เอฟเอโอชี้เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางรอด แนะทำผสมผสาน
ศูนย์กสิกรรมมาบเอื้องเชื่อวิถีบ้านพาโลกรอด ตัวแทนชุมชนบอกวิฤติจากคนอันตรายกว่าธรรมชาติ รัฐ-วิชาการทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น แนะไม่แบบมือรอ-ช่วยตัวเองก่อน เอฟเอโอชี้อีก 40 ปีต้องผลิตอาหารอีก 70% ยูเนปมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ต้นแบบพื้นที่ แนะขยายระดับประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี จัดมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน “วิถีบ้าน บ้าน ผ่านวิกฤติได้จริง” โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กล่าวว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีมานี้เป็นผลพวงจากการพัฒนาแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำให้โลกขาดสมดุล ซึ่งวันนี้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ตั้งรับได้โดยใช้วิถีชุมชนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ ใช้ความเชื่อเรื่องข้าวปลาอาหารเป็นตัวรับแรงสะเทือนจากวิกฤติ
“คนไทยได้เปรียบเพราะมีต้นทุนทางทรัพยากรและวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการปรับตัว แต่เราทิ้งไปหมดผมเชื่อว่าถ้าชาวบ้านจับมือกันหมด ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน สื่อ ภาควิชาการ ใช้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์เป็นตัวขับเคลื่อนจะป้องกันตัวเองจากวิกฤติของโลกได้” ดร.วิวัฒน์ กล่าว
นายพฤ โอ่เดเชา กรรมการเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่าคนมาจากธรรมชาติถูกกำหนดโดยธรรมชาติ หากไม่ปรับตัวกับธรรมชาติไม่มีทางอยู่ได้ เช่น วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือ ชาวดอยใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการทำแฝก ฝาย ใช้ป่าเปียกเป็นแนวกันไฟโดยปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น กล้วยคลุมแนวร่องน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้น ทำไร่หมุนเวียนเพื่อรักษาระดับความชื้นในดิน
“ชาวปกาเกอญอใช้ชีวิตตามฤดูกาล ต้องถางป่าเพื่อปลูกข้าว แต่ก็ปลูกพืชหมุนเวียนและมีสร้างระบบป้องกันไว้ แต่พอโลกร้อน คนกลุ่มหนึ่งกลับสร้างวาทกรรมให้ป่าไม้มาจับกุมชาวบ้านโดยมุ่งเป้าว่าคนอยู่กับป่าเป็นตัวการ ทั้งที่คนข้างล่างพัฒนาอุตสาหกรรมครึกโครม เราถึงได้บอกว่าชาวดอยผ่านวิกฤติธรรมชาติได้ แต่ผ่านวิกฤติมนุษย์ด้วยกันเองไม่เคยได้เลย” นายพฤ กล่าว
นายทินกร ปาโท ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมบ้านบุญ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ภัยแล้งเป็นเรื่องปกติที่ชาวอีสานหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ชาวบ้านมักเชื่อวาทกรรมที่นักวิชาการหรือราชการสร้างขึ้น แล้วเปลี่ยนวิถีการทำกินตามนโยบายต่างๆที่ส่วนกลางหยิบยื่นให้ เช่น โพนหรือจอมปลวกเป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญ มีน้ำบริสุทธิ์ใต้ดินดื่มได้ แต่กลับให้พังโพนเพื่อปรับเป็นที่ราบ
“ บรรพบุรุษให้ภูมิปัญญาให้รู้จักปรับตัวอยู่รอด ถ้าดูจากประวัติศาสตร์อีสานไม่เคยอดอยากถึงมันจะแล้ง ถ้าบอกว่าอีสานแล้งแล้วอยู่ไม่ได้คงตายกันไปหมดตั้งแต่สามพันปีที่” นายทินกร กล่าว
นายประวิช ภูมิระวิ จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่าข้อด้อยของคนไทยเมื่อเจอวิกฤติคือการรอคอยความช่วยเหลือเพียงทางเดียว ทั้งที่พึ่งพาตนเองได้ก่อน เป็นเพราะไปยึดติดกับค่านิยมที่ใช้เงินเป็นกลไกแก้ปัญหา สุดท้ายก็ไม่คิดพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน
“วิกฤติจริงๆเพราะเราไม่เคยปลดแอกจากรัฐ แทนที่จะคิดเรื่องเอาตัวรอดกลับมานั่งรอคอยเงินสี่ห้าพันบาท วิกฤติมันเลี่ยงไม่ได้แต่เตรียมรับมือได้ ทำให้สูญเสียน้อยที่สุดคือสิ่งที่ต้องคิด”นายประวิช กล่าว
ด้านนายเลาฟ์ ฮอร์ฟแมน ตัวแทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กล่าวถึงอุปสรรคต่อการก้าวข้ามวิกฤติโดยใช้ฐานเกษตรอินทรีย์ว่า ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีก 40 ปีข้างหน้าคืออาหารจะไม่เพียงพอต่อกับการเพิ่มขึ้นของประชากร ต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารให้ได้อีก 70% จึงจะพอเลี้ยงคนทั้งโลก แม้ไทยจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่พื้นที่การเกษตรลดลงเรื่อยๆและส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เสื่อมสภาพ เพราะการบุกรุกและใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น ขณะที่การชลประทานยังไม่ดีพอ
นายเลาฟ์ กล่าวว่า หากถามว่าเกษตรอินทรีย์จะเป็นทางรอดของวิกฤตินี้ได้หรือไม่ คำตอบคือพื้นที่ทำจริงตอนนี้มีน้อยมากเพียง 2 % ของโลก หากจะเพิ่มให้ถึง 70% เป็นไปได้ยาก ความเป็นไปได้จึงต้องเจอกันครึ่งทางคือทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เล็กๆ แต่พื้นที่ใหญ่อาจต้องทำแบบผสมผสาน เพราะการทำอินทรีย์ 100% ต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตในท้องที่ ซึ่งขณะนี้ยังทำไม่ได้ ต้องอาศัยการนำเข้า ขนส่ง ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียด้านพลังงานเพิ่มเติมด้วย
นางสาวฮิโรมิ อินากางิ ตัวแทนจากแผนงานสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (ยูเนป) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก คือผลผลิตด้านเกษตรมีผลเป็นลบชัดเจน คาดว่าในอนาคตอุณหภูมิที่สูงขึ้นอีก 1-2 องศาจะสร้างผลกระทบต่อวงจรการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกที่พอเป็นไปได้ในแง่การพึ่งตนเองหากเกิดวิกฤติอาหาร แต่หากจะทำในระดับใหญ่อาจต้องอาศัยการเชื่อมประสานกับภาครัฐเกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริงจึงประสบผลสำเร็จ .