สปสช.ประชาพิจารณ์ “ร่างเกณฑ์ประเมินหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจ”
สปสช.เปิดเวทีประชาพิจารณ์ “ร่างเกณฑ์ตรวจประเมินหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจ” ดึงผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน และหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจ 56 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสะท้อนความเห็น ยกคุณภาพรักษาผู้ป่วยและพัฒนาหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจในระบบบัตรทอง
นพ.สมภพ พระธานี นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์ (ร่าง) เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน ผู้แทนหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 56 แห่ง และผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นพ.สมภพ กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนไทยนอกจากอุบัติหตุและมะเร็ง การผ่าตัดหัวใจเป็นหนึ่งในการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและได้บรรจุในสิทธิประโยขน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย และสร้างเครือข่ายหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจเพื่อเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน โดยในปี 2549-2551 มีการจัดทำหลักเกณฑ์การรักษาและกำหนดราคาชดเชยบริการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาผ่าตัดหัวใจทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจเยี่ยมประเมินหน่วยบริการ และข้อมูลการศึกษาโดยสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่การปรับปรุงและจัดทำร่างเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด
ในการจัดทำร่างเกณฑ์การตรวจประเมินฯ ดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและรอบด้าน คณะทำงานพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดฯ และ สปสช.จึงจัดการประชุมประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การตรวจประเมินฯ นี้ ความเห็นและข้อมูลต่างๆ ที่รับฟังและรวบรวมวันนี้จะนำไปปรับปรุงและเพิ่มเติมในร่างเกณฑ์การตรวจประเมินฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานฯ จะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 นี้ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาและประกาศต่อไป
ด้าน นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า ร่างเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ปรับปรุงนี้ ประกอบด้วยมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรฐานด้านสถานที่และอุปกรณ์ อาทิ ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยวิกฤต และหอผู้ป่วยทั่วไป เป็นต้น 2.มาตรฐานด้านบุคลากร 7 กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก อายุแพทย์โรคหัวใจ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก วิสัญญีพยาบาลและพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 3.มาตรฐานด้านการจัดการ 4.มาตรฐานด้านการให้บริการ และ 5.มาตรฐานด้านการจัดการข้อมูล ไม่เพียงแต่เป็นการดูแลให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนามาตรฐานการผ่าตัดผู้ป่วยหัวใจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมเวทีประชาพิจารณ์ฯ ได้แก่ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมกุมารแพทย์โรคหัวใจ สมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก (Perfusionist) คณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ชมรมพยาบาลวิสัญญีแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก (แห่งประเทศไทย) และสภาการพยาบาล