ทหารมูอัลลัฟ...ปัญหาใหญ่กองทัพกับเรื่องราว "รักระหว่างรบ"
แม้จะไม่เคยมีหน่วยงานไหนเก็บรวบรวมสถิติเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารที่เป็นชายชาวไทยพุทธ เมื่อไปรักใคร่ชอบพอกับสาวมุสลิมและจัดพิธีแต่งงานอย่างถูกต้องพร้อมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่กลับต้องจบชีวิตลงก่อนเวลาอันควร มีทั้งหมดกี่ราย ทว่าหากลองสอบถามคนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็จะได้ข้อมูลตรงกันว่า คนกลุ่มนี้ส่วนมากมักหนีไม่พ้นต้อง "มีอันเป็นไป" จากการถูกลอบยิงลอบฆ่าแทบทุกคน
"เท่าที่มีข้อมูล ทหารที่แต่งงานกับสาวมุสลิมตามประเพณีและต้องเข้ารับอิสลาม ส่วนใหญ่จะพบจุดจบคือความตาย โดยส่วนใหญ่จะถูกลอบยิงระหว่างเดินทาง" พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เคยบอกเอาไว้
ในภาษามลายูเรียกคนนอกศาสนาที่เข้ารับอิสลามว่า "มูอัลลัฟ" ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารที่ตัดสินใจเข้ารับอิสลาม ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเพราะต้องการแต่งงานกับสาวมุสลิมที่ตนหมายปอง ก็จะเรียกว่า "ทหารมูอัลลัฟ" และทหารกลุ่มนี้เองที่กำลังเป็นปัญหาหนักอกของกองทัพ เพราะตกเป็นเป้าสังหารจาก "ศัตรูที่มองไม่เห็น" มากขึ้นเรื่อยๆ
และแม้จะมีการเน้นย้ำจากผู้บังคับบัญชาถึงขนาดออกเป็น "กฎเหล็ก" ของแม่ทัพภาคที่ 4 สั่งห้ามไม่ให้กำลังพล "ขายขนมจีบ" หรือไปชอบพอกับสาวมุสลิม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องของหัวใจไม่มีใครห้ามได้ เรื่องราว "รักระหว่างรบ" ของทหารไทยพุทธกับสาวมุสลิมจึงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้หลายรายจะจบลงด้วยความสูญเสียและความเศร้าก็ตาม
ในระยะหลังดูเหมือนวิธีการก่อเหตุกับ "ชายมูอัลลัฟ" จะหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะมีการบุกยิงถึงกลางงานแต่งงาน อย่างเช่นเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.2555 คนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ยิง นายยุทธนา จือยือแร อดีตทหารพรานวัย 27 ปี ชาว ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตคาชุดเจ้าบ่าวขณะกำลังทำพิธีมงคลสมรสอยู่ในงานแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ถัดจากนั้นเพียง 5 วัน เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนบุกยิง ส.ต.ต.อิสมาแอ อาแว อายุ 26 ปี ตำรวจ สภ.รือเสาะ ขณะกำลังเตรียมงานแต่งงานอยู่ที่บ้านเจ้าสาวที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ว่าที่เจ้าบ่าวถึงขั้นปางตาย น้าชายเสียชีวิต ส่วนบิดาก็ได้รับบาดเจ็บ
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค.คนร้าย 2 คนใช้อาวุธปืนพกขนาด 11 มม.และ 9 มม.จ่อยิง จ.ส.อ.มะนาเซ ยูโซ๊ะ อายุ 50 ปี สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ขณะร่วมงานแต่งงานของชาวบ้านในพื้นที่บ้านบองอ หมู่ 4 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ จ.ส.อ.มะนาเซ เสียชีวิต แม้จ่าทหารรายนี้จะไม่ได้เป็นเจ้าบ่าว แต่ก็เป็นอีกครั้งที่มีการก่อเหตุรุนแรงกลางงานวิวาห์
