เปิดทีโออาร์แผนน้ำรัฐบาล 3 โครงการบิ๊ก ฟาดงบฯกว่าครึ่ง
เปิดทีโออาร์กรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำยั่งยืน พบ 3 โครงการจาก 8 โครงการหลัก บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฟาดงบกว่าครึ่ง
"สำนักข่าวอิศรา" พลิกเอกสารทีโออาร์ โครงการการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ภายใต้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยื่นหลักฐานรับเอกสารกรอบแนวคิดดังกล่าว ระหว่างวันที่ 9-23 ก.ค. 2555 นี้
พบ 3 โครงการจาก 8 โครงการหลักบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่น่าสนใจ ติดโผใช้งบประมาณสูงอันดับต้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ “มวลชน” จำนวนมาก ดังนี้
สร้าง 21 อ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้าน “แก่งเสือเต้น-แม่วงก์” ไม่รอด!
เริ่มต้นที่แผนงานแรก โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ความจุรวมประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม. ภายใต้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท
เอกสารระบุชัดเจนว่า มีพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใน 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อทำหน้าที่ปรับอัตราการไหลน้ำหลากสูงสุด (peak discharge) ไม่ให้เกินขีดความสามารถของแม่น้ำที่รองรับการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
สำหรับพื้นที่ "ลุ่มน้ำปิง" จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ที่จะมีความจุประมาณ 134.694 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน ประมาณ 71,836 ไร่ 2.อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมากและคลองขลุง ที่จะประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แห่ง มีความจุรวมประมาณ 39 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมากและคลองขลุง ที่นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทาน ประมาณ 15,518 ไร่
ในส่วนพื้นที่ "ลุ่มน้ำยม" จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น ที่มีความจุประมาณ 1,175 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่นอกจากจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานประมาณ 774,200 ไร่
ขณะที่พื้นที่ "ลุ่มน้ำน่าน" จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำน้ำปาด ที่มีความจุประมาณ 58.9 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทานประมาณ 32,250 ไร่ 2.อ่างเก็บน้ำคลองชมพู ซึ่งมีความจุประมาณ 43 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทาน ประมารณ 20,000 ไร่ และอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ยังจะเป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติและรักษาความสมดุลระบบนิเวศได้อีกด้วย
ทางด้านพื้นที่ "ลุ่มน้ำสะแกกรัง" จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ที่มีความจุประมาณ 258 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์
และสุดท้าย พื้นที่ "ลุ่มน้ำป่าสัก" จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำป่าสักตอนบน ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำจำนวน 13 แห่ง มีความจุรวม 98.59 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานอีกประมาณ 56,300 ไร่ เป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติและรักษาความสมดุลระบบนิเวศได้อีกด้วย
สำหรับหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ จะประกอบไปด้วย กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ในทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สพว.) ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งองค์กรเอกชนและมูลนิธิต่างๆ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ถึง 5 ปี
เจาะ ‘แก้มลิง’ 2 ล้านไร่ 12 จว.ชุ่มน้ำ กลายเป็นที่เก็บน้ำหลากชั่วคราว
ลำดับต่อมาคือ "พื้นที่แก้มลิง" หรือโครงการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทาน เหนือนครสวรรค์ 1,000,000 ไร่ และเหนืออยุธยา 1,000,000 ไร่ รวม 2,000,000 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำหลากชั่วคราว (Floodplain) ประมาณ 6,000-10,000 ล้านลบ.ม.
โครงการนี้จะใช้กักเก็บปริมาณน้ำหลาก ในส่วนที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะระบายกลับสู่แม่น้ำภายหลัง รัฐบาลตั้งเป้าใช้งบประมาณดำเนินการ 60,000 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดพื้นที่ดำเนินการ แบ่งชัดๆ เป็นพื้นที่เหนือนครสวรรค์ ประมาณ 1,000,000 ไร่ ประกอบด้วย
1.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ถนนเลียบแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ถึงถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยอำเภอเมือง ชุมแสง เก้าเลี้ยว ท่าตะโก ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว และอื่นๆ
2.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก ถึงถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย อำเภอเมือง บางมูลนาก ตะพานหิน โพทะเล บึงนาราง โพธิ์ประทับช้าง สามง่าม วชิรบารมี ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี และอื่นๆ ฯลฯ
3.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก ถึงถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยอำเภอเมือง บางกระทุ่ม พรหมพิราม บางระกำ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ฯลฯ
4.พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ ประกอบด้วยอำเภอเมือง พิชัย ตรอน ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์, อำเภอเมือง กงไกรลาศ คีรีมาศ ศรีสำโรง สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา โดยใช้น้ำบาลดาลเพื่อการเกษตรกรรม (บริเวณศรีสำโรง สวรรคโลก พิชัย ฯลฯ)
พื้นที่เหนืออยุธยา ประมาณ 1,000,000 ไร่ ประกอบด้วย
1.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ของกรมชลประทาน ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง และอยุธยา
2.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม ของกรมชลประทาน ในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี และอยุธยา
3.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแคบางส่วน ในจังหวัดลพบุรี
4.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง ในเขตจังหวัดสระบุรีและอยุธยา
5.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุบางส่วน ในจังหวัดสิงห์บุรี
6.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา
7.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา
8.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอยุธยา และสุพรรณบุรี
9.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิพระยา ในจังหวัดสุพรรณบุรี
10.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล จังหวัดอยุธยา
11.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จังหวัดอยุธยาและสุพรรณบุรี
12.พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม
ส่วนงานที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.การ ปรับปรุงคันดินปิดล้อมพื้นที่เกษตรชลประทาน รวมทั้งประตูน้ำ คลองระบายน้ำ เส้นทางน้ำหลาก สถานีสูบน้ำออก ให้พร้อมใช้งานในการควบคุมการนำน้ำเข้า การกักเก็บน้ำ และการระบายน้ำ และจัดทำสถานีสูบน้ำเข้าคลองชลประทานให้พร้อมใช้งานในการส่งน้ำเพื่อ เกษตรกรรม
2.ประชุมชี้แจงราษฎร เกษตรกรให้เกิดความเข้าใจ และเห็นถึงความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเก็บกักน้ำ
3.กำหนดมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือระหว่างน้ำท่วม ฟื้นฟูหลังน้ำท่วมที่ชัดเจนตามความเป็นจริงและทันกาล และประกาศให้ทราบตั้งแต่แรก
4.กำหนดการผันน้ำและเวลาที่จะผันน้ำเข้าในพื้นที่ การแจ้งข่าว การติดตาม การประสานงาน การให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน
5.ปรับ ปรุงระบบพื้นที่ปิดล้อมชุมชนในพื้นที่ในข้อ 1. ให้พร้อมใช้งาน (คัน ประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ คลองระบายน้ำ ท่อ ฯลฯ) โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับจังหวัด เทศบาล และอบต.ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
6.กำหนดระดับและปรับปรุงคันป้องกัน พื้นที่เกษตรกรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอาคารปากคลองแยก และคลองระบายน้ำ (รับน้ำจากปตร.ระบายน้ำปากคลอง) ที่อยู่นอกพื้นที่ในข้อ 1. ให้ได้ตามที่กำหนด และพร้อมใช้งาน โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน ประสานจังหวัด อบจ. และอบต.ดำเนินการ
และห้ามมีการเสริมคันชั่วคราว (เช่น คันดิน กระสอบทราย) เพิ่มเติมก่อนได้รับอนุญาต ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปใช้เวลาดำเนินการ 3-5 ปี
อภิโปรเจกต์ฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้าน เหนือเขื่อนเจ้าพระยา-อ่าวไทย
ปิดท้ายด้วย โครงการจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการจัดทำทางหลวงระดับประเทศไปพร้อมๆ กัน วงเงินงบประมาณ 120,000 ล้านบาท
กำหนดพื้นที่ดำเนินการ คือ ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออกและ/หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาถึงอ่าวไทย ความยาว 250 กม. เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย
โดยงานที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1.เลือกรูปแบบของทางน้ำหลาก จะเป็น Floodway หรือ Flood diversion channel โดยการเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก ประกอบด้วย เกณฑ์ด้านวิศวกรรม เกณฑ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเกณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม สิ่งแวดล้อมและนิเวศ
2.เลือกแนวทางของน้ำ โดยการเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก
3.วิเคราะห์ค่าใช้จ่าย และรายรับ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นไปได้
4.วิเคราะห์การจัดทำฟลัดเวย์ และการคมนาคม (logistic) ไปพร้อมกัน สำหรับรองรับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอนาคต
และ 5.เลือกรูปแบบการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าวนั้น เอกสารระบุไว้ว่าคือ กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมประมง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ สฝ.ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง ของกระทรวงคมนาคม กรมที่ดิน ของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปใช้เวลาดำเนินการ 3 ถึง 5 ปี เช่นกัน
ทั้งนี้ ถ้านับรวมงบประมาณเพียงแค่ 3 โครงการระดับบิ๊กข้างต้นก็ใช้งบฯ ไปแล้ว 2.3 แสนล้านบาทจากยอดงบฯ ลงทุนโครงการในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมดประมาณ 3 แสนล้านบาท
หมายเหตุ- เอกสารโครงการ การเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบ แก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน
รายละเอียดเพิ่มเติม: Back bone โครงการที่จะต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบบบูรณาการและยั่งยืน (ระยะยาว)