็นรูปราชสีห์ ที่ขอบและส่วนขาเป็นลายถมทอง มีฐานเขียงไม้สลักลายปิดทองประดับกระจกรองรับ สองข้างพระที่นั่งมีโต๊ะเคียงสลักลายปิดทองประดับกระจก ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 8