ถึงนาทีนี้ ฝ่ายกองทัพยอมรับแล้วว่า เรื่องราวความรักระหว่างรบของทหารที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ที่ชายแดนใต้กับสาวมุสลิม เป็นเรื่องที่ไม่อาจขัดขวางได้ จึงเลือกใช้วิธีให้คู่รักได้ครองรักกันอย่างถูกต้องตามประเพณี ด้วยการสนับสนุนให้จัดพิธีแต่งงาน แต่นั่นดูจะไม่ใช่วิธีการหยุดสถานการณ์ร้ายที่มีต่อ "ทหารมูอัลลัฟ" ได้เลย
3 เหตุผล "ชายมูอัลลัฟ" สุดเสี่ยง
หากจะกล่าวกันอย่างเป็นธรรมต้องบอกว่า ความรุนแรงที่มีชนวนเหตุจาก "ปัญหาหัวใจ" ซึ่งเกี่ยวโยงกับ "คนนอกศาสนา" โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เดินทางจากแดนไกลเข้าไปปฏิบัติภารกิจ "สร้างสันติสุข" ที่ชายแดนใต้นั้น มีหลายชนวนเหตุด้วยกัน ไม่ใช่เพราะถูกล่าสังหารจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว
เพราะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน บางครั้งก็เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ คน โดยเฉพาะหากเป็นเรื่อง "ชู้สาว" ด้วยแล้ว มักมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสมอ
จากการลงพื้นที่จริงของ "ทีมข่าวอิศรา" พบสาเหตุที่ทำให้ "ชายมูอัลลัฟ" โดยเฉพาะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตกเป็นเป้าสังหารอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ประเด็น กล่าวคือ
1.ถูกสังหารจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ข้อมูลจากพื้นที่พบว่า ชายไทยพุทธที่เข้ารับอิสลามและครองรักอยู่กับสาวมุสลิมในพื้นที่ หากไม่ย้ายกลับภูมิลำเนาของฝ่ายชายนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนมากความสัมพันธ์มักไม่ยั่งยืน ฝ่ายชายมักจะถูกลอบยิงและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบข้อเท็จจริงว่า ชายไทยมุสลิมที่เป็นทหาร ไม่ว่าจะ "ทหารเขียว" หรือ "ทหารพราน" รวมทั้งตำรวจ ก็จะตกเป็นเป้าของการถูกเอาชีวิตเช่นเดียวกัน โดยชายไทยมุสลิมเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากภาคใต้ตอนบน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราเสี่ยงแล้ว โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะถูกทำร้ายมีมากพอๆ กับชายชาวมลายูมุสลิมที่ไปทำงานให้กับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหารพราน อส. (อาสารักษาดินแดน) สายข่าว หรือลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท เพราะถือว่าเลือกยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ถูกล่าสังหารไปไม่น้อยเช่นกัน
การสร้างความชอบธรรมของฝ่ายขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในการ "จัดการ" บรรดาชายมูอัลลัฟที่เป็นเจ้าหน้าที่ ก็คือการปล่อยข่าวกับชาวบ้านว่า เจ้าหน้าที่ไทยพุทธที่เข้ารับอิสลามเป็นบุคคลที่พยายามจะเข้ามาหาข้อมูลจากพี่น้องมุสลิม จึงแกล้งมารักสาวมุสลิม และลงทุนแต่งงาน สุดท้ายเมื่อได้ข้อมูลที่พอใจแล้วก็จะทิ้งไป
หลายกรณีที่คู่รักระหว่างทหารกับสาวมุสลิมต้องเลิกร้าง ฝ่ายหญิงต้องกลายเป็นหม้าย ฝ่ายชายเดินทางกลับภูมิลำเนา ก็จะถูกกลุ่มขบวนการนำมากระจายข่าวและยกขึ้นเป็นตัวอย่าง จนเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อสนิทใจ และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มักมีความรู้สึกไม่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารที่ชอบพอกับสาวมุสลิม
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งที่ทำให้ข้อกล่าวหาของฝ่ายขบวนการมีน้ำหนักมากขึ้น ก็คือมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งตั้งใจหลอกสาวมุสลิมจริงๆ หลายรายมีครอบครัวลูกเมียอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมียศและตำแหน่งสูงด้วย แต่เมื่อลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ไปสร้างสัมพันธ์กับสาวชาวบ้าน เมื่อคบหากันก็ยังพูดจาให้ความหวัง หรือบางรายก็พาไปแต่งงานแบบลับๆ บางรายก็ทำผิดพลาดจนตั้งท้องขึ้นมา บางรายก็พาไปทำแท้ง แล้วไม่รับผิดชอบ หรือบางรายก็แค่รักสนุก ดังเช่นกรณีของคลิปอนาจารสาวมุสลิมที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นข่าวฉาวไปทั่วพื้นที่
เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและบอกเล่ากันแบบปากต่อปาก ทำให้ "ชายมูอัลลัฟ" ถูกต่อต้านจากชาวบ้านส่วนใหญ่ และเป็นเรื่องง่ายที่จะถูก "จัดการ" จากฝ่ายขบวนการ
2.ถูกล้างแค้นจากปมชู้สาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาวมุสลิมหน้าตาดีผู้เป็นที่หมายปองของเจ้าหน้าที่รัฐจากแดนไกลที่ล่องใต้ไปปฏิบัติภารกิจสร้างสันติสุขนั้น ย่อมต้องเป็นที่หมายปองของหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ในพื้นที่เช่นเดียวกัน
สาวมุสลิมบางคนมีแฟนเป็นหนุ่มมลายูที่รักชอบพอกันอยู่แล้ว บางคนแต่งงานอยู่กินกันแล้ว บางคนมีลูกแล้วอีกต่างหาก แต่เรือรักกลับต้องอับปางลงเพราะมีหนุ่มเจ้าหน้าที่ไทยพุทธเป็น "มือที่สาม"
แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ย่อมตกเป็นเป้าสังหาร ซึ่งมีทั้งที่ลงมือเอง ยืมมือขบวนการ หรือไม่ก็สร้างสถานการณ์ให้คล้ายกับเป็นการกระทำของขบวนการก่อความไม่สงบ
หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ค่อนข้างมีทัศนคติเป็นลบกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร แต่เหตุใดสาวมุสลิมจึงตกลงปลงใจรักใคร่ชอบพอกับทหารเป็นจำนวนมาก? ประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้เช่นกัน
มาหามะ ยูโซ๊ะ วัย 55 ปี ชาวบ้าน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้เด็กสาวมุสลิมคบหากับเจ้าหน้าที่ทหารมากขึ้นจริง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเด็กวัยรุ่นชายในพื้นที่จำนวนมากติดยา โดยเฉพาะน้ำใบกระท่อม 4 คูณร้อย วันๆ คิดแต่ว่าจะหาเงินซื้อยาได้จากที่ไหน เมื่อเป็นอย่างนี้สาวคนใดจะสนใจ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ทหารมาตั้งด่านตรวจทุกวัน ได้เจอกันทุกวัน ก็เลยใจอ่อน
นอกจากนั้น เด็กหนุ่มในพื้นที่สมัยนี้ยังว่างงานเยอะ ไม่ค่อยมีงานทำ ผิดกับทหาร ตำรวจที่มีงาน มีเงินเดือน มีเครื่องแบบ ใครเห็นใครก็ชอบ
"เด็กผู้ชายบ้านเราวันๆ ไม่เคยเห็นหน้า อยู่แต่ในป่ากินน้ำกระท่อม แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาจีบสาว ตรงนี้ที่เป็นช่วงว่างให้ทหารกับเด็กสาวบ้านเราชอบพอกัน ไม่ต้องไปโทษใคร ต้องโทษตัวเราเอง" มาหามะ บอก
3.เลือกทางตายเพื่อหนีปัญหาครอบครัว
มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ "ทหารมูอัลลัฟ" ต้องเจอกับแรงกดดันทางสังคมและสภาพวัฒนธรรมที่แตกต่างหลังจากตกลงปลงใจอยู่กินกับสาวมุสลิมแล้ว สุดท้ายก็ไปกันไม่ได้ และเลือกหนทางเลิกรา ย้ายกลับบ้านเกิด หรือฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา
มีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่บ้านปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา หนุ่มไทยพุทธซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ไปรักชอบพอกับสาวมุสลิม จึงตัดสินใจเข้ารับอิสลาม แต่งงาน และยอมลาออกจากราชการเพื่อสร้างครอบครัวอยู่กินกันในพื้นที่ตามความตั้งใจที่ดีของฝ่ายชาย กระทั่งมีลูกชายด้วยกัน 1 คนให้ได้ชื่นใจ
แต่ตลอดระยะเวลาที่แต่งงานอยู่กินกันนั้น ชายมูอัลลัฟรายนี้ต้องถูกแม่ภรรยา (แม่ยาย) กีดกัน ยิ่งเมื่อตัดสินใจลาออกจากราชการ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขึ้น เนื่องจากต้องไปทำงานสวนงานไร่ที่ตัวเองไม่เคยทำ ชีวิตคู่เริ่มมีอุปสรรค ทั้งสองมีปากเสียงกันบ่อย ซ้ำยังถูกแม่ยายต่อว่าซ้ำ สุดท้ายชายมูอัลลัฟก็ตัดสินใจหนีกลับภูมิลำเนา และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ภรรยาของเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากทางบ้านสามีว่า เขาผูกคอตายลาโลกไปเสียแล้ว...
กองปัญหาที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ชีวิตคู่ของทหารมูอัลลัฟกับสาวมุสลิมไม่ได้จบลงที่ความตายของฝ่ายชาย แต่ยังมีปัญหาบานปลายที่ความตายก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ซ้ำยังก่อปัญหาหนักขึ้น โดยเฉพาะสถานะทางสังคมของสาวมุสลิมที่ต้องตกเป็นหม้าย บางรายก็ตกเป็นเป้าสังหารไปด้วย
สาวมุสลิมหลายคนหนีตามฝ่ายชายที่เป็นเจ้าหน้าที่กลับไปยังภูมิลำเนาของคนรัก แต่สุดท้ายก็ปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่นั่นไม่ได้ ต้องซมซานกลับมาก็มีไม่น้อยเหมือนกัน
ซ้ำร้ายหลายรายมีลูกด้วยกัน แต่ถูกฝ่ายชายทิ้ง หรือฝ่ายชายถูกฆ่าตาย ลูกก็ต้องกลายเป็นกำพร้า เป็นปัญหาสังคมหมุนวนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ส่วนเหยื่อความรุนแรงนั้นเล่า กระสุนแต่ละนัดที่ถูกส่งจากรังเพลิงด้วยความแค้น มักก่อความเสียหายมากมายกว่าที่คาดคิดไว้เสมอ...
