นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะ เผย 45 ปีปลูกถ่ายอวัยวะ ไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะ เผย 45 ปีปลูกถ่ายอวัยวะ ไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปลูกถ่ายไต ตับ และหัวใจ มีศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ 30 แห่งกระจายทั่วประเทศ ทั้งหลังมีกองทุนประกันสังคม-บัตรทอง ทลายกำแพงค่าใช้จ่าย ดูแลคนไทยมีสิทธิเท่าเทียมเข้าถึงปลูกถ่ายอวัยวะ ส่งผลไทยปลูกถ่ายอวัยวะสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดข้อมูลยังมีผู้ป่วยรอคิวปลูกถ่ายจำนวนมาก
พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยโดยการปลูกถ่ายอวัยวะว่า ประเทศไทยได้เริ่มการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะครั้งแรกปี 2517 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นการปลูกถ่ายไต จากนั้นประมาณ 30 ปี ได้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับและหัวใจ ในตอนนั้นผู้ป่วยที่เข้าถึงการปลูกถ่ายจำกัดเฉพาะกลุ่มข้าราชการและครอบครัว และคนที่มีฐานะเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายแพงมาก คนทั่วไป ยิ่งคนที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่หลังจากมีกองทุนประกันสังคม และต่อมาในปี 2550 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายไต และต่อมายังมีการอนุมัติการปลูกถ่ายตับและหัวใจ โดยมีความร่วมมือกับสภากาชาดไทยในการรับบริจาคอวัยวะ โดยเฉพาะจากผู้ที่อยู่ในภาวะสมองตาย และการพัฒนาศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะ ปัจจุบันมีศูนย์ปลูกถ่ายไต 30 แห่ง ศูนย์ปลูกถ่ายตับ 10 แห่ง และศูนย์ปลูกถ่ายหัวใจ 5 แห่ง ส่งผลให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะได้
ทั้งนี้ผลที่เกิดขึ้น เพราะด้วยความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้อง และกองทุนหลักประกันสุขภาพ รวมถึงภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันคิดและทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้รับการดูแล โดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็น ไม่เพียงแต่ทำให้ปัญหาค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายอวัยวะที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญหมดไป แต่ยังได้รับการดูแลติดตามอย่างต่อเนื่อง
“การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งการปลูกถ่ายและการดูแลในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีแรกมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นเงินก้อนใหญ่หลายแสนบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายการตรวจติดตามและยากดภูมิที่ผู้ป่วยต้องกินต่อเนื่อง แต่ด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพที่เข้ามาดูแล ทั้งประกันสังคมและบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาและได้รับการดูแลที่ดี ซึ่งการดูแลนี้ยังครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนของขั้นตอนการรับบริจาคอวัยวะ ทั้งการการประเมินอวัยวะ การผ่าตัดนำอวัยวะออก และการนำส่ง เป็นต้น” นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ กล่าวและว่า ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการปลูกถ่ายอวัยวะบ้านเรากับต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมากที่สุด มากกว่าอินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์
พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ส่วนจำนวนการปลูกถ่ายอวัยวะในแต่ละปี กรณีการปลูกถ่ายไตอยู่ที่ 670 ราย การปลูกถ่ายตับอยู่ที่ 70-80 ราย และการปลูกถ่ายหัวใจอยู่ที่ 20 ราย แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อดูในส่วนของผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตอยู่ที่ 6,000 ราย ผู้ป่วยรอปลูกถ่ายตับ 200 ราย และผู้ป่วยรอปลูกถ่ายหัวใจ 100 ราย ข้อมูลข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่ายังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถเพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากยังมีข้อจำกัดอยู่ ทั้งจำนวนผู้บริจาคอวัยวะที่ต้องรับบริจาคจากผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองตายเท่านั้น ยกเว้นกรณีปลูกถ่ายไตซึ่งมีผู้ป่วยประมาณ 180 ราย ที่เป็นการปลูกถ่ายไตจากผู้รับบริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นคนในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันเพราะกฎหมายกำหนดไว้ด้วยกังวลปัญหาการซื้อขายอวัยวะ ความเหมาะสมของอวัยวะและการดูแลอวัยวะที่รับบริจาค ศัลยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่มีจำกัด รวมถึงแพทย์ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองตายและอวัยวะที่รับบริจาค
“ปัจจุบันเรามีศัลยแพทย์ไม่มาก ทั้งศัลยแพทย์ที่ทำหน้าที่ปลูกถ่ายอวัยวะเฉพาะก็มีเพียงในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น อย่างที่ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช เท่านั้น เมื่อต้องมีการปลูกถ่ายอวัยวะทำให้ศัลยแพทย์เหล่านี้ต้องทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นหากจะขยายการปลูกถ่ายอวัยวะต้องเพิ่มกำลังศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะให้มากกว่านี้ และต้องทำให้คงอยู่ในระบบด้วย เพราะหากไม่มีกำลังคนก็คงไม่สามารถขยายการปลูกถ่ายอวัยวะได้ ซึ่งในต่างประเทศแยกศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะออกจากศัลยแพทย์ทั่วไป ขณะเดียวกัน รพ.ที่มีผู้ประสงค์บริจาคอวัยวะก็ต้องจัดทีมดูแล ให้อวัยวะคงอยู่ในสภาพสำหรับปลูกถ่ายได้อย่างมีคุณภาพ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายต้องดูแล” นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ในด้านสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไต ต้องปรับส่วนใดให้ครอบคลุมเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ยังมีหลายส่วน เช่นกรณีการปลูกถ่ายตับและหัวใจ กองทุนบัตรทองจะสนับสนุนการดูแลเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะตั้งแต่กำเนิด ซึ่งบางคนในช่วงเป็นเด็กมีภาวะโรคทำให้ไม่สามารถปลูกถ่ายได้ หรือบางคนประสบภาวะอวัยวะล้มเหลวในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ ตรงนี้จะทำอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนาระบบรองรับเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยกองทุนบัตรทองมีงบประมาณจำกัด หากให้การรักษาครองคลุมทุกอย่างกองทุนคงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการปลูกถ่ายอวัยวะเบื้องต้นจำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก่อน แต่หากการรักษาใดที่จำเป็นต่อผู้ป่วยจะมีการพิจารณาเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์โดยประเมินความคุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่กระทบจนทำให้การดำเนินงานกองทุนเป็นปัญหา
ขณะที่ในส่วนของประกันสังคม ด้วยสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายตับและหัวใจที่มีมาตั้งแต่ปี 2548 กำลังดูว่าวงเงินการจ่ายค่าปลูกถ่ายสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ในการปลูกถ่ายดีกว่าในอดีต มีความปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นจึงควรมีการทบทวน
พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 กองทุนสุขภาพ ในการปลูกถ่ายอวัยวะจะมีความแตกต่างกัน โดยกองทุนบัตรทองจะดูแลครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ประกันสังคมจะดูแลเฉพาะกลุ่มคนทำงาน แต่ในส่วนของการจ่ายชดเชยการปลูกถ่ายอวัยวะ วิธีการคำนวณและการเบิกจ่ายไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ระเบียบกองทุนอาจต่างกันบ้างเล็กน้อย เนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะทำใน รพ.เดียวกัน ใช้แพทย์ชุดเดียวกัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาสิทธิโยชน์ยังเป็นแพทย์ชุดเดียวกัน ดังนั้นเมื่อกองทุนหนึ่งมีการปรับสิทธิประโยชน์หรืออัตราการจ่าย อีกกองทุนหนึ่งจะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน
“แม้ว่าสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะในปัจจุบันจะค่อนข้างดีแล้ว แต่ยังต้องมีการพัฒนาต่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงปัญหาบางประการที่ยังเป็นปัญหา หรือการเพิ่มเติมเพื่อให้สิทธิประโยชน์สมบูรณ์ ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ครอบคลุม นอกจากนี้ยังให้ทันกับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเข้าถึงยาใหม่ที่มีความคุ้มค่า ซึ่งนอกจากเป็นการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังสนับสนุนให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำงานได้ราบรื่น และให้การดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น” นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ กล่าว