เปิด “มาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียง” อุตสาหกรรมอยู่ร่วมชุมชน
ส.เศรษฐกิจพอเพียงจับมือ สรอ. สร้างมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมสัญชาติไทยฉบับแรก ใช้ 9 หลักปรัชญาเป็นแนวทาง หวังโรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน “วิถีบ้าน บ้าน ผ่านวิกฤติได้จริง” โดยมีการเปิดโครงการมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม โดย ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ เลขาธิการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ(สรอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ในการจัดทำมาตรฐานให้องค์กรภาคอุตสาหกรรมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ และเป็นประโยชน์ในแง่การอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างสมดุลยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
“เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมสัญชาติไทยแท้ เพราะที่ผ่านมามาตรฐานลักษณะดังกล่าวถูกกำหนดโดยต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้พึ่งตนเองได้ และขยายผลสู่ชุมชน” เลขาฯสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าว
ดร.สุมิท กล่าวต่อไปว่า สถาบันฯช่วยในแง่การนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงผนวกกับการถอดความสำเร็จจากตัวอย่างอุตสาหกรรมมาขยาย พัฒนาเป็นร่างมาตรฐานฯเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการขอความเห็นเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ หลังจากนั้นจะนำเผยแพร่สู่สาธารณและนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม
นายชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สรอ. กล่าวว่าร่างมาตรฐานฯ เกิดจาก 9 หลักการใหญ่ที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงช่วยประมวลมา 1.หลักทางสายกลางหรือการพัฒนาแบบไม่สุดโต่ง เน้นสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม 2.คุณธรรม มุงที่ปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการไม่เบียดเบียนชุมชนและพึ่งตนเองได้ 3.รอบรู้ ในบริบทรอบข้าง ไม่ใช้การพัฒนาแบบตะวันตกอย่างเดียว 4.พอประมาณ คือสร้างความมั่นคงให้ตนเองแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ชุมชนรอบข้าง
5.หลักการมีเหตุมีผล ใช้สภาพความเป็นจริงเป็นตัวกำหนดการดำเนินการและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 6.ภูมิคุ้มกัน บริหารแบบพัฒนาให้ยั่งยืนเพื่อต้านทานความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 7.การคิดแบบองค์รวม ไม่มุ่งเป้าไปที่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว 8.การพัฒนาแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ทำแบบก้าวกระโดด และสุดท้ายคือการพัฒนาคนให้มีศักยภาพและตื่นรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงรอบข้าง
“เศรษฐกิจพอเพียงมักถูกนำไปใช้ในภาคเกษตร จึงมาคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นว่าให้ภาคอุตสาหกรรมบ้านเราเลิกคิดแค่เรื่องการได้เปรียบเรื่องราคา ช่วยตัดวัฏจักรเดิมให้หันมาคิดเรื่องการพึ่งตนเอง”
นายชวาธิป กล่าวอีกว่า มาตรฐานดังกล่าวอาจเหมาะสมกับโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องการปรับตัวไปสู่การพัฒนาเพื่อสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกระแสที่ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มตื่นตัวหันมาใช้แนวทางนี้มากขึ้น โดยอาจนำไปบูรณาการร่วมกับมาตรฐานไอเอสโออื่นๆ ซึ่งผลที่ได้รับจากการใช้มาตรฐานตัวนี้จะออกมาในรูปของการประกาศรางวัล แต่ที่สำคัญกว่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมกับภาคชุมชนได้
ด้าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กล่าวว่ามาตรฐานนี้จะช่วยผลักดันให้ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมทำงานสอดประสานในเชิงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ด้วย เนื่องจากมีมาตรฐานข้อหนึ่งระบุให้อุตสาหกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาภาคเกษตร แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำภายใต้บริบทของพื้นที่และความต้องการของชุมชนและต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ
“แต่ที่น่าสังเกตคืออุตสาหกรรมในบ้านเรามีจำนวนน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องความยั่งยืนแบบนี้ มีที่โผล่พ้นน้ำมาไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คำถามคือจะทำอย่างไร ก็ต้องให้ต้นแบบโรงงานดีๆ ที่คิดเรื่องดี ทำออกมาให้เป็นรูปธรรมเยอะๆ แล้วสังคมขานรับ ไม่เช่นนั้นมาตรฐานก็จะเป็นแค่มาตรฐานอยู่อย่างนั้น” ดร.วิวัฒน์ กล่าว.