เปิด 6 มาตรการจำกัดใช้ "พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไฟริฟอส"
มาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร เราอยากขับเคลื่อนแนวทางนี้มานานแล้ว อยากให้ทุกสาร ทุกวัตถุอันตรายทางการเกษตร ขับเคลื่อนตามแนวทางนี้ ตัวผู้ใช้เอง เกษตรกรเอง ผู้รับจ้าง ต้องผ่านการอบรม เรียนรู้การใช้สารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาหารของประเทศ
แม้ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ก็เห็นชอบให้มีการจำกัดการใช้แทน โดย 6 มาตรการจำกัดการใช้ ประกอบด้วย 1.ออกกฎหมาย 2.วิจัยสาร/วิธีทดแทน 3.ศึกษาผลกระทบ 4.สร้างการรับรู้ 5.ระบบฐานข้อมูล และ 6.การฝึกอบรม
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงข่าวชี้แจงความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการตามมาตรการจำกัดการใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ชั้น 2 กรมวิชาการเกษตร ซึ่งในฐานะประธานขับเคลื่อน 6 มาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร บอกว่า ระบบฐานข้อมูล คือ ความหวัง เพราะระบบจัดการฐานข้อมูล จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร และมี Web Appication ที่ทำงานร่วมกับฐานข้อมูล บันทึกข้อมูลรายงานการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายเพื่อทราบเส้นทาง และความเหลื่อนไหวของวัตถุอันตรายทั้งระบบ รวมทั้งสาร 3 ชนิดด้วย
สำหรับเรื่องของกฎหมาย ปัจจุบันประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี ทั้ง 3 ชนิด อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน
"มาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร ในอดีตก็เคยดูแลการกำกับการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเราอยากขับเคลื่อนแนวทางนี้มานานแล้ว อยากให้ทุกสาร ทุกวัตถุอันตรายทางการเกษตร ขับเคลื่อนตามแนวทางนี้ ตัวผู้ใช้เอง เกษตรกรเอง ผู้รับจ้าง ต้องผ่านการอบรม เรียนรู้การใช้สารอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาหารของประเทศ หากเราสามารถกำกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรในระบบ เหมือน 3 สารนี้ได้ โดยเฉพาะทุกคนต้องรู้ ผ่านการอบรม มีใบอนุญาต เชื่อว่า ทำให้การใช้สารเคมีเหล่านี้มีประสิทธิภาพ และจะน้อยลงในที่สุด"
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า มีความกังวล เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายมาปรับทั้งระบบการใช้สารเคมีของประเทศ เช่น หากเกษตรกรหาซื้อไม่ได้เกิดอะไรบ้าง เกษตรกรใช้ไม่ถูก หรือการบังคับกับร้านค้าไปขายให้คนไม่มีใบอนุญาต ตรงนี้ขายถูกตรงนี้ขายผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งเราไม่ถึงขั้นมีแบบใบสั่งแพทย์เมื่อซื้อยา แต่กรณีนี้ต้องผ่านการอบรม ใช้ให้ถูก มีการป้องกันตัวเอง และรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้ "ผู้เกี่ยวข้อง" ทั้งเกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ อะไรบ้าง
@ เกษตรกรผู้ใช้ กว่า 1.5 ล้านคน ปัจจุบันไม่ต้องผ่านการอบรม ก็สามารถซื้อสาร 3 ชนิดได้โดยเสรี และไม่จำกัดปริมาณ
หลังจากประกาศ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ เกษตรกรผู้ใช้ ต้องผ่านการอบรม สาธิตการใช้ และหรือผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่กำหนด ส่วนการซื้อสารฯ ต้องแสดงหลักฐานผ่านการอบรมหรือผ่านการทดสอบ ชนิดที่ปลูก พื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณวัตถุอันตราย
@ ผู้รับจ้างพ่น วันนี้มีกว่า 5 หมื่นคนที่ไม่ต้องอบรม รับจ้างพ่นยาโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต สามารถซื้อสารทั้ง 3 ชนิดได้โดยเสรีนั้น
หลังจากประกาศ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ก็ต้องผ่านการอบรมการพ่น 3 สาร (ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ) อีกทั้งไม่สามารถซื้อสารทั้ง 3 ชนิดได้ หากไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่กำหนดให้ใช้
@ ผู้ขาย จากต้องขออนุญาตมีไว้ครอครองวัตถุอันตรายเพื่อขาย ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายและต้องอบรมทุก 5 ปี
หลังจากประกาศ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ จะต้องขออนุญาตมีไว้ครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อขาย โดยระบุชื่อ 3 สาร ไว้ในใบอนุญาต ผ่านการอบรมหลักสูตรการควบคุมการขายวัตถุอันตราย และต้องอบรมทุก 3 ปี ผู้ขายต้องแจ้งปริมาณการขาย สต๊อกสินค้าของ 3 สาร ภายในวันถัดจากวันที่มีการขาย ต้องขาย 3 สารให้เฉพาะเกษตรที่แสดงบัตรผ่านการอบรม หรือ ผ่านการทดสอบ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานชนิดพืชที่ปลูกและพื้นที่ปลูก
ที่สำคัญ กำหนดให้จัดทำป้ายข้อความ "วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้" อย่างชัดเจน และจัดวาง 3 สาร แยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่น
@ ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต จากให้แจ้งปริมาณการนำเข้า ผู้ผลิตต้องแจ้งรายงานการผลิตวัตถุอันตราย
หลังจากประกาศ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตต้องแจ้งปริมารการนำเข้าหรือผลิต และสต๊อกสินค้าของ 3 สาร ภายในวันถัดจากวันที่มีการนำเข้าหรือผลิต และให้แจ้งปริมาณที่ได้รับ พร้อมแหล่งที่มาและแหล่งที่ส่งสาร 3 ชนิดออกไป
@ ผูู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 79,988 คน ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หลังจากประกาศ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ จะได้รับการแต่งตั้ง/อบรม เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบการใช้สาร 3 ชนิด ในพื้นที่รับผิดชอบ
จากนี้ กรมวิชาการเกษตร เร่งสร้างครูถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรและผู้รับจ้างพ่นสารทั่วประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ในประกาศฯ 5 ฉบับ เนื้อหายังกำหนดพื้นที่อนุญาตให้ใช้ 3 สาร
ให้ใช้
- พาราควอต (ปี2562 จำกัดปริมาณการนำเข้า 21,709 ตัน) และไกลโฟเซต (ปี2562 จำกัดปริมาณการนำเข้า 48,501 ตัน) เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืช ในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล
- คลอร์ไพริฟอส (ปี 2562 จำกัดปริมาณการนำเข้า1,178 ตัน) เฉพาะเพื่อกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล
เดิมไม่กำหนดกำหนดพื้นที่ห้ามใช้ 3 สาร แต่จากนี้ พื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ก็ห้ามใช้ด้วย
ประเด็นดังกล่าว ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีข้อยกเว้น สำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืชตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร
ด้านดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบายเพิ่มเติมหลังประกาศมีผลบังคับใช้ จากที่ผู้เกี่ยวข้องเคยใช้ได้อย่างเสรี ต่อไปจะถูกจำกัดโดยชนิดพืช และพื้นที่ปลูก ปริมารการใช้ ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตต้องแจ้งปริมาณการนำเข้าหรือผลิต และสต๊อกสินค้าของ 3 สาร ภายในวันถัดจากวันที่มีการนำเข้าหรือผลิต รวมถึงแจ้งปริมาณที่รับ พร้อมแหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารทั้ง 3 ชนิดออกไป ดังนั้นจึงเชื่อว่า ปริมาณการใช้ 3 สารจะลดลงโดยปริยาย
ส่วนนายศรันย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ขยายความถึงผู้รับจ้างพ่น ต่อไปนี้ต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่น และไม่สามารถซื้อสาร 3 ชนิดได้นั้น ปกติทุกวันนี้เกษตรกร ไม่พ่นยาเอง ฉะนั้นจากนี้เกษตรกรต้องซื้อยาให้ผู้พ่นยา เพราะเขาไม่สามารถซื้อ 3 สารเองได้แล้ว
สุดท้ายเมื่อถามถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร นายศรันย์ อธิบายดังนี้ "หากเราเปิดร้านขายวัตถุอันตรายเหล่านี้ แล้วไม่ขออนุญาต ก็มีบทลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท หรือประกาศ 5 ฉบับ ออกตามมาตรา 20 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ใครไม่ทำตาม ยกตัวอย่างร้านค้า กำหนดให้ขายกับเกษตรกรผู้ที่ผ่านการอบรม เกิดวันหนึ่งขายสารเคมี 3 ชนิดนี้ให้เกษตรกรไม่ได้ผ่านการอบรม ก็มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน แต่เรื่องพวกนี้เราไม่เขียนไว้ เพราะเราไม่เน้นการจับปรับ ด้วยอนาคตจะมีแอพลิเคชั่นตรวจจับ ตรวจสอบข้อมูลการขายอยู่แล้ว ขณะที่ข้อมูลเกษตรกร ก็เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลทางการเกษตร"
ปัจจุบันสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ที่จำกัดการใช้ ผู้นำเข้ารายใหญ่ พาราควอต เป็นของบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ส่วนไกลโฟเซท มอนซานโต้ ขณะที่คลอร์ไพริฟอส ไม่มีผู้นำผลิตหลัก เนื่องจากปริมาณน้อย ..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จำกัดใช้ 3 สารเคมี ปลัด กษ.จี้เกษตรกร รับจ้างพ่นยา-ผู้ขายเตรียมตัวอบรม