อดีตนายกทันตแพทยฯชี้ผลสำเร็จแก้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์
อดีตนายกทันตแพทยสภาชี้ การแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ถือเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วิชาชีพทันตแพทย์ในการเป็นแนวหน้าต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมจนสามารถย้ายการกำกับดูแลเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ พร้อมขอบคุณเพื่อนทันตแพทย์ ภาคีสภาวิชาชีพด้านการแพทย์สมาคม ชมรมผู้ปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์ และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.สาธารณสุข ในการร่วมผลักดันแก้กฎหมายจนสำเร็จ
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ อดีตนายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 60 วันหรือ 4 มิ.ย. 2562 ว่า เป็นเวลากว่า 2 ปีที่วิชาชีพทันตแพทย์ได้ผนึกกำลังกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งผลักดันโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนนำไปสู่การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ในที่สุดรัฐบาลโดยกระทรวงวิทย์ฯ ไม่อาจทนแรงกดดันทั้งจากทันตแพทยสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนภาคีสภาวิชาชีพด้านการแพทย์และบุคลากรด้านการแพทย์จนต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามคำเรียกร้อง
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต้องจารึกไว้ในอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของวิชาชีพทันตแพทย์ที่ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นแนวหน้าและต่อมาได้เป็นแกนกลางในการต่อสู้อย่างมีพลังจนประสบความสำเร็จทั้ งที่เป็นการแก้ไขกฎหมายที่สำคัญและเพิ่งประกาศใช้ได้ไม่กี่เดือนซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แม้กฎหมายฉบับใหม่ยังอาจแก้ไขได้ไม่ครบถ้วน 100% ตามที่ต้องการ แต่ครอบคลุมสาระสำคัญได้ครบทั้งหมด ได้แก่การย้ายการกำกับดูแลเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์จาก ปส.ไปอยู่ที่ สธ. การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม และปฏิบัติได้สอดคล้องกับแนวทางสากล และการกำหนดอัตราโทษที่เป็นธรรมและไม่มีโทษจำคุกกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย
ทั้งนี้หลังจากที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 สธ.และ ปส.จะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติภายใน 90 วัน นั่นก็คือจะต้องออกกฎกระทรวงภายในวันที่ 1 ก.ย. 2562 โดยในส่วนของ สธ. โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งทันตแพทยสภาเข้าร่วมประชุมเพื่อร่างกฎกระทรวงสำหรับกำกับดูแลเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์แล้ว เชื่อว่าจะเสร็จทันตามเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างแน่นอน
ทพ.ไพศาล กล่าวทิ้งท้ายว่าต้องขอขอบคุณเพื่อนทันตแพทย์ ภาคีสภาวิชาชีพด้านการแพทย์สมาคม ชมรมผู้ปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์และที่สำคัญคือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สนช. ที่มีส่วนอย่างยิ่งในกระบวนการการเเก้ไขกฎหมายฉบับนี้จนประสบความสำเร็จ หวังว่าต่อจากนี้วิชาชีพทันตแพทย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างมีพลังด้วยความรักความสามัคคีสืบไป