อย่างกรณีของ นายยุทธนา จือยือแร อดีตทหารพรานที่กำลังเข้าพิธีแต่งงานกับสาวมุสลิม และถูกยิงเสียชีวิตกลางงานแต่งที่บ้านเจ้าสาว ข่าวร้ายนี้ทำให้แม่ของเขาช็อคและสิ้นใจตามลูกชายไปอีกคน ส่วนพ่อของเขาก็ยังนอนรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บเพราะถูกคนร้ายลอบยิงก่อนที่ลูกชายจะเสียชีวิตไม่นาน
ขณะที่ฝ่ายเจ้าสาว ถึงวันนี้ทั้งครอบครัวยังไม่หายหวาดผวา ใครผ่านไปผ่านมาแถวๆ บ้านก็อกสั่นขวัญหายคิดว่าเป็นคนร้ายไปเสียหมด ส่วนตัวว่าที่เจ้าสาวนั้นก็ยังอยู่ในอาการโศกเศร้า และแทบไม่ยอมพบหน้าผู้คน
"คนร้ายใจเย็นมาก แฝงตัวเข้ามาเป็นแขกรับประทานอาหารในงาน เสร็จแล้วจึงเดินเข้าไปหาเจ้าบ่าว ขณะที่เจ้าบ่าวกำลังรับแขกไม่ได้ระวังตัว คนร้ายก็เข้าไปกอด จากนั้นใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ยิงใส่ 6 นัดซ้อน ก่อนจะวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่หลบหนีไป ท่ามกลางสายตาของคนที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก" นางแมะซง สะนิ ญาติของว่าที่เจ้าสาว เล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้ฟัง
ส่วน ส.ต.ต.อิสมาแอ อาแว อายุ 26 ปี ตำรวจ สภ.รือเสาะ ที่ถูกยิงขณะเตรียมงานแต่งงานอยู่ที่บ้านเจ้าสาวที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รายนี้แม้ตัวเองจะรอดตาย แต่น้าชายกลับต้องสังเวยชีวิต ส่วนบิดาก็ได้รับบาดเจ็บ
นี่คือผลสะเทือนจากความรุนแรงที่เหยื่อไม่รู้จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ใด...
หัวอก "ทหารมูอัลลัฟ"
ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า แม้ชะตากรรมของ "ชายมูอัลลัฟ" จะสุ่มเสี่ยงกลายเป็นศพ แต่ความจริงในพื้นที่ที่พานพบ ก็ยังมีทหารตำรวจไทยพุทธยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความรักอีกเป็นจำนวนมาก
พวกเขาคิดกันอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย...
ทหารมูอัลลัฟวัย 48 ปี ยศ "ร้อยเอก" ซึ่งแต่งงานอยู่กินกับสาวมุสลิมในพื้นที่มาแล้ว 2 ปี โดยหลังจากแต่งงานตามประเพณีได้เปลี่ยนชื่อเป็นอิสลาม เขาเล่าให้ฟังว่า พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช ลงมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ จ.ยะลา ได้ 7 ปีกว่าแล้ว เขาเองเคยมีภรรยา แต่ภรรยาเก่าเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวเมื่อปี 2548 จึงตัดสินใจย้ายมาประจำอยู่ที่ จ.ยะลา และได้พบกับภรรยาของเขาในปัจจุบันนี้ ซึ่งตอนที่พบกันเธอเป็นหม้าย อายุ 30 ปี เพราะสามีเพิ่งถูกยิงเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ
"รู้จักกันช่วงที่แฟน (หมายถึงภรรยาในปัจจุบัน) มาติดต่อเรื่องเงินเยียวยาของสามีซึ่งเป็นลูกจ้างในหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ ครั้งแรกที่พบกันก็รู้สึกสงสารและเห็นใจ เมื่อได้คุยกับบ่อยขึ้นก็รู้สึกสบายใจ ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ผมเป็นหม้ายเมียตาย เขาเป็นหม้ายสามีเสียชีวิต เรามีอะไรเหมือนกันหลายอย่าง ผมมีลูก 2 คน เขาก็มีลูก 2 คนเหมือนกัน เราจึงตกลงอยู่กินกันด้วยความรักและความเข้าใจ"
ทหารมูอัลลัฟ เล่าต่อว่า ช่วงที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ก็คิดอยู่นานเหมือนกัน โดยเฉพาะการเข้าไปขอฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ของเธอ เพราะขอกลัวว่าทางบ้านจะไม่ยอมรับ
"ผมก็อาศัยความพยายาม เข้าหาครอบครัวเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ช่วยเหลือครอบครัวเขาทุกเรื่อง จนครอบครัวเขายอมรับเราได้ ตอนนี้แต่งงานมาแล้ว 2 ปี ทางครอบครัวแฟนก็แบ่งที่ดินให้เราสร้างบ้านอยู่ด้วยกัน"
กับสถานการณ์ที่ทหารมูอัลลัฟตกเป็นเป้าสังหาร ผู้กองวัย 48 ปีรายนี้ยอมรับว่า รู้สึกกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ระวังตัว
"บ้านที่ทางครอบครัวแฟนยกให้ เราก็ไม่ได้กลับบ่อยๆ เพราะกลัว เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร พยายามไม่เข้าออกพื้นที่บ่อยๆ เวลาเย็นๆ สมมติสัก 5 โมงเย็น ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง ไม่ไปอยู่ตามท้องถนน วันไหนที่ต้องไปนอนค้างบ้านแฟนจะรู้สึกยิ่งกังวล หวาดกลัว ต้องระวังตัวตลอดเวลา อย่างน้อยปืนก็ต้องอยู่ติดมือหรือกระเป๋าสะพาย"
"บางครั้งก็ตลกตัวเอง นั่งหัวเราะกับแฟนว่าเรากลายเป็นคนหวาดระแวงไปเลยหรือ เรากำลังกลัวอะไร ใครจะมาทำร้ายเรา สิ่งที่เรากลัวมันมีจริงหรือ แต่ก็ไม่เคยได้คำตอบ แต่ผลของมันคือมีเพื่อนที่เป็นทหารแล้วแต่งงานกับสาวมุสลิมต้องเสียชีวิตไปหลายรายแล้ว"
ผู้กองมูอัลลัฟรายนี้เผยความในใจอย่างไม่ปิดบัง เขาบอกว่าสักวันหนึ่งหวังเอาไว้ว่าคนในพื้นที่จะเข้าใจความรักและความปรารถนาดีของเขาที่มีต่อภรรยาและครอบครัวของภรรยา
"ผมก็คงต้องอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ หวังว่าสักวันคนที่มองเราไม่ดีในวันนี้จะเข้าใจความปรารถนาดีของเรา เราไม่ได้คิดมาทำร้ายใคร ไม่เคยเข้ามาสร้างปัญหา ที่มาเพราะรักและห่วงภรรยาเราเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์อื่นเลย"
เขายังบอกด้วยว่า เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ไม่ใช่เฉพาะทหารมูอัลลัฟที่ตกเป็นเป้าสังหาร แต่ฝ่ายหญิงก็อยู่ในอันตรายเช่นเดียวกัน
"แฟนถูกมองว่าเป็นคนไม่ค่อยดีที่มารักชอบกับคนต่างศาสนา คือสังคมพยายามสร้างความแตกแยกให้กับครอบครัวของแฟนด้วย ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้มีความสนิทสนมกับครอบครัวแฟนเขาก็จะเชื่อไปเลย ส่วนคนที่สนิทสนมก็ยังพออธิบายให้รู้เรื่องได้ แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงที่มาแต่งงานกับชายมูอัลลัฟต้องอยู่ในอันตรายไม่ต่างจากคนที่เข้ารับอิสลาม"
"ถ้าผมจะฝากบอกไปได้ก็อยากจะบอกว่า คนที่ยังมีความคิดว่าพวกเราเข้ามาสร้างความขัดแย้ง ก็อยากให้คิดใหม่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ความจริงคือเรารักภรรยา เราก็ต้องรักศาสนาของภรรยาด้วย อยากให้เข้าใจตรงนี้"
เป็นความในจากหัวอก "ทหารมูอัลลัฟ" กับตำนานรักระหว่างรบที่อาจจบลงด้วยคราบน้ำตา...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : คลิปพลทหารอนาจารสาวมุสลิม กับความจริงของสังคมชายแดนใต้
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/5771-2012-03-07-08-14-29.html