เมื่อ เยอรมนี 'จักรวรรดิรถยนต์โลก' กำลังสั่นสะเทือนจากการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า
"....ปัจจุบัน ความพยายามแทบจากทั่วทั้งโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้เกิดการปลูกฝังแนวคิดใหม่ ผลักดันนโยบาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือเครื่องยนต์ที่อาศัยน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และแทนที่ด้วยการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ (Electric Vehicle - EV) ซึ่งแน่นอนว่าหลายบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนีย่อมได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้...."
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ชื่นชอบรถยนต์ว่า ประเทศเยอรมนี มีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านการผลิตรถยนต์ระดับหรูตั้งแต่ปี พ.ศ.2413 ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องคุณภาพ ฟังก์ชั่นการใช้งาน การออกแบบรูปลักษณ์ และเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอย่างมากมาโดยตลอด ส่งผลให้ประเทศเยอรมนีกลายเป็นผู้นำทางฝั่งยุโรปในด้านรถยนต์และเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้นำของโลกด้านการผลิตยานพาหนะ
ขณะที่ปัจจุบัน ความพยายามแทบจากทั่วทั้งโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้เกิดการปลูกฝังแนวคิดใหม่ ผลักดันนโยบาย หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือเครื่องยนต์ที่อาศัยน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และแทนที่ด้วยการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ (Electric Vehicle - EV) ซึ่งแน่นอนว่าหลายบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนีย่อมได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว BMW ปรับตัวโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบันร้อยละ 10 ของพื้นที่โรงงานผลิตรถยนต์ของ BMW ในเมืองดินโกลฟิง (Dingolfing) ซึ่งเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้กลายเป็นสถานที่เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คำนวณเป็นมูลค่าที่มหาศาลมากทีเดียวสำหรับ BMW ซึ่งเตรียมตั้งรับในเรื่องกำไรบริษัทที่อาจจะลดลงมากถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ และบริษัทยังต้องเริ่มลงทุนเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นเงินจำนวนมากกว่า 12 พันล้านยูโร หรือกว่า 4.3 แสนล้านบาท
นอกจากนั้น ตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2564 เป็นต้นไป BMW จะลดตัวเลือกในเรื่องระบบขับเคลื่อน (drivetrain) ลงไปกว่าร้อยละ 50
BMW ทุ่มเงินจำนวน 200 ล้านยูโรหรือกว่า 7 พันล้านบาทในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเซลล์แบตเตอรี่รถยนต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบัน BMW นำเข้าเซลล์แบตเตอรี่โดยสั่งซื้อจากโรงงานซัมซุงในประเทศเกาหลีใต้ และบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ล้วนแล้วแต่มาจากเอเชียไม่ว่าจะเป็น LG Chem, Samsung, Panasonic และ China’s Contemporary Amperex Technology(CATL) ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีท่าทีว่าจะมีผู้ผลิตรายใหม่มาล้มผู้ผลิตเหล่านี้ลงได้ แต่รัฐบาลประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศสก็ได้ประกาศจับมือร่วมกันสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการวิจัยพัฒนาและสร้างศูนย์ผลิตเกี่ยวกับแบตเตอรี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเทศเยอรมนีไม่มีแผนที่จะครองตลาดด้านการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้วแบตเตอรี่แต่ละประเภทไม่มีความแตกต่างกัน ความน่าสนใจในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่จึงฟังดูไม่น่าดึงดูดนัก คงมีแต่เพียงประเทศจีนเท่านั้นที่กำลังมุ่งครองตลาดแบตเตอรี่รถยนต์
เช่นเดียวกันกับบริษัทโฟล์คสวาเกนหรือรถโฟล์ค ซึ่งได้พยายามเร่งนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกสู่ตลาดเพื่อส่งเสริมยอดขายให้ได้ถึงร้อยละ 40 ภายในปีพ.ศ.2573 ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะได้ตัวเลขเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น นอกจากนั้นบริษัทยังเตรียมเปลี่ยน 3 โรงงานในประเทศเยอรมนีให้ผลิตเฉพาะแบตเตอรี่เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าแลกมาด้วยการลงทุนมากกว่า 1.2 พันล้านยูโรหรือกว่า 4.3 หมื่นล้านบาทต่อหนึ่งโรงงาน
