ผ่าทางออก 'พรรคประชาธิปัตย์' กับข้อเสนอฝ่ายค้าน-รบ.อิสระ ร่วมสัตยาบัน พปชร.?
"...แนวทางเรื่องการเสนอเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว เท่าที่ ดูนั้นน่าจะเป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเลือกเดินมาทางนี้มากที่สุด และเป็นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะแทนที่เขาจะไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ เขาก็ไปเป็นฝ่ายรัฐบาลอิสระแทน โดยการทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอิสระดังกล่าวนี้เขาสามารถทำได้ทั้งออกนโยบายต่างๆที่ได้เคยหาเสียงไว้กับประชาชน การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง และถ้าหากพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็เลือกย้ายข้างมาเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเขาทำตามนี้เขาก็จะได้คะแนนนิยมกลับมาเช่นกัน..."
ในขณะที่ขั้วการเมืองกลุ่มพรรคเพื่อไทยออกมาแสดงตน ประกาศจุดยืนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศเป็นทางการไปแล้ว หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา และปรากฎผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ว่า พรรคเพื่อไทยได้รับจำนวน ส.ส.เขต ไปมากที่สุด
แต่สำหรับขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ปรากฎผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ว่า ได้รับคะแนนเสียงเลือกพรรคไปมากที่สุด ก็ยังไม่ได้ประกาศจุดยืนร่วมกับพรรคการเมืองแห่งใดจัดตั้งรัฐบาลเป็นทางการ
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบ้าง พรรคการเมืองใดจะเข้ามาร่วมงานด้วย หน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะบริหารงานบ้านเมืองต่อไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายงบประมาณและกฎหมายสำคัญฉบับต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทและท่าทีของ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกจับตามาตลอดว่า ในท้ายที่สุดแล้วจะตัดสินใจเข้าร่วมจัดการรัฐบาลกับพรรค พปชร. หรือไม่ เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคฯ ก็ออกตัวประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ ไปแล้ว
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะลำบาก จากทางเลือก 2 ทาง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อเสีย คือ
1.ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ข้อเสียที่ตามมา ก็คือ การเสียแนวร่วมจากกลุ่มสมาชิกพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม New Dem กลุ่มสมาชิกพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,นายชวนหลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอาจจะเสียฐานเสียงมวลชน จำนวน 3 ล้าน 9 แสนเสียง ที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยจุดประสงค์ ว่า ไม่ต้องการทั้งการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
2.เป็นฝ่ายค้านอิสระ ตามที่เคยวางแนวทางเอาไว้ก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านอิสระ ก็อาจจะทำให้เสียงของขั้วพรรคการเมืองฝั่งพรรคเพื่อไทย กลายเป็นเสียงข้างมาก มีความได้เปรียบในการประชุมพิจารณางบประมาณ หรือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในอนาคตได้ และแนวทางนี้ อาจจะทำให้ต้องสูญเสียฐานเสียงจากกลุ่มมวลชนที่มีจุดยืนไม่เอา นายทักษิณ ชินวัตร แบบยากที่จะเอาฐานเสียงจากกลุ่มนี้กลับคืนมาได้
ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า กลุ่มฐานเสียงดังกล่าว เคยเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะตัดสินใจไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะความเชื่อว่า ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเท่านั้น ถึงจะขจัดอิทธิพลของนายทักษิณออกไปได้จนหมดสิ้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์จะต้องร่วมกันประกาศจุดยืนและเงื่อนไขซึ่งมีที่มาจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่จะส่งเงื่อนไขที่ว่านั้นไปยังพรรคพลังประชารัฐ
โดยระบุว่า ถ้าหากจะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลนั้น จะต้องมีการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ และจะต้องร่วมกันลงนามสัตยาบันว่าถ้าหากในภายภาคหน้ารัฐบาลไม่ยอมทำตามสัตยาบันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะย้ายข้างไปเป็นฝ่ายค้าน
ซึ่งแน่นอนว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปเป็นฝ่ายค้านเพราะว่าเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ไปแล้วทางพรรคพลังประชารัฐไม่ยอมรับนั้น ย่อมดีกว่าการที่จะไปบอกว่าเป็นฝ่ายค้านเลย
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนดังกล่าว ยังได้ระบุด้วยว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางนี้ในเชิงลึกในกลุ่มสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง จนได้ความเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ปลอดภัย ประนีประนอม และดีกับทางพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด
"ในสภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นออกเป็นหลายพวก ดังนั้นการรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันทั้งจากกลุ่มสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มสมาชิกพรรคที่ต้องการจะไปเป็นฝ่ายค้าน จนกระทั่งได้เป็นเงื่อนไขออกมานั้น น่าจะเปรียบได้กับการถอยกันคนละก้าวเพื่อสร้างสัตยาบันที่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้"
ขณะที่จากการสอบถามความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่น ได้รับทราบเหตุผลเพิ่มเติม ดังนี้
1. เรื่องทิศทางพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอให้มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน จึงจะกำหนดทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ได้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น การให้ความเห็นส่วนตัวโดยเปิดเผยชื่อนั้นอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาได้
2. ประเด็นที่สื่อต่างๆได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะไปร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นประเด็นที่เร็วเกินไปที่จะพูดถึงในตอนนี้ ประเด็นสำคัญที่สื่อควรจะสนใจและน่าเป็นห่วงในตอนนี้ก็คือการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีกำหนดในวันที่ 9 พ.ค. นั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ และจะทำได้โดยไร้ข้อกังขาว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพราะถ้าหากทำไม่ได้ ประเทศก็จะประสบกับสภาวะแตกแยกกันขึ้นมาอีก
แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคฯ ทุกคนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าการจับมือทางการเมืองในโลกนี้นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่มีการต่อรอง หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้น
ส่วนเงื่อนไข ยื่นต่อรองกับทางพรรคพลังประชารัฐ นั้น สมาชิกพรรคฯ รายคนมีความเห็นหลายประเด็น อาทิ
1.ต้องให้เกิดการปฏิรูปตำรวจที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา
2.ต้องให้มีการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาราคายาง ข้าว
3.ต้องให้มีการดำเนินการกับกรณีทุจริตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับข้อครหาทุจริตของบุคคลระดับสูงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
4.ต้องให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างจริง เพื่อจะให้มีปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญให้เหมาะสม
5.จะต้องมีการแก้ไขความเหลื่อมล้ำอันเป็นสาเหตุสำคัญของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในบ้านเมือง
6.จะต้องยุบสภาภายใน 2 ปี
เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ขณะที่ในมุมมองนักวิชาการอย่าง นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นว่า ประเด็นเรื่องเงื่อนไขนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยื่นเงื่อนไขออกมาเป็นคำขาดให้ทางพรรคพลังประชารัฐแล้วมันเป็นเงื่อนไขที่ดีมาก พรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีโอกาสรักษาได้ทั้งพรรค ทั้งคน และทั้งสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องมองต่อไปก็คือเงื่อนไขนั้นจะเป็นอะไร จะเป็นเรื่องการปฏิรูป หรือจะเป็นการไม่เอาบุคคลบางรัฐบาล แล้วเงื่อนไขที่จะดีพอหรือไม่ที่จะทำให้ทุกฝ่ายนั้นมีความพึงพอใจ
นายเจษฎ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่ว่ามานั้น ก็คงจะต้องมีการต่อรองจากทางพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน
"หากดูกรณีอย่างพรรคภูมิใจไทยที่มีเงื่อนไขชัดเจนว่าต้องสนับสนุนกัญชา เขาถึงจะเข้าร่วมรัฐบาลนั้น พรรคพลังประชารัฐก็คงต้องยอมตามนี้เพราะขณะนี้เรื่องประเด็นเสรีกัญชานั้นเป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างมาก แต่พรรคพลังประชารัฐอาจจะต่อรองกับพรรคภูมิใจไทยได้เช่นกันว่าเสรีได้เหมือนกัน แต่ต้องให้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่ในทางสันทนาการ"
“ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าเงื่อนไขอย่างเช่นเงื่อนไขเรื่องการปฏิรูปตำรวจนั้น ผมว่าก็ค่อนข้างจะหนักสำหรับเขาอยู่เช่นกัน เพราะถ้าเขาทำจริงตามเงื่อนไขที่ว่านั้นจริง เขาก็อาจจะทำไปแล้วตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมาก็ได้ ดังนั้นถ้าหากไปยื่นเงื่อนไขเรื่องการปฏิรูปตำรวจ เขาก็อาจจะต่อรองไปได้ว่ากำลังทำอยู่ แต่สุดท้ายก็ทำแบบขอไปที่แบบที่ผ่านมาก็เป็นได้ ซึ่งผมว่าดังนั้นต่อให้ทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขต่างๆบีบไปยังพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็อาจจะมีสมาชิกบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่จริงใจที่จะทำตามเงื่อนไขดังกล่าวอยู่ดี โดยมองจากการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงที่ผ่านมา”
"ส่วนในอนาคตนั้นถ้าหากพรรคพลังประชารัฐไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวที่ว่านี้ พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจลาออกหรือย้ายข้าง เขาอาจจะทำตรงนี้ได้ แต่ก็อาจจะมีเสียงบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์มาว่า แล้วคุณไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐทำไมตั้งแต่ต้นก็เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอนาคต ซึ่งคาดเดายากว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงต้องมองในเรื่องใกล้ตัวกันก่อนว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีเงื่อนไขที่ว่าดีมากนี้ออกมาหรือไม่ และเงื่อนไขนี้จะเป็นอย่างไร" นายเจษฎกล่าวทิ้งท้าย
สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า
ขณะที่ นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวแสดงความเห็นว่า "แนวทางเรื่องการเสนอเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว เท่าที่ ดูนั้นน่าจะเป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเลือกเดินมาทางนี้มากที่สุด และเป็นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะแทนที่เขาจะไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ เขาก็ไปเป็นฝ่ายรัฐบาลอิสระแทน โดยการทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอิสระดังกล่าวนี้เขาสามารถทำได้ทั้งออกนโยบายต่างๆที่ได้เคยหาเสียงไว้กับประชาชน การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง และถ้าหากพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็เลือกย้ายข้างมาเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเขาทำตามนี้เขาก็จะได้คะแนนนิยมกลับมาเช่นกัน"
นายสติธร กล่าวต่อว่า อย่างไรเสีย พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการพรรคประชาธิปัตย์มาเพื่อใช้เป็นเสียงสนับสนุนในการประชุมรัฐสภาเพื่อจะผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณต่างๆไปได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมานานก็น่าจะรู้ดีจึงได้สร้างเงื่อนไขต่างๆขึ้นมา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะต้องทำตาม แต่ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะไปเป็นฝ่ายค้านเลยโดยไม่เสนอเงื่อนไขต่อรองอะไรเลย กรณีนี้จะทำให้พรรคการเมืองที่อยู่ในขั้วของนายทักษิณเกิดความได้เปรียบในการประชุมพิจารณางบประมาณได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งผลจนทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มมวลชนที่ไม่เอาทักษิณ
“ผมมองว่าการที่เขาเสียคะแนนเสียงจากมวลชนที่ไม่เอานายทักษิณ แล้วไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นแค่การเสียฐานเสียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะความคิดของกลุ่มคนที่ยังกลัวอิทธิพลของนายทักษิณก็เลยต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งฐานเสียงเหล่านี้เขาก็พร้อมจะกลับไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้เสมอ แต่ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ จนสร้างความได้เปรียบให้กับทางด้านของพรรคเพื่อไทยในกระบวนการพิจารณางบประมาณ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยากที่จะได้คะแนนเสียงส่วนนี้กลับมาโดยสิ้นเชิง” นายสติธรกล่าว
นายสติธร ยังกล่าวต่อว่า "ส่วนคะแนนเสียงจำนวน 3 ล้าน 9 แสนเสียงซึ่งเป็นกลุ่มไม่เอาทั้งการสืบทอดอำนาจ และไม่เอาพรรคการเมืองขั้วทักษิณ ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.นั้น ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างเงื่อนไขที่ดีพอให้ประชาชนได้รับทราบว่าเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งที่จะขจัดข้อครหาของรัฐบาล คสช.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การตรวจสอบทางฝั่งของรัฐบาล และเป็นเงื่อนไขซึ่งมาจากการหาเสียงของพรรคโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยสุจริต ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สื่อสารด้วยเงื่อนไขแบบนี้มากกว่าแค่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็จะสร้างความเข้าใจได้ว่าที่ไปเข้ากับพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้หวังตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ต้องการจะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบและทำให้ประเทศชาติสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้"
"ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์สื่อสารให้เข้าใจได้แบบนี้ เขาก็น่าจะรักษาฐานเสียงจำนวน 3 ล้าน 9 แสนเสียงที่เลือกเขามาได้ด้วยเช่นกัน" นายสติธร ระบุ
------
ทั้งหมดนี้ คือ ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขของทางพรรคประชาธิปัตย์ที่อาจจะกลายเป็นสัตยาบันที่บังคับให้ทางพรรคพลังประชารัฐต้องยินยอม ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอหลังจากวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ กกต.จะประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ไปแล้วประมาณ 7 วัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น จะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เกิดขึ้น และเมื่อมีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ประเด็นเรื่องการเข้าหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล พปชร. ของทางพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage