ปตท.–กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมมือพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุนการผลิตเกษตรกร
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมพัฒนาที่ดิน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือส่งเสริมความรู้และ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ชุมชนและการพัฒนาการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มุ่งลดภาระต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรม สร้างความเข้มแข็งเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 ณ ห้อง Executive Lounge อาคาร Energy Complex C นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และนางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินให้แก่เกษตรกรไทย มุ่งลดภาระต้นทุนภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย พร้อมส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนองค์ความรู้การใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และอบรมวิธีการผสมปุ๋ยให้เหมาะกับค่าวิเคราะห์ดินและพืชที่เพาะปลูก โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่อง การให้ความรู้เรื่องข้อมูลดิน การอบรมการวิเคราะห์ดินให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนชุดตรวจสอบดินภาคสนาม เพื่อให้การผลิตและการใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพดินและพืชแต่ละชนิดที่เกษตรกรต้องการเพาะปลูก
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ปตท. พร้อมสนับสนุนภาครัฐ ช่วยบรรเทาปัญหาต้นทุนการผลิตภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาปุ๋ย โดยเล็งเห็นโอกาสในการนำรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และแนวทางการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ในสถานีบริการ (Zero Waste) มาปรับใช้ในโครงการนำร่อง เพื่อหาแนวทางในการนำขยะอินทรีย์ในชุมชนมาหมุนเวียนผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้เพาะปลูกพืชในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่กัน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผลของการดำเนินโครงการนำร่อง จะเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นทั่วประเทศนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป