เรือนจันแลนด์ : แดนฝึกอาชีพผู้ต้องขังสู่การยอมรับในสังคม
'เรือนจันเเลนด์' จ.จันทบุรี สถานีฝึกทักษะวิชาชีพผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ เพิ่มโอกาสกลับมาใช้ชีวิต ไม่กระทำผิดซ้ำ
โครงการเรือนจันแลนด์ จังหวัดจันทบุรี เป็นสถานีฝึกทักษะวิชาชีพให้เเก่ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ ได้นำความรู้จากการฝึกอาชีพมาประยุกต์ใช้และปฏิบัติจริงภายนอกเรือนจำ เพื่อให้มีโอกาสในการปรับตัวเข้ากับสภาพสังคม จนนำไปสู่การประกอบอาชีพและไม่กระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขัง
“ผมมองว่าคนจันทบุรีต้องให้โอกาสและมอบความรัก ถ้าไม่มอบความรักด้วยโอกาส พวกเขาก็จะกลับมาทำลายสังคม เพราะว่ามีการตีตรา ว่าเป็นคนไม่ดี จนทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก และเมื่อกลับเข้าไปในคุก พอออกมาจากคุกก็จะร้ายยิ่งกว่าเดิม และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยิ่งจะทำให้สังคมเริ่มเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ”
ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี เริ่มให้ข้อมูลการจัดทำ “เรือนจันแลนด์” เพื่อรองรับการฝึกอาชีพผู้ต้องขัง ว่าเป็นการเปิดเรือนจำสู่สังคมและเพื่อรองรับการแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยจัดตั้งพื้นที่ให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษได้นำความรู้จากการฝึกอาชีพมาประยุกต์ใช้และปฏิบัติจริง นอกจากนี้ยังเป็นการให้ผู้พลั้งพลาดเหล่านี้ได้มีโอกาสปรับตัวกับสภาพสังคมภายนอกเรือนจำ ตลอดจนมีวิชาชีพติดตัวสามารถพึ่งตนเองได้ภายหลังการพ้นโทษ อีกทั้งยังเป็นการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจังหวัดจันทบุรี
โดยในปี 2561 พบว่า การกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหลังการปล่อยตัวลดลงเหลือ 6% ในรอบหนึ่งปีของการจัดตั้งโครงการ
สำหรับโครงการเรือนจันแลนด์ ประกอบไปด้วย 7 สถานี
1.เรือนจัน ครัวไทย (ฝึกอาชีพการทำอาหาร ขายอาหาร)
2.เรือนจัน Tree Cafe : กาแฟ & เบเกอรี่ (ฝึกอาชีพการขายกาแฟ เบเกอรี่)
3.เรือนจัน Green Outlet : จำหน่ายผักปลอดสารพิษ (ฝึกการทำผักปลอดสารพิษ)
4.เรือนจำ พิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์ เสื่อจันทบูร : โชว์เสื่อลายโบราณ การสาธิตและจำหน่าย (ฝึกพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อ)
5.คุกขี้ไก่จำลอง : สำหรับนักท่องเที่ยวถ่ายรูป (จุดดึงคนเข้าโครงการ)
6.เรือนจัน สบาย : นวดดัด จัดสรีระ (ฝึกการนวดฝ่าเท้า)
7.เรือนจัน คาร์แคร์ : บริการล้าง อัด ฉีดรถยนต์ (ฝึกการล้างรถยนต์)
โดยโครงการเรือนจันแลนด์ เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นมาจากการระดมความคิดของคนจันทบุรีในการทำความเข้าใจและตีความกับความต้องการผู้ต้องขังหญิง โดยเอาผู้ต้องขังเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพบว่าการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังหญิงในกำแพงเรือนจำไม่สามารถตอบโจทย์การมีงานทำหลังพ้นโทษได้ ด้วยข้อกำจัดหลายประการจึงเป็นที่มาของการมีวิชาการฝึกอาชีพผู้ต้องขังใหม่ เป็นแนวที่ไม่เคยมีการทำมาก่อนเป็นนวัตกรรม และนำไปสู่การลงปฏิบัติและพัฒนา โดยจัดส่งผู้ต้องขังหญิงออกมาฝึกวิชาชีพขายอาหารที่ครัวจันก่อน
ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดี จึงขยายต่อเป็นสถานีอื่น ๆ เป็นเรือนจันแลนด์ เป็นสถานีฝึกอาชีพครบวงจรที่ผู้ต้องขังหญิงสามารถฝึกอาชีพในสนามจริง ขณะเดียวกันก็ทดสอบจิตใจการยอมรับกลับสู่สังคมของคนจันทบุรี และทำให้ผู้ต้องขังมีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้
ในส่วนของการคัดเลือกผู้ต้องขังออกไปดำเนินการในโครงการจันแลนด์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ระบุ ผู้ต้องขังหญิงทุกคนที่จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจันทบุรี จะต้องมีเป้าหมายในชีวิตว่าหลังพ้นโทษอยากจะประกอบอาชีพอะไร และต้องมีเส้นทางที่ชัดเจน ซึ่งจะร่วมกับเรือนจำในการผลักดันไปให้ถึงเป้าหมาย ยกตัวอย่างกรณีผู้ต้องขังหญิงที่ออกไปฝึกอาชีพขายกาแฟหรือขายอาหารในโครงการจันแลนด์ ทางเรือนจำจะใช้วิธีคัดเลือกสำหรับผู้ที่สนใจและตั้งใจจะไปประกอบอาชีพในเส้นทางสายนี้ โดยจะมีการเติมความรู้ด้านการค้าขาย การหาทำเล และการเปิดร้านอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแต่ไปนั่งขายหารายได้เข้าเรือนจำแต่เพียงอย่างเดียว
สำหรับสัดส่วนของผู้ต้องขังที่ได้ไปฝึกอาชีพนอกเรือนจำมีจำนวนทั้งสิ้น 2% เนื่องจากว่าบางรายยังต้องโทษหนักอยู่ อีกทั้งผู้ต้องขังที่ได้ออกมาทำงานด้านนอกจะต้องโทษ 1 ใน 3 หรือใกล้จะพ้นโทษหรือจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว ด้านเงินปันผลที่ผู้ต้องขังจะได้รับในส่วนของการสร้างรายได้ในเรือนจำจะอยู่ที่ 2,000 - 3,000 บาท/เดือน
เด่นศักดิ์ ศรบัณฑิต ผู้บริหารออบิทผับและร้านอาหารฝากจันทร์ เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่เคยอยู่ในเรือนจำและทัศนคติในการรับผู้ต้องขังเข้ามาทำงานในร้านว่า "กว่า 12 ปีที่มีโอกาสดูแลผู้ต้องขังในฐานะของผู้ประกอบการคนหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศในเรือนจำกว่า 17 วัน ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างและทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียใหม่ จากเจ้ามือหวย เจ้ามือบอล มาเป็นนักธุรกิจในจังหวัดจันทบุรี สิ่งหนึ่งเลยที่เอาติดตัวไปด้วยหลังออกมาจากเรือนจำคือ พวกเขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนอื่นคิด อย่างที่บอกว่าคนข้างในพร้อมแล้วที่จะกลับเข้ามาสู่โลกภายนอก แล้วคนข้างนอกพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เขาหรือยัง
ผู้ประกอบการบางรายในจังหวัดจันทบุรีหรืออีกในหลาย ๆ แห่งที่ติดป้ายรับสมัครพนักงานไว้ พอคนเหล่านี้เข้าไปสมัครงาน ผู้ประกอบการมักถามว่า มาจากไหน พอได้รับคำตอบว่าเพิ่งพ้นโทษออกมาจากคุก ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าเต็มแล้ว ไม่รับ เนื่องจากเกิดอาการกลัว กลัวแค่ว่าคนออกมาจากคุก ทั้ง ๆ ที่เขามีพ่อแม่เป็นคนไทย เป็นลูกหลานของเราเองทั้งนั้น แต่กลับไม่กลัวต่างด้าว กลับไม่กลัวคนอื่น ทั้ง ๆที่ เขาเป็นคนต่างประเทศ แต่กล้าที่จะรับเขาเข้ามาทำงาน”
ผู้บริหารออบิทผับฯ กล่าวต่อถึงการรับนักโทษเข้ามาทำงานในร้าน โดยเราจะตั้งกฎหรือมีข้อต่อรองกับผู้ต้องขัง เนื่องจากร้านผมเป็นสถานบันเทิง อบายมุขเยอะ เพราะฉะนั้นทุกเดือนจะต้องมีการตรวจปัสสาวะจำนวน 2 ครั้ง และจากการสังเกตการทำงานของผู้ต้องขังในการเข้ามาฝึกอาชีพในร้านพบว่า มีความตั้งใจ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ แต่อุปสรรคที่พบคือ รอยสัก ซึ่งยังเป็นภาพภายนอกที่คนในสังคมกลัว
นางมะลิ (นามสมมุติ) ผู้ต้องขังหญิงวัย 32 ปี ถูกตัดสินโทษจำคุก 1 ปี ด้วยข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกของเธอในการเข้ามาอยู่ในเรือนจำจังหวัดจันทบุรีว่า เข้ามาอยู่ในเรือนจำได้ประมาณ 10 เดือนแล้ว ก่อนจะถูกตำรวจควบคุมตัวมายังเรือนจำ รู้สึกกังวลและกลัวมาก กลัวทั้งสภาพสังคมที่จะต้องไปเผชิญในคุก อีกทั้งยังกลัวว่าหากเข้าไปอยู่ในคุกแล้วใครจะหาเงินเลี้ยงแม่กับลูก พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์เริ่มมีการปรับตัวเข้ากับผู้ต้องขังรายอื่นมากขึ้น ได้พูดคุย แบ่งปันความรู้สึก จึงทำให้คลายความกังวลและกลัวได้บ้าง
