เฉลิมพระบารมี ร.10 ‘มูลนิธิกาญจนบารมี’ ออกหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านม ลดเสียชีวิต
มูลธินิกาญจนบารมี เฉลิมพระบารมีในหลวง ร.10 ดำเนินงานเข้าสู่รอบที่ 6 ลงพื้นที่ทุรกันดารทุกจังหวัดในไทย คัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ด้วยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ทันสมัย (Mammogram) ราคากว่า 30 ล้าน หวังลดปัญหาสำคัญในการเสียชีวิตของสตรีไทย
‘มะเร็งเต้านม’ เป็นโรคมะเร็งพบมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งเป็นปัญหาสำคัญในการเสียชีวิตของสตรีไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นถึงความสำคัญในปัญหาดังกล่าว มูลนิธิกาญจนบารมีจึงได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2555
โดยหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ของมูลนิธิกาญจนบารมี ได้เดินทางตระเวนไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 มูลนิธิกาญจนบารมีได้ออกหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่มาตรวจคัดกรองสตรีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นแห่งแรก
ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวถึงสาเหตุการจัดตั้งโครงการของมูลนิธิว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยในด้านสุขภาพ ทรงเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการกาญจนบารมี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปีที่ 50
ต่อมาได้ยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกประเภท ปีละมากกว่า 2,000 ราย รวมทั้งให้ความรู้ในการป้องกัน การดูแลรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีความสุข ถือเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้ง“มูลนิธิกาญจนบารมี” ขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานป้องกันมะเร็ง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ขณะนั้น ประชาชนและพวกเราล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนอย่างสูงยิ่ง
ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี
ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวถึงการจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ว่าหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ของมูลนิธิกาญจนบารมี ได้เดินทางตระเวนไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด คือ เครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม หากประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และส่งต่อเข้ารับการรักษา จะมีโอกาสรักษาให้หายได้
ขณะเดียวกัน รถเคลื่อนที่ที่ใช้ในการลงพื้นที่จัดกิจกรรมคัดกรองผู้ป่วยในหนึ่งขบวนนั้น จะประกอบด้วย รถจำนวน 4 คัน ได้แก่ รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Advertising Unit) รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Check Up Unit) รถนิทรรศการและให้ความรู้โรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Learning Exhibition Unit) และรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง (Mammogram) ซึ่งสามารถเอกซเรย์ได้ถึง 3 มิติ ความละเอียดถือว่าดีมาก ราคากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติที่ทรงคุณค่า สามารถช่วยเหลือคนในถิ่นทุรกันดาร คนในชุมชนที่ไม่มีโอกาส ให้มีโอกาสในการเข้ารับการตรวจรักษาได้เป็นอย่างดี
ดร.นายแพทย์สมยศ กล่าวถึงการดำเนินงานในปัจจุบันเข้าสู่รอบปีที่ 6 แล้ว มีการออกหน่วยคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ รวมทั้งหมด 773 ครั้ง (ณ สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2562) มีการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ห่างไกลไปแล้วมากกว่า 231,900 คน ตรวจเอกซเรย์โดยเครื่อง Mammogram 16,096 ราย ส่งคนไข้ไปตรวจวินิจฉัย 1,791 ราย พบเจอผู้ป่วยโรคมะเร็งประมาณ 300 ราย ที่ถูกส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม โดยการทำงานของมูลนิธินั้น จะร่วมมือกับทางจังหวัดต่างๆ ค้นหาบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด และส่งไปตรวจคัดกรอง พร้อมส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พ.ศ. 2562 มูลนิธิกาญจนบารมีได้ออกหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นจะเดินทางไปตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน โดยจบการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในภาคอีสานที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนั้นจะเดินทางไปภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง จนกระทั่งครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในระยะเวลา 1 ปี
โดยปีต่อมาที่มีการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองผู้ป่วยอีกครั้ง มูลนิธิฯ ก็จะเดินทางไปทุกจังหวัดทั่วประเทศเหมือนเดิม แต่จะไปคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอที่ยังไม่ได้จัดกิจกรรมในปีที่แล้ว และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง
ด้านนายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวถึงการเข้ามาดูแลคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมของมูลนิธิกาญจนบารมีว่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างมาก เพราะสถิติที่ผ่านมา สตรีที่เจ็บป่วยด้วยมะเร็งเต้านมปีละ 100 ราย พบว่าประมาณ 1 ใน 4 ของคนป่วยเหล่านี้มาในระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 3-4 ของการเจ็บป่วย ซึ่งทำให้การรักษายาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยมะเร็งเต้านมเป็น 3 สาเหตุการตายลำดับแรกของคนในจังหวัดด้วย ซึ่งการตรวจด้วย Mammogram ของผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเดินทางไปไกลถึงจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี ใช้เวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลาผู้ป่วยด้วย
นายแพทย์ปรีดา กล่าวต่อว่า หลังจากที่มูลนิธิได้ใช้พื้นที่จังหวัดเลย ในการนำกลุ่มเสี่ยงมาตรวจด้วยเครื่อง Mammogram ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สามารถที่จะคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้ และนำสู่กระบวนการรักษาได้ทัน โดยปกติมีทางจังหวัดมีระบบดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่สามารถตรวจผู้ป่วยได้ทั่วถึง เมื่อมีมูลนิธิเข้ามาจึงทำให้เป็นโอกาสที่จะสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเข้ามารับบริการได้ และยังตรวจได้อย่างทั่วถึงด้วย
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่เพิ่มโอกาสให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการที่ทันสมัย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจังหวัดเลย ที่ด้อยโอกาส ได้รับการพัฒนา นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวถึงสาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านมไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คือ กลุ่มคนที่มีประจำเดือนมาเมื่ออายุยังน้อย หรือหมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานไขมันสูง และสตรีที่มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มักพบในสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีก้อน และแผลที่เต้านม
การป้องกันมะเร็งเต้านมที่สำคัญคือ การออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารไขมัน และการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจพบให้เร็วที่สุดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม ซึ่งสามารถทำให้ตรวจพบก้อนที่มีขนาดเล็กและสามารถรักษาให้หายขาดได้
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงโครงการตรวจมะเร็งเต้านมของมูลนิธิกาญจนบารมี เป็นการทำงานกับทุกภาคส่วน เริ่มต้นตั้งแต่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวบรวมข้อมูลประสานกับทางสำนักงานสาธารณสุข และมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อที่จะได้รับการตรวจอย่างทันท่วงที ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมืออย่างดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าทางการแพทย์ได้ยืนยันว่า ถ้าทราบผลและรักษามะเร็งตั้งแต่แรกก็จะมีโอกาสหายได้
จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยในด้านสุขภาพ ก่อเกิดโครงการดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/