ครั้งแรกในไทยกับ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบสารสกัดกัญชา
ครั้งเเรกในไทย! ม.รังสิต จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ลงทุนเกือบ 40 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัด ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา น้ำมันกัญชา แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก ยาประสะกัญชา
นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งก้าว สำหรับการวิจัย 'กัญชา' เพื่อใช้ทางการเเพทย์
เมื่อ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ค้นพบ CBN สารสกัดจากกัญชาที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด พร้อมกับเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในไทยที่มีการลงทุนเกือบ 40 ล้านบาท และ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา น้ำมันกัญชา แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก และยาประสะกัญชา
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลากหลายชนิด และมีแนวโน้มการนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 เป็นต้นมา
ในส่วนของผลงานวิจัยกัญชาด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมาเป็นการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของวิทยาลัยและคณะต่างๆ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น (อ่านประกอบ:ม.รังสิต เปิดตัวสถาบันวิจัยกัญชาฯ -ได้รับอนุญาตปลูกเเห่งแรกในไทย)
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปอดมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากพอสำหรับการรักษาโรคมะเร็งปอด ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด
โดย สารกลุ่ม cannabinoids เป็นสารกลุ่มหลักที่พบในกัญชา โดยมีสาร ∆9-tetrahydrocannabinol (THC) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิด ส่วนสาร cannabinol (CBN) เป็นสารที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา โดยจะพบสารดังกล่าวได้มากในกัญชาแห้ง ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อมะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง
“จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN ช่วยในเรื่องของการลดอัตราการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้เป็นอย่างดี สำหรับการศึกษาผลของ THC และ CBN จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง พบว่าการฉีด THC และ CBN ในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดเป็นมะเร็งด้วยเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และ CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา น้ำมันกัญชา แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก และยาประสะกัญชา
อาจารย์เภสัชกร เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัย ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่า การพัฒนายาในรูปแบบของแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แนวคิดมาจากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายตามท้องตลาดในต่างประเทศ ทำให้ทราบว่าสารสกัดที่อยู่ในกัญชาสามารถนำส่งได้ทางเยื่อบุช่องปาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะยืนยันได้ว่า ตัวสารที่สกัดจากกัญชาสามารถดูดซึมได้ทางช่องปาก หรือสามารถรับประทานได้ การศึกษาวิจัยจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่องของการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการได้รับยาเคมีบำบัด เนื่องจากตัวยาเม็ดเวเฟอร์สามารถแตกตัวได้อย่างรวดเร็วในช่องปาก ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น การใช้ยานี้สามารถวางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปาก โดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเราทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้อนุญาตและออกประกาศว่า สารสกัดจากกัญชามีความปลอดภัยในการใช้ และสามารถรักษาโรคได้ แต่สำหรับประเทศไทยกัญชายังขึ้นชื่อว่าเป็นสารเสพติดอยู่ ทำให้ผู้ป่วยได้มีการลักลอบซื้อหรือใช้น้ำมันกัญชา และมีผลทำให้น้ำมันกัญชามีราคาที่สูง และส่วนใหญ่น้ำมันกัญชาที่นำมาใช้ในท้องตลาดไม่ได้ผ่านมาตรฐานหรือผ่านการควบคุมคุณภาพ
ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคที่จะใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา จะต้องทำการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันกัญชาเช่นเดียวกับยา โดยน้ำมันกัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ THC, CBD และ CBN ดังนั้นทีมผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และได้ทำการศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย
ผศ. ดร. เภสัชกรหญิง สุชาดา กล่าวเสริมว่า กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาคือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมัน
สำหรับ อาจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง อภิรดา สุคนพันธ์ ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าอาการของโรค ความเครียด จากโรคหรือผลกระทบจากการรักษาโรคบางประเภท ทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวล และมีคุณภาพการนอนหลับลดลง การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับโรคและการฟื้นฟูร่างกายด้อยลง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก ซึ่งดำเนินการวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาตำรับแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปากและผลของสารแคนนาบินอลต่อการนอนหลับ” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อ. ดร. เภสัชกรหญิง อภิรดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาร CBN เป็นสารสำคัญที่ตรวจพบได้ในกัญชาแห้ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสาร THC จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ พบว่าสาร CBN มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ นอกจากนี้การใช้ร่วมกับสาร THC มีผลส่งเสริมให้การนอนหลับดีขึ้น ทั้งนี้การได้รับยาโดยการรับประทานจะออกฤทธิ์ได้ช้าและตัวยาส่วนใหญ่ถูกทำลาย เพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก เพื่อให้ตัวยาสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปากได้ทันที อีกทั้งยังช่วยลดการถูกทำลายของตัวยาที่ตับ ซึ่งนอกจากการศึกษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นในช่องปากแล้ว ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพต่อการนอนหลับในสัตว์ทดลอง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพในการคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับดีขึ้น
ในส่วนของปัญหาที่พบ คือ สาร CBN และ THC มีคุณสมบัติที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคในการที่จะพัฒนาให้สารที่ไม่ละลายน้ำเข้าไปอยู่ในตำรับที่ละลายน้ำได้ ทางทีมวิจัยจึงนำเทคโนโลยีในการกักเก็บสารมาใช้พัฒนาในส่วนนี้ ซึ่งเทคโนโลยีที่เราเลือกใช้คือ เทคโนโลยีอนุภาคกักเก็บลิโปโซม (Liposomes) ซึ่งเป็นอนุภาคที่สามารถกักเก็บสาระสำคัญทั้งที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำให้อยู่ในอนุภาคเดียวกัน ซึ่งอนุภาคนี้ยังสามารถที่จะเพิ่มความคงตัวให้กับตัวยา เพิ่มการดูดซึม และทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
อาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ จันคณา ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์ยาประสะกัญชา กล่าวว่า “การพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 4 ทางเราได้รับโจทย์ทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยหรือบรรพชนไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกได้ เราจึงจัดตั้งโครงการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพรในตำรับยาประสะกัญชาหรือตัวยาที่มีส่วนประกอบของกัญชา โดยมีแพทย์แผนไทยและทีมงานจากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกภายใต้การดูแลและสนับสนุนของท่านคณบดีทั้งสองวิทยาลัย”
อาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตำรับประสะกัญชา คำว่า ประสะ คือ การฟอกชำระ ทำให้ยาบริสุทธิ์ขึ้น หรือทำให้ยามีรสอ่อนลง หรือใช้เรียกที่เข้าเครื่องยาสิ่งหนึ่ง “เท่ากับ” เครื่องยาอื่นๆรวมกัน ตำรับประสะกัญชาที่เลือกมา เป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชามากที่สุด ประมาณ 50% ของยาตำรับอื่น อีกทั้ง ประสะกัญชาเป็นตัวยาที่ช่วยในการรักษา และชูสรรพคุณที่สำคัญของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการชูกำลัง เจริญอาหาร และช่วยให้นอนหลับได้ดี ดังนั้น หากเราจะทำให้ยาของไทยเป็นที่ยอมรับ เราต้องกำหนดคุณภาพ สร้างมาตรฐาน เมื่อถึงเวลาที่จะมีคนนำไปใช้ เราก็จะได้รับยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสม่ำเสมอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/