สสส. จับมือ สถ. พัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น ผุดโมเดลต้นแบบ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา”
สสส. จับมือ สถ. พัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น ผุดโมเดลต้นแบบ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” 12 แห่ง ชี้ช่วยพัฒนาการเด็ก ลดพฤติกรรมก้าวร้าว-ติดมือถือ พร้อมขยายผลไปยัง อปท. ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) จัด “เวทีสานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” เพื่อจัดการความรู้ระบบการดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาโดยชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย การเรียนรู้เสริมสร้างสติปัญญาด้วยสนามเด็กเล่น และมีการจัดการความรู้ทักษะชีวิตและความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของเด็กประถมศึกษา
นางสาวดวงพร กล่าวต่อว่า สสส. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ยกระดับการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อส่งเสริมการเล่นของเด็ก สร้างพื้นที่ต้นแบบ 12 แห่ง ซึ่งได้ทดลองดำเนินการมาแล้ว 2 ปี พบว่า การเรียนรู้จากการเล่นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างการมีวินัยทางสังคม มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีวิถีชีวิตที่สอดรับกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่ ซึ่งหากการเรียนรู้ถูกกระตุ้นด้วยการเล่นในสนามเด็กเล่นที่ออกแบบให้กระตุ้นพัฒนาการของสมองและร่างกาย พัฒนาการทางสังคมที่มาพร้อมปัญญาและอารมณ์ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วย โดยทุนทางสังคมในพื้นที่ที่สามารถร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
“สถานการณ์ครอบครัวของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จาก 2,148 ตำบล พบว่า มีเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ 20% เด็กอยู่กับผู้ปกครอง เช่น ปู่ย่าตายาย 40% และ 20% อยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว การที่ทำให้เด็กเติบโตมีคุณภาพเหมาะสมโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบนจะต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพราะมีส่วนสำคัญในการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงชุมชน หรือหน่วยงานอปท. จะต้องมีส่วนในการช่วยเหลือดูแลเด็กมากขึ้น จากการทำงานในพื้นที่พบว่า มีกรณีเด็กถูกเลี้ยงด้วยโทรศัพท์ ทำให้พูดช้า ก้าวร้าว การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ทำให้เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น เข้ากับเพื่อนได้ มีความก้าวร้าวลดลง สภาพแวดล้อมจึงมีส่วนสำคัญ ดังนั้นการดูแลเด็กไม่ได้เป็นหน้าที่ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ด้วย” นางสาวดวงพร กล่าว
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ...สานพลังทุกภาคส่วน ร่วมพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา...เด็กปฐมวัยและประถมศึกษาว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสสส. และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จัดทำโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยผ่านการเล่น
นายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา กล่าวว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีแนวคิดให้จัดรูปแบบสถานที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยผ่านการเล่น มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ตามวัสดุที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ โดยแบ่งการเล่นออกเป็นรูปแบบฐานต่าง ๆ เช่น ฐานสระน้ำ ฐานห้อยโหนปีนป่าย ฐานไต่เชือก เป็นต้น สำหรับแนวทางการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จะใช้แนวคิดตามหลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ท้องถิ่น) คือ การร่วมมือขององค์กร และสถาบันหลักในชุมชนท้องถิ่นมาร่วมกันคิด สร้าง และบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รวมทั้งใช้แรงงานในการสร้างจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนจะได้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาร่วมกัน.-