โยก "พล.ท.ภราดร" นั่งรองเลขาฯสมช. อีกครั้งที่รัฐบาลทำสับสนในทิศทางดับไฟใต้
การหวนคืนเก้าอี้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร แม้จะมีเสียงวิจารณ์ในทางการเมืองจากสื่อหลายแขนง แต่ประเด็นที่ทุกคนอาจจะมองข้ามไปก็คือ ภาพสะท้อนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะหากมองจากการโยกย้ายในครั้งนี้
วันอังคารที่ 26 มิ.ย.2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติรับโอน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ให้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และโอน นายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี แทน
เงื่อนปมทางการเมือง
มติ ครม.ที่ค่อนข้างเงียบเชียบและไม