แอมเนสตี้ฯ ร้องไทยยุติคดีพ.ร.บ.คอมฯ 'อนาคตใหม่' กรณีแสดงความเห็นเสรีผ่านเฟซบุ๊ก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งการพิจารณาเพื่อยุติการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของตนอย่างสงบ
จากรายงานข่าวว่าสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องเป็นครั้งที่สองในคดีต่อผู้บริหารสามคนของพรรคอนาคตใหม่ ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในเดือนมิถุนายน 2561
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งการพิจารณาเพื่อยุติการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของตนอย่างสงบ โดยแคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประเด็นประเทศไทยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวดังนี้
"จากการที่อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งในคดีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งการพิจารณาเพื่อยุติการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของตนอย่างสงบ"
“แอมเนสตี้กังวลว่าจะมีการใช้วิธีการดำเนินคดีอาญาที่ยืดเยื้อยาวนาน เพื่อขัดขวางฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและผู้วิจารณ์อย่างสงบ โดยไม่คำนึงว่าสุดท้ายคดีจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลหรือไม่”
แอมเนสตี้เคยแสดงความกังวลต่อการปฏิบัติของทางการไทยในการใช้กฏหมายปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์จาก ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงก่อนที่จะมีการประกาศเลือกตั้ง
สมาชิกพรรคอนาคตใหม่สามคน ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ถูกดำเนินคดีอาญาฐานจัดรายการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ทั้งสามคนได้พูดในวีดิโอ กรณีที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี และได้พูดถึงการดูดผู้สมัครสส.จากพรรคอื่น โดยจูงใจให้พวกเขาเปลี่ยนพรรค หรือขู่จะดำเนินคดีอาญา
ทางการไทยกล่าวหาว่า ทั้งสามคนเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน และดำเนินคดีกับพวกเขาตามมาตรา 14(2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในวันที่ 6 เมษายน ธนาธรยังถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และสนับสนุนช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีอาญาเมื่อปี 2558 ตำรวจอ้างว่าธนาธรให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้หลบหนีจากสถานีตำรวจ ระหว่างที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารและการปรากฏตัวหลายครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2558 เป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และธนาธรต้องขึ้นศาลทหารหากมีการสั่งฟ้อง
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ก็ถูกดำเนินคดีฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางอินเตอร์เน็ต เป็นความผิดตามมาตรา 14(2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และความผิดฐานหมิ่นศาลตามมาตรา 198 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติซึ่งมีการเผยแพร่เป็นวีดิโอ ทำให้เขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในวันที่ 23 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังชี้มูลฟ้องว่า ธนาธรเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทสื่อ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 98 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งห้ามผู้สมัครถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อหลังลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ธนาธรปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ หากตัดสินว่ามีความผิด กกต.อาจตัดสิทธิเขาในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เสนอวาระสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญเก้าประการ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลต่าง ๆ ทั้งนักการเมือง นักกฎหมาย นักกิจกรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกเขาต่างถูกดำเนินคดีทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาททางอาญา โดยเป็นผลมาจากการจัดการประท้วงอย่างสงบ การวิจารณ์รัฐบาล และการกล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงาน