ไทยพาณิชย์เปิดตัว “SCB Wealth Holistic Experts” ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
ไทยพาณิชย์เปิดตัว “SCB Wealth Holistic Experts” ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มิติใหม่ของการมอบประสบการณ์ในการสร้างความมั่งคั่ง พร้อมเจาะลึกมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนรับมือความผันผวนหลังการเลือกตั้ง
ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำทีมคลังสมองด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคาร ภายใต้ชื่อ “SCB Wealth Holistic Experts” เป็นการผสานความแข็งแกร่งของทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินการลงทุนใน 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ SCB CIO Office, SCBS Wealth Research และ SCB Estate Planning & Family Office Service ซึ่งจะทำหน้าที่จัดเตรียมและคัดกรองบทวิเคราะห์ พร้อมจับจังหวะและทิศทางการลงทุนครอบคลุมตลาดโลก ตลาดทุนไทย รวมถึงข้อกฎหมายสำคัญที่น่าสนใจและต้องโฟกัสเป็นพิเศษในแต่ละช่วงเวลา เพื่อช่วยให้กลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคารไม่พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกจังหวะการลงทุน อันนำไปสู่การต่อยอดความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงต่อไป พร้อมกันนี้ทีม “SCB Wealth Holistic Experts” ยังได้เผยถึงทิศทาง มุมมอง และกลยุทธ์ด้านการลงทุนในไตรมาส 2 แบบรอบด้าน ทั้งภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดโลก เจาะลึกตลาดทุนไทย รวมถึงกฎหมายภาษีอากรที่นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งอีกด้วย
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของโลก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในทิศทางเดียวกัน (Synchronize Slowdown) สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2562 ลงอยู่ที่ 3.3% จาก 3.5% ที่ได้ประมาณการไว้ครั้งก่อน ขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในไตรมาส 2/2562 ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางจีน (PBoC) ซึ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก
อัตราดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตามหากเครื่องชี้วัดต่างๆ ในช่วง 3 - 4 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง Fed อาจส่งสัญญาณเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการเงิน (Monetary Policy Stance) เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้น (Hawkish) เพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 จริงก็ตาม สำหรับ เงินดอลลาร์ สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าในไตรมาส 2/2562 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Yield Curve ของสหรัฐฯ ก็อยู่สูงกว่าเช่นเดียวกัน สำหรับสกุลเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่ง มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงิน ดอลลาร์ สหรัฐฯ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดย SCB-EIC คาดการณ์ GDP ในปี 2562 อยู่ที่ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ตลอดปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Monetary Policy Gap) ระหว่างสหรัฐฯ และไทย
กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2/2562
§ ตลาดตราสารหนี้ (Fixed Income) มองว่า Yield Curve ไม่น่าจะกลับมา Inverted ในไตรมาส 2/2562 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณดีขึ้น และตลาดรับรู้เรื่องการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของ Fed ไปมากแล้ว ซึ่งหากเศรษฐกิจส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ Fed กลับมาส่งสัญญาณเปลี่ยน Policy Stance เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้นเพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 จริงก็ตาม เป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้ ดังนั้น ไม่แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวต่างประเทศ
o US High Yield ไม่แนะนำให้ลงทุน เนื่องจาก คุณภาพเครดิต (Credit quality) ของตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนของ US High Yield (rating ตั้งแต่ BBB ลงไป) ที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ 60% ของทั้งหมด นอกจากนี้ Valuation ของ US High Yield ในปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างแพง สะท้อนจาก Credit spread ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก
o ตราสารหนี้ไทยอายุไม่เกิน 5 ปี ยังน่าสนใจลงทุน เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปีนี้
§ ตลาดตราสารทุน (Equity) มองว่าตลาดหุ้นที่ปรับลดลงในช่วงไตรมาส 4/2561 ได้สะท้อนปัจจัยลบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed และตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้แล้วบางส่วน สำหรับในไตรมาส 2/2562 ยังสามารถทยอยสะสมหุ้นในบางตลาดได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
1. แรงกระตุ้นจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น
2. ตัวเลขเศรษฐกิจในบางประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น PMI ภาคการผลิตของจีนกลับมาฟื้นตัว ยืนเหนือ 50 จุด หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และ ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
3. ความเสี่ยงที่เริ่มคลี่คลายลง ทั้งประเด็น Brexit และ Trade War
น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นหลักต่างๆ มีดังนี้
Overweight: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Low Volatility และ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้ม Outperform หุ้นกลุ่ม Cyclical ในเศรษฐกิจ Late Cycle
Underweight: ตลาดหุ้นยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน ขณะที่ประเด็น Brexit ยังยืดเยื้อ
Neutral: ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นจีน โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีน อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นจีน A Share ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% นับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ Upside ปรับลดลง และอาจมีความเสี่ยงจากการถูกขายทำกำไร ดังนั้นแนะนำให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างอิงผลตอบแทนขาขึ้นตามดัชนีตลาดหุ้นจีน แต่มีการ Protect Downside เช่น structure note หรือ structure funds
สรุปกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นช่วงไตรมาส 2/2562 และ ไตรมาส 3/2562
สินทรัพย์ทางเลือก
ทองคำ: Underweight เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก ประกอบกับนักลงทุนเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และขายทองคำหลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น
น้ำมัน: Neutral โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจำกัด เนื่องจากตลาดรับรู้ประเด็นที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านไปพอสมควรแล้ว และกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบีย สามารถกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยไม่คงนโยบายลดกำลังการผลิตอีกต่อไป เนื่องจากราคาดึงดูดให้ผลิตเพิ่ม
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังคงชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้า หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน บรรเทาลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ของโลกจะออกมาต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ จีน และน่าจะตามมาด้วย ยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกกลับมาสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง อีกทั้งสภาพคล่องการเงินโลกไม่ได้ลดอย่างที่คาดทำให้แรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ลดลง สำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทย ด้วยภาพรวมหลังเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะผันผวนในช่วงที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งอาจใช้ระยะเวลาทั้งไตรมาส 2/2562 และหลังจากมีความชัดเจนแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกและทิศทางของผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ประเมินว่า SET Index มีโอกาสลดลงไปได้ที่ 1600 หรือ 1550 จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองแต่ยังคงยืนยันเป้าหมายของปี 2562 ที่ระดับ 1700 - 1800 จุด
กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation) ในไตรมาส 2/2562 ของSCBS คือ “ปรับพอร์ตเป็นเชิงรุกมากขึ้น”
แนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานและเศรษฐกิจรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ยังคงมีอยู่สูง โดยในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังรอความชัดเจนทางการเมือง แนะนำกระจายการลงทุนไปตลาดหุ้นโลก, หุ้น Asia Ex Japan โดยเฉพาะหุ้นจีนแนะนำ สร้างสมดุลด้วยสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ โดยในส่วนของตราสารหนี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอายุยาวขึ้นในช่วงประมาณ 4 ถึง 6 ปี หรือ สินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น REITs และ Emerging Market Bond เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราประเมินความเสี่ยงที่สำคัญในการลงทุนจะยังคงอยู่ ไม่ว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายของการขยายตัว (Late Cycle) และความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น การจัดพอร์ตโฟลิโอยังคงแนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย เรามองว่า SET จะมี downside จำกัด และไม่คิดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว เดือน ก.ค. ที่ 1600 จุด และ เดือน ธ.ค. ที่1550 จุด เนื่องจากภาวการณ์ลงทุนและ sentiment ในตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก แต่ upside ก็ไม่สูงมากมองที่ระดับ 1700 - 1800 จุด โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ราคามีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตลาดจะคลายความกังวลหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพียงการเมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และ ในยุโรป เป็นต้น ดังนั้นโซนเข้าซื้ออยู่ระหว่าง 1550 -1600 จุด ในขณะที่โซนขายอยู่ระหว่าง 1750 – 1800 จุด หรือ 8 - 10% จากระดับปัจจุบัน
หุ้น Top Picks แนะนำลงทุนในไตรมาส 2/2562 เราชอบหุ้นวัฏจักร (cyclical) มากกว่าหุ้นตั้งรับ (defensive) และแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และธุรกิจการเกษตร เพราะกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและถูกเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงและระดับในอดีต
IRPC : สถานการณ์จะพลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2562 เนื่องจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรฐัฯ - จีน มีความคืบหน้าที่ดีบวกกับความต้องการน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำจะเพิ่มขึ้นก่อนมาตรการควบคุมปริมาณกำมะถันของ IMO มีผลบังคับใช้ ราคาเป้าหมาย 8.6 บาท / หุ้น
IVL : ราคาหุ้นปรับตัวตาม underperform หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มปิโตรเคมีสะท้อนถึงความกังวลที่นักลงทุนมีต่อแนวโน้มธุรกิจของบริษัท ปัจจุบัน valuation อยู่ในระดับต่ำที่ PER 8.7 เท่า และ PBV 1.6 เท่า ราคาเป้าหมาย 82 บาท ซึ่งให้ upside 71% บวกกับผลตอบแทนจากเงินปันผล 3.6 - 3.8% ในปี 2562 - 2564
PTTEP : มีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและสนับสนุนให้ความสามารถในการทำกำไรเติบโตในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการลงทุนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF ที่ 150 บาท / หุ้น
GFPT : ราคาผลิตภัณฑ์ในประเทศสูงขึ้นปริมาณการขายส่งออกแข็งแกร่งและต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง ซึ่งรวมกันแล้วจะช่วยสนับสนุนให้อัตรากำไรของธุรกิจไก่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซื้อขายที่ PE ปี 2562 ระดับ 12 เท่า
TU : ราคาหุ้นปรับตัว outperform SET อยู่ 11% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยได้รับปัจจัยกระตุ้นจากธุรกิจหลักที่ฟื้นตัวดีขึ้นใน 2H61คาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้น YoY อย่างต่อเนื่องในปี 2562 แนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายระยะ 12 เดือนที่ 23 บาท
ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในช่วงปี 2562 และแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต จะเห็นได้ว่ากรมสรรพากรเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการออกกฎหมายภาษีอากรใหม่ๆ ที่ต้องการให้ผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดารวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษี และสร้างรูปแบบการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้มีการออกมาตรการทางภาษีอากรโดยในหลายๆมาตรการได้มีผลใช้บังคับแล้ว และบางมาตรการก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจรวมทั้งมีข้อสงสัยและข้อซักถามในทางปฏิบัติจากประชาชนเป็นอย่างมาก อาทิเช่น
กฎหมายภาษี e-Payment การรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ e-Wallet จะต้องนำส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร โดยข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่จะต้องมีการนำส่งฯ ได้แก่ รายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านต่อปี หรือรายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี โดยกฎหมายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป และกำหนดส่งข้อมูลฯ ให้แก่กรมสรรพากรในเดือนมีนาคม 2563 เป็นครั้งแรก
มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว จะได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา
ประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 344 (วันที่ 4 เมษายน 2562) การจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ จากเนื้อหาในประกาศฯ ดังกล่าว กฎหมายจะให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่มีเงื่อนไขว่า ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกันจะต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และเจ้าของบัญชีจะต้องลงทะเบียนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเพื่อเป็นการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เสียภาษีอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุด (25 เม.ย.62) โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ถึงแนวทางการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น ซึ่งในสัปดาห์หน้า กรมสรรพากรเตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์การยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทใหม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ สำหรับประกาศใหม่นี้ จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากร เพื่อประมวลผลว่าผู้ฝากเงินรายใดมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท จากนั้นกรมสรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์ทำการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ให้แก่กรมสรรพากร
แต่หากผู้ฝากเงินรายใดที่ไม่ประสงค์จะให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่กรมสรรพากร ก็สามารถแจ้งกับธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะทำการหักดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดให้แก่กรมสรรพากร แม้ว่าผู้ฝากเงินจะมีรายได้จากดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม และหากผู้ฝากเงินเห็นว่าไม่มีภาระดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี ก็ให้มาขอยื่นคืนภาษีตอนสิ้นปีภาษีได้
สำหรับการนำส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ให้กับกรมสรรพากรนั้น จะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค.และ พ.ย. ของทุกปี เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ประมวลผลและส่งให้ธนาคารพาณิชย์เก็บภาษีดอกเบี้ยผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ในเดือน มิ.ย.และ ธ.ค. ของทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายภาษีอากรที่กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายที่น่าสนใจ ได้แก่
ร่างกฎหมายภาษีที่ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 โดยสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กองทุนรวม” ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนที่เป็น “รายได้ดอกเบี้ย” ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้โดยตรง กับ การลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ โดยอ้อมผ่าน "กองทุนรวม"