“เมื่อก่อนพี่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย มีแต่สามีของพี่ที่เขาขายยาเสพติด แต่พอสามีถูกตำรวจจับ จึงเหลือแค่พี่ที่ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวคนเดียว พี่จึงตัดสินใจหันมาค้ายาเสพติดเพราะได้เงินมากกว่า อีกทั้งเงินจากการทำงานไม่พอต่อการยังชีพจริงๆ บางทีเลือกไม่ได้หรอกนะว่าเราจะทำหรือไม่ทำ ถ้าจนปัญญาจริงๆ”
นางมะลิ (นามสมมุติ) บอกเล่าเพิ่มเติมถึงกลุ่มงานที่สร้างรายได้ให้กับเธอว่า ทางเรือนจำได้มีการจัดจำแนกความสามารถของผู้ต้องขังแต่ละรายตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อเข้าฝึกวิชาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังเอง อาชีพที่เลือกหลังพ้นโทษคือ อาชีพค้าขาย ซึ่งได้ลองฝึกทักษะวิชาชีพอยู่ในกลุ่มของงานจักสานการทอเสื่อกกจันทบูร หน้าที่ของแต่ละคนในกลุ่มงานนี้จะแบ่งออกเป็นงานขาย งานทอเสื่อกก และงานเย็บกระเป๋า กล่อง ฯลฯ จากเสื่อกก โดยหน้าที่ของตนเองในส่วนนี้คือ คนเย็บกระเป๋า ซึ่งจะออกแบบตัดเย็บเอง พร้อมกับคิดราคาเองตามความเหมาะสม และเมื่อพ้นโทษตนมีความคิดว่าจะยึดอาชีพนี้เพื่อหาเลี้ยงชีพต่อไป และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเลย
ด้าน นายเอ (นามสมมุติ) ผู้ต้องขังชายวัย 25 ปี ถูกตัดสินโทษจำคุก 4 ปี บอกเล่าถึงที่มาของงานแกะสลักรองเท้าว่า “การแกะรองเท้ามีมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ละคนจะขีด ๆ เขียน ๆ หรือทำเป็นเครื่องหมาย สัญลักษณ์ไว้ เพื่อป้องกันรองเท้าหาย และเพื่อให้รู้ว่ารองเท้าคู่นี้ใครเป็นเจ้าของ ด้วยความที่ผมมีทักษะในการแกะสลักเป็นทุนเดิมจึงได้แกะรองเท้าที่ตัวเองใส่ให้มีลวดลายและต่างไปจากของเพื่อนคนอื่น เมื่อทางเจ้าหน้าที่เรือนจำทราบจึงได้เกิดกลุ่มงานแกะสลักรองเท้าขึ้น โดยเพิ่งมาเริ่มขายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งราคาจะอยู่ที่ 260 บาท และขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลวดลายที่แกะ สำหรับลวดลายที่นำมาแกะสลักรองเท้าส่วนใหญ่จะได้ลายมากจากหัวหน้าหรือผู้คุม บางลายก็มาจากการออกแบบเองบ้าง”
ทั้งนี้ นายเทวินทร์ วิเศษ เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินปันผลที่อยู่ในบัญชีธนาคารของผู้ต้องขัง จะต้องมีไม่เกิน 9,000 บาท ถ้ามากกว่านั้นถือว่ามีความผิดปกติทางการเงิน และหากครอบครัวของผู้ต้องขังต้องการเงินในส่วนนี้จะต้องให้ญาติหรือครอบครัวมาเซ็นรับเท่านั้นถึงจะสามารถยื่นคำร้องขอถอนเงินในส่วนนี้ได้ ในส่วนของคนที่ต้องโทษ 1 ใน 3 ที่มีสิทธิ์ออกมาฝึกวิชาชีพภายนอกเรือนจำยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากบางส่วนยังติดค้างค่าปรับอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องรอว่าจะได้รับการอภัยโทษเมื่อไหร่ ถึงจะมีตัวเลขที่แน่ชัดออกมา
การประเมินความสำเร็จของโครงการเรือนจันแลนด์สู่การยอมรับจากคนในสังคม โดยนำไปสู่การไม่กระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขัง ถือเป็นส่วนที่ช่วยชี้วัดความสำเร็จวัดความสำเร็จ ขณะเดียวกันตัวชี้วัดคุณภาพ เช่น การกลับสู่ครอบครัวโดยมีงานทำ การมีอาชีพที่ได้จากการฝึกในเรือนจำ จะเป็นตัวชี้วัดอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรือนจำในประเทศไทย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/