3 แบงค์รัฐ ออกมาตรการยืดเวลาชำระหนี้-ลดดอกช่วยชาวบ้านน้ำท่วม
ธ.ก.ส.ควัก 19 ล้าน บรรเทาเดือดร้อนเฉพาะหน้าผู้ประสบอุทกภัย เสียชีวิตตัดหนี้สูญ-ขยายเวลาชำระ-งดดอก 3 ปี ธอส.ดัน 5 มาตรการเงินกู้ลดภาระหนี้-ปลูกซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย ออมสินพักชำระหนี้เงินต้น-ดบ.โครงการธนาคารประชาชน-แก้หนี้นอกระบบ-สินเชื่อองค์กรชุมชน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ ประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้เตรียมวงเงินบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า 19 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เช่น การจัดถุงยังชีพ เงินช่วยเหลือ การสนับสนุนหรือส่งเสริมอาชีพ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือหนี้สิน จะจำหน่ายหนี้สูญในกรณีลูกค้าเสียชีวิตจากภัยดังกล่าว ส่วนเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายในการประกอบอาชีพจะขยายเวลาชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ย 3 ปี กรณียังไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพตลอดจนให้กู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่เรียกเก็บจากลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปีเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี พร้อมกำหนดเกณฑ์การชำระหนี้ตามความสามารถของลูกค้า และลดหย่อนหลักประกันเงินกู้จากหลักเกณฑ์ปกติ โดยกรณีใช้อสังหาริมทรัพย์จำนองจะขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง กรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จะขยายวงเงินในการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ณ วันที่ 31 มี.ค.มีลูกค้าได้รับความเดือดร้อน 51,508 ครอบครัว ต้นเงินคงเป็นหนี้ 4,138 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย ประกอบด้วย นาข้าว 200,804 ไร่ ข้าวโพด 1,000 ไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น/ไม้ประดับ 160,703 ไร่ พืชผัก 266,230 ไร่ ประมง 14,215 ไร่ และปศุสัตว์ 491,268 ตัว
ด้าน นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าสำหรับผลกระทบทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย ธนาคารฯได้ผ่อนผันการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อเคหะไม่เกิน 6 เดือน หรือพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับลดเงินงวด รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระ นอกจากนี้ลูกค้าเดิมสามารถยื่นกู้เพิ่มเติมกรณีฉุกเฉินในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 300,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินฯ โดยคิดดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.25 ต่อปี และปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทมีระยะเวลา หรือ MLR–1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR อยู่ที่ 6.25 ต่อปี) และชำระเงินกู้ในส่วนที่กู้เพิ่มเติมไม่เกิน 5 ปี
ขณะ เดียวกันผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อเคหะ สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.25 ต่อปี และปีที่ 3-5 เท่ากับ MLR–1 ต่อปี
นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน(หนี้นอกระบบ) ธุรกิจห้องแถว และสินเชื่อองค์กรชุมชน พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือน พร้อมทั้งปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี อีกทั้งยังสามารถยื่นกู้เพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR+1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR 6.75 ต่อปี) สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจห้องแถวสามารถกู้เพิ่มเติมได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR–1.50 ต่อปี ระยะเวลาชำระไม่เกิน 5 ปี สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ลูกค้าสามารถยื่นกู้กับธนาคารออมสินได้ในวงเงินและเงื่อนไขเดียวกับลูกค้าธนาคาร
ทั้งนี้ธนาคารออมสินยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและ SMEs โดยให้พักชำระหนี้เงินต้นและผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน พร้อมขยายเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญากู้เดิมได้ไม่เกิน 1 ปี และยังสามารถยื่นกู้เพิ่มเติมได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาชำระไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR–1.50 ต่อปี โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องไม่เคยเป็นหนี้ค้างชำระกับธนาคารฯ
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่าธนาคารได้ออก 5 มาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าธนาคาร กรณีหลักประกันได้รับความเสียหาย จะยกเว้นการผ่อนชำระเงินงวดค่าบ้าน 4 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1–4 = 0% ต่อปี จากนั้นให้เลือก 2 แบบ แบบที่ 1 เดือนที่ 5-24 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี เดือนที่ 25–36 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี จากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร แบบที่ 2 เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี จากนั้นลอยตัวตามประกาศธนาคาร
มาตรการที่ 2 กรณีลูกค้าได้รับผลกระทบด้านรายได้ จะลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ต่อปี เวลา 1 ปี จากนั้นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว มาตรการที่ 3 กรณีลูกค้าได้รับอุบัติเหตุจากน้ำท่วมจนทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลากู้ที่เหลืออยู่ มาตรการที่ 4 กรณีอาคารที่อยู่อาศัยพังเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ได้รับการปลดภาระหนี้ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ
มาตรการที่ 5 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส.และลูกค้าใหม่ที่อาคารได้รับความเสียหายสามารถขอกู้เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิมและซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.00 % ต่อปี 5 ปี จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศของธนาคาร ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.75 %ต่อปี วงเงินให้กู้สูงสุด 100 % ของราคาประเมิน ค่าก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคาร โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่ 1 เม.ย.54-31 พ.ค.54 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th .
ที่มาภาพ : http://www.crystalformula.co.th/fmcq.asp