ในขณะเดียวกัน รถยนต์ Tesla กลับมีมูลค่าตลาดที่สูงเท่ากับ BMW ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา BMW จะผลิตรถยนต์เป็นจำนวนมากกว่า 10 เท่า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข่าวจาก BMW ว่าจะเปลี่ยนโรงงานใดเพื่อการผลิตเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า แต่บอร์ดผู้บริหารของ BMW ได้แถลงว่า ในที่สุด BMW จะได้เริ่มดำเนินการทั้งรถเครื่องยนต์สันดาปและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเรื่องการจ้างงาน ปัจจุบัน พนักงาน BMW กว่า 133,000 คนได้รับการฝึกให้รับมือกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่เป็นที่ชัดเจนว่าในการผลิตรถยนต์รูปแบบใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องใช้คนงานมากเท่าเดิมอีกต่อไป การประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ บริษัทสามารถใช้หุ่นยนต์ในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งง่ายกว่าและลดภาระในเรื่องแรงงานลงอย่างเห็นได้ชัด คงเหลือแต่ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการประกอบแบตเตอรี่ที่จะกลายเป็นคุณสมบัติล้ำค่าราคาแพง
อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศเยอรมนีประวัตินานกว่า 140 ปีนับตั้งแต่เวลาแรกที่มีการผลิตเครื่องยนต์สันดาป ได้กลายมาเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศโดยการจ้างพนักงานมากกว่า 834,500 คน และมีอัตราส่วนเป็น 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกของประเทศ รถยนต์ระดับพรีเมี่ยมจำนวน 8 จาก 10 คันที่ขายได้ในทั่วทั้งโลกในแต่ละปีนั้นเป็นรถยนต์ที่มาจากประเทศเยอรมนี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์นับเป็นร้อยละ 60 ของรายได้ประเทศคำนวณจาก 50 บริษัทแรกของเยอรมนี ประเทศเยอรมนีนับเป็นหัวใจของการผลิตรถยนต์นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ในมุมหนึ่งจึงเป็นความเจ็บปวดของประเทศเยอรมนีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งรับกับจุดจบของยุคเครื่องยนต์สันดาป
นายปีเตอร์ แคเมอเรอ (Peter Cammerer) ผู้นำแรงงานของ BMW กล่าวว่า นักพัฒนาเครื่องยนต์อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าและเร็วกว่าพนักงานประกอบชิ้นส่วนเสียอีก เนื่องจากบริษัทได้เปลี่ยนเงินลงทุนไปที่เทคโนโลยีไฟฟ้ามากกว่า วิศวกรเครื่องกลผู้พัฒนาระบบมอเตอร์อาจจะต้องปรับตัวไปตามความต้องการในอนาคต
งานวิจัยจากประเทศเยอรมนีโดย IG Metall union ร่วมกับ Fraunhofer Institute for Industrial Engineering สรุปไว้ว่า งานจำนวนกว่า 75,000 - 210,000 ตำแหน่งในประเทศเยอรมนีจะไม่เป็นที่ต้องการภายในปีพ.ศ.2573 และแม้งานในสายไฟฟ้าก็จะต้องการเพียง 25,000 ตำแหน่งเท่านั้นภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งตัวเลขนี้ตรงกับงานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดย United Autoworkers เช่นกัน
โฟล์คสวาเกนแถลงว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลและพลังงานน้ำมันซึ่งบริษัทวางแผนจะนำออกสู่ตลาดในปีพ.ศ.2569 จะเป็นรุ่นสุดท้าย นอกจากนั้นผู้ผลิตยังได้ทำข้อตกลงกับพนักงานตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ว่าจะลดจำนวนพนักงานลง 30,000 ตำแหน่งหรือมากกว่า
คาดการณ์ว่าปัญหาเรื่องการจ้างงานน่าจะกระทบสายงานผลิตรถยนต์ในทุกประเทศ แต่คงจะไม่มีประเทศใดสาหัสเท่าประเทศเยอรมนีอีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังกระทบไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นซึ่งเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรถยนต์ อาทิ Bosch และ Schaeffler AG ซึ่งก็ได้เริ่มลดตำแหน่งงานลงแล้ว
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจส่งผลให้ต้องเกิดการยกเครื่องกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก
ทั้งนี้ BMW ยังไม่แสดงความคิดเห็นว่าตำแหน่งงานมากเท่าใดที่จะต้องถูกตัดออกไปแต่ก็ได้มีการคาดการณ์อย่างไม่เป็นทางการว่าตำแหน่งงานจะลดลงประมาณร้อยละ 30 ของยุคเครื่องยนต์พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง
นางคาเรย์โร่ แอนเดร (Carreiro-Andree) ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ความจริงก็คือจำนวนชั่วโมงในการผลิตระบบพลังงานไฟฟ้านั้นน้อยกว่าที่ต้องใช้ในการผลิตระบบเครื่องยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอยู่ตลอด เราผู้สังเกตการณ์คงต้องเฝ้ารอดูการปรับตัวของประเทศเยอรมนีที่รุ่งโรจน์จากการสร้างจักรวรรดิรถยนต์ก่อนแสงสุดท้ายของเครื่องยนต์สันดาปจะมาถึงในเวลาไม่ช้าก็เร็ว
(แปล/เรียบเรียงจาก : https://www.bloomberg.com/features/2019-bmw-electric-car-german-engines/)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage