'พันธุกรรมเครือญาติ' เทคโนโลยีใหม่ในการไล่ล่าฆาตกร?
"...หลังจากรอเวลามานานกว่า 46 ปี เราก็ได้คำตอบให้กับครอบครัวของโจดี้ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของหน่วยคดีค้างเก่า (cold case team) และเทคโนโลยีใหม่ด้านดีเอ็นเอ ที่ส่งให้เราเข้าใกล้ความยุติธรรมเพื่อโจดี้เข้าไปอีกขั้น..."
ในบางครั้งที่เกิดคดีอาชญากรรมขึ้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บหลักฐานเป็นดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตามตัวผู้ร้ายเจอได้ทันที เนื่องจากรัฐไม่มีข้อมูลของประชากรทุกคนแต่มีเพียงฐานข้อมูลของผู้ที่เคยมีประวัติเท่านั้น
จึงเป็นไปได้ที่ดีเอ็นเอจากสถานที่เกิดเหตุจะไม่ตรงของผู้ใดเลยในข้อมูล และหากเจ้าหน้าที่ไม่พบเบาะแสอื่นใดก็จะยากต่อการสืบสวนต่อเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว CNN ได้รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปี2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีและความรู้ทางพันธุกรรมมาช่วยระบุตัวผู้ต้องสงสัย และคลี่คลายคดีที่ค้างคานานหลายสิบปีไปได้หลายเรื่อง
โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองสโนโฮมิช รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้จับกุมนายเทอเรนซ์ มิลเลอร์ (Terrence Miller) ชายวัย 77 ปี ในข้อหาเจตนาฆ่านางสาวโจดี้ ลูมิส (Jody Loomis) หญิงสาววัย 20 ปี เมื่อปีพ.ศ.2512 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า ในขณะเกิดเหตุ นายมิลเลอร์อาศัยอยู่ห่างออกไปบริเวณที่พบศพเหยื่อแค่ 8 กิโลเมตรเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวว่า "หลังจากรอเวลามานานกว่า 46 ปี เราก็ได้คำตอบให้กับครอบครัวของโจดี้ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของหน่วยคดีค้างเก่า (cold case team) และเทคโนโลยีใหม่ด้านดีเอ็นเอ ที่ส่งให้เราเข้าใกล้ความยุติธรรมเพื่อโจดี้เข้าไปอีกขั้น"
@ ภาพของนางสาวโจดี้ ลูมิส (Jody Loomis) หญิงสาววัย 20 ปี ที่ถูกฆาตกรรม
สำหรับคดีของโจดี้นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2512 เมื่อโจดี้ขี่จักรยานออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังโรงเลี้ยงม้า แต่ต่อมากลับมีผู้พบศพโจดี้ในป่า
โดยสภาพศพของเธอปลือยเปล่าและถูกยิงที่หัว
แต่สำนวนคดีไม่ได้รับการคลี่คลายจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีการนำเสนอเทคโลยีว่าด้วยพันธุศาสตร์เครือญาติ (Genetic Genealogy) ซึ่งผสมผสานระหว่างพยานพิสูจน์หลักฐานดีเอ็นเอแบบดั้งเดิมและการวิเคราะห์พันธุกรรมทางเครือญาติ
ปัจจุบันบริษัท 23andMe and Ancestry เป็นบริษัทเอกชนผู้มีชื่อเสียงทางด้านดังกล่าว
วิธีการของเทคโลยีว่าด้วยพันธุศาสตร์เครือญาติ (Genetic Genealogy) นั้นเป็นการประสานการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเก็บหลักฐานดีเอ็นเอจากที่เกิดเหตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เครือญาติ และเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลพันธุกรรมชื่อว่า GEDMatch
เรื่องราวเริ่มต้นมาจากช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา 23 andMe and Ancestry ได้สนับสนุนให้ผู้คนส่งตัวอย่างน้ำลายของตนไปให้บริษัทเพื่อวิเคราะห์และสืบค้นชาติพันธุ์ ความเสี่ยงในเรื่องโรคทางพันธุกรรม และเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว และข้อมูลดิบของดีเอ็นเอของบุคคลทั้งหมด
ปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนที่ให้ความสนใจและเข้ารับบริการดังกล่าวจากบริษัท อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของความเป็นบริษัทเอกชน GEDMatch จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
GEDMatch ก่อตั้งโดยนายเคอร์ติส โรเจอรส์ (Curtis Rogers) และ นายจอห์น โอลเซ่น (John Olson) เมื่อปีพ.ศ.2553 ซึ่งเป็นเว็บไซต์สาธารณะที่ให้บริการฟรี โดยผู้คนสามารถบรรจุข้อมูลดิบของดีเอ็นเอตนลงในเว็บไซต์ได้ จากนั้นเว็บไซต์จะนำข้อมูลดิบที่ได้รับไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของผู้คนอีกเป็นจำนวนกว่าล้านคนซึ่งบรรจุข้อมูลในลักษณะเดียวกันลงในเว็บไซต์ และวิเคราะห์รายการเครือญาติไปมากกว่าสี่หรือห้าสายรวมถึงช่องทางการติดต่ออีกด้วย เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ผู้ที่ต้องการค้นหาญาติของตนเอง เช่น เด็กที่ถูกรับเลี้ยงและต้องการค้นหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน
เทคโนโลยีนี้จึงมีส่วนช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยไม่ตรงกับฐานข้อมูลของผู้มีประวัติอาชญากรรมคนใดเลย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะนำดีเอ็นเอที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุไปแปลงให้เป็นข้อมูลดิบซึ่งแสดงลักษณะข้อมูลทางพันธุกรรมร่วมกันระหว่างเครือญาติ (DNA genotype data) และบรรจุลงไปใน GEDMatch หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะนำข้อมูลเครือญาติของผู้ต้องสงสัยที่ได้จากเว็บไซต์ ไปดำเนินการค้นหาและจำกัดวงผู้ที่น่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยต่อโดยพิจารณาประกอบกับข้อมูลอื่นตามแนวทางการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ต่อไป
ในขณะที่คดีของโจดี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับ Parabon NanoLabs และ genetic genealogist Deb Stone ได้รวบรวมหลักฐานดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัยที่เก็บได้จากเหยื่อ แปลงให้เป็นช้อมูลดิบ และบรรจุข้อมูลลงใน GEDmatch ปรากฏว่า GEDmatch แสดงผลที่อาจจะตรงกันหลายรายการรวมถึงญาติของผู้ต้องสงสัย นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุผู้ที่เป็นพ่อและแม่ของผู้ต้องสงสัยจากแผนภูมิแสดงลำดับเครือญาติอีกด้วย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำดีเอ็นเอของนายมิลเลอร์ที่ได้จากแก้วน้ำที่นายมิลเลอร์ใช้แล้วทิ้ง มาตรวจสอบเทียบเคียงกับดีเอ็นที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุและพบว่าตรงกัน
นายมิลเลอร์ถูกจับเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2562 และถูกแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาในกรณีของโจดี้ โดยศาลกำหนดเงินประกันตัวไว้ที่จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 31 ล้านกว่าบาท
นอกจากคดีของโจดี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังประสบความสำเร็จมาแแล้วหลายครั้งในการช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุตัวผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม
โดยในเดือนเมษายน พ.ศ.2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองซาคราเมนโต มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จับกุมผู้ต้องสงสัยชื่อนายโจเซฟ เจมส์ เดอแอนเจโล (Joseph James DeAngelo) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืน ทำร้าย และฆาตกรรมเหยื่อหลายรายทั่วทั้งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย คดีดังกล่าวเป็นคดีค้างเก่ามาเนิ่นนานกว่า 40 ปีซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าพบแต่เพียงว่าดีเอ็นเอของผู้กระทำความผิดแก่เหยื่อทุกรายนั้นตรงกัน ผู้ร้ายจึงเป็นบุคคลเดียวกัน อัยการในคดีดังกล่าวยังได้เปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นการงมเข็มในมหาสมุทร
ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2561 นายแกรี่ ฮารท์แมน (Gary Hartman) ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองทาโคม่า มลรัฐวอชิงตัน ข้อหาฆาตกรรม ด.ญ.มิเคล่า เวลช์ (Michella Welch) อายุ 12 ปี โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2529 หรือ 32 ปีก่อนที่เจ้าหน้าที่จะจับผู้ร้ายได้ และในเดือนเดียวกัน นายเรย์มอนด์ โรว์ (Raymond Rowe) ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองแลนแคสเตอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย ข้อหาฆาตกรรมหญิงสาวชื่อ คริสตี้ มิแรค (Christy Mirack) โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2535 หรือ 27 ปีก่อนที่เจ้าหน้าที่จะจับผู้ร้ายได้
ในเดือนธันวาคมพ.ศ.2561 นายจอห์น ดี มิลเลอร์ (John D. Miller) ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองฟอร์ท เวนย์ มลรัฐอินเดีย ข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ กักขังและฆาตกรรม ด.ญ.เอพริล แมรี ทินสลีย์ (April Marie Tinsley) อายุ 8 ปี โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2531 หรือ 31 ปีก่อนที่เจ้าหน้าที่จะจับผู้ร้ายได้
อย่างไรก็ตาม นายเคอร์ติส โรเจอรส์ ได้กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดีเอ็นของบุคคลทั่วไปได้ทั้งหมด แต่เฉพาะเท่าที่เกี่ยวข้องกันกับคดีเท่านั้น ถึงแม้เขาได้แสดงความกังวลในการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของบุคคลได้ แต่ก็ยินดีหากข้อมูลจะสามารถช่วยคลี่คลายคดีฆาตกรรมได้
ปัจจุบัน หน้าเว็บไซต์ของ GEDMatch ได้แจ้งเตือนในระเบียบการใช้งานเว็บไซต์ว่า ข้อมูลอาจนำไปใช้เพื่อการสืบสวนสอบสวนของตำรวจได้
(แปลและเรียบเรียง/ภาพประกอบ จาก: https://edition.cnn.com/2019/04/11/us/cold-case-genetic-genealogy-washington/index.html
https://edition.cnn.com/2018/08/03/health/dna-genealogy-cold-cases-trnd/index.html)
ส่วนในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีและความรู้ทางพันธุกรรมมาช่วยระบุตัวผู้ต้องสงสัย เพื่อคลี่คลายคดีต่างๆ ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยถูกพูดถึงกันมากเท่าไรนัก?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/