วิศวกรเตือนภัย 5 พันเขื่อนเล็ก อปท.เสี่ยงแผ่นดินไหว
“กรมธรณี” ยอมรับเกิดแผ่นดินไหวที่ “รอยเลื่อนแม่จัน” 4 ริกเตอร์ รอยต่อแม่อาย เชียงใหม่-แม่ฟ้าหลวง เชียงราย แนะชาวบ้านไม่ต้องตกใจ ระบุ “รอยเลื่อนนครนายก” ไร้พลัง นักวิชาการชี้ 5 พันเขื่อนขนาดเล็กของกรมชลฯที่โอนให้ อปท.น่าห่วง
วันที่ 30 มี.ค.54 ที่กรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงกรณี “คนไทยจะอยู่กับธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นสุขได้อย่างไร”
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหวในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าคนไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี แม้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเองยังขาดแผนรับมือที่ดี ไม่มีการจัดมาตรการและวางระบบการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นในการประชุม ครม.วันที่ 28 มี.ค. ตนจึงขอให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความรู้ความเข้าใจสาธารณชนและสถานศึกษา เหมือนที่ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมคนในประเทศ
“ยังเสนอให้พื้นที่เสี่ยงภัยได้ซักซ้อมรับมือสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมาการซ้อมรับมือสึนามิ เหมือนกับการแสดงโชว์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม สถานประกอบการโรงแรมต่างๆก็ต้องมีความพร้อมรับมือด้วย ระบบเตือนภัยต้องเป็นระบบ และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบในกรณีการเกิดปัญหาธรณีพิบัติภัย โดยต้องมีการจัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว
รมว.ทส. กล่าวอีกว่า เชื่อว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีรอบๆประเทศไทยพบมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ และยังขยับเข้าใกล้ประเทศไทยอีกเช่นกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2518-2554 พบมีแผ่นดินไหวขนาด 5-5.9 ริกเตอร์เกิดขึ้น 303 ครั้ง ความถี่มากตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยรอยเลื่อนที่น่าเป็นห่วงจากประเทศพม่าคือรอยเลื่อนสะแกง ที่พาดผ่านมาทางด้านตะวันตกและลงไปในทะเลอันดามัน หากด้านบนขยับเมื่อไร กทม.ก็จะได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากหากไหวระดับ 7 ริกเตอร์จะมีระยะห่างถึง กทม.เพียง 530 กม.เท่านั้น ส่วนจากเกาะสุมาตราจะมีระยะทางประมาณ 1000 กม. ดังนั้นจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถอยู่ได้กับภัยพิบัติที่มีมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย
ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการกองธรณีพิบัติภัยและสิ่งแวดล้อม ทธ. กล่าวว่ากรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าพบแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนปัว จ.น่าน ขนาด 4 ริกเตอร์ 2 ครั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น จากการตรวจสอบของ ทธ.ยอมรับว่าเป็นแผ่นดินไหว โดยมีศูนย์กลางที่เกิดในรอยเลื่อนแม่จันของไทยเอง โดยอยู่ระหว่างรอยต่อ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กับอ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อกจากการไหวของรอยเลื่อนน้ำมาขนาด 6.7 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งขณะนี้ ทธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อมูลบริเวณรอยเลื่อนที่มีการขยับในครั้งนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เนื่องจากในอดีตเคยมีแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์มาแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะไหวระดับรุนแรงขึ้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนที่ระบุว่ามีการไหวอีกจุดที่เกิดจากรอยเลื่อนปัว จ.น่านนั้น กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยังไม่ตรวจพบการสั่นไหวในรอยเลื่อนนี้
นายเลิศสิน ยังกล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการระบุว่าพบรอยเลื่อนนครนายกเป็นรอยเลื่อนใหม่ ว่ารอยเลื่อนดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆรอยเลื่อนที่มีในประเทศไทย แต่ไม่มีพลังแล้ว และไม่จำเป็นต้องอยู่ในบัญชี 13 รอยเลื่อน ที่กรมเคยประกาศไว้ในช่วงปี 2549 เนื่องจากการจะประกาศรอยเลื่อนมีพลังนั้น ต้องใช้หลักการอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1.ในช่วง 1 หมื่นปีที่ผ่านมาต้องเคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบจากตะกอนดิน 2.เคยเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือไม่ 3.ต้องเห็นรูปร่างลักษณะที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง 4.สัมพันธ์กับรอยเลื่อนที่มีพลังอื่นๆ และ 5.เกิดลักษณะของทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เช่น กรณีแม่น้ำโขง ที่มีลักษณะคดโค้งเพื่อหลีกเลี่ยงรอยเลื่อนตามเส้นทาง
นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากงานวิจัยของ ม.เกษตรฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ข้อมูลความลึกของชั้นดินเหนียวอ่อน กทม.ยิ่งใกล้ปากแม่น้ำยิ่งมีความเสี่ยงต่อการรับคลื่นแผ่นดินไหว โดยเฉพาะบริเวณ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นบริเวณที่มีคุณภาพดินแย่ที่สุด เพราะอ่อนไหวและรับคลื่นแผ่นดินไหวมากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของเขื่อนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในภาพรวมทั้งประเทศ มีข้อมูลที่ตรงกันว่าสาเหตุที่ทำให้เขื่อนพังมาจากการใช้งานปกติอันดันแรก ตามมาด้วยการรั่วซึม สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะทำให้เขื่อนพังมีแค่ 1% เท่านั้น ยืนยันว่าไม่เคยเกิดขึ้นในโลกถ้าเขื่อนนั้นถูกออกแบบโดยวิศวกร
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือหลังเกิดแผ่นดินไหวที่พม่าน่าเป็นห่วงเขื่อน ขนาดเล็กของกรมชลประทานที่ถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่ทั้งหมด 5,000 แห่งซึ่ง 80%.ในจำนวนนี้น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งขนาดใหญ่การก่อสร้างก็ยิ่งมีการออกแบบอย่างถูกหลักวิศวกร.
ที่มาภาพ : http://www.electron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=571&Itemid=4