กสทช.ออกหลักเกณฑ์ยื่นความประสงค์คืนช่องทีวีดิจิทัล ภายใน 10 พ.ค. - ยกเลิกภายหลังไม่ได้
เลขาธิการ กสทช. เผยหลักเกณฑ์จ่ายค่าชดเชยคืนใบอนุญาตดิจิตอลทีวี ขีดเส้น 10พ.ค. เตรียมเชิญผู้ได้รับใบอนุญาตทั้ง 22 ช่อง รับทราบรายละเอียด 7 พ.ค. 13.00 น. ก่อนตัดสินใจ
วันที่ 2 พฤษภาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล แล้ว ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลจะมีเวลาศึกษาหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ล่วงหน้า และสำนักงานฯ จะเชิญผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทั้ง 22 ช่อง มาประชุมชี้แจงในวันอังคารที่ 7 พ.ค. 2562 เวลา 13.00 น. พร้อมตอบข้อซักถามและทำความเข้าใจ ก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจ
สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลที่มีความประสงค์จะคืนใบอนุญาต มายื่นความประสงค์ต่อสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 10 พ.ค. 2562 โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถขอยกเลิกความประสงค์ดังกล่าวภายหลังได้ โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา และสำนักงานฯ ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ให้ผู้ที่จะขอคืนใบอนุญาต มายื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาต ตาม ม. 44 ก่อน หากเปลี่ยนใจก็สามารถขอยกเลิกในภายหลังได้ เนื่องจากขณะนั้นสำนักงาน กสทช. อาจออกหลักเกณฑ์ไม่ทันวันที่ 10 พ.ค. 2562 ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลอาจจะยังไม่มีข้อมูลประกอบการพิจารณาแต่ในขณะนี้ วันที่ 2 พ.ค. 2562 สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย จากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล แล้ว จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลมีข้อมูลในการตัดสินใจยื่นขอคืนใบอนุญาตดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล สามารถดูรายละเอียดของประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. www.nbtc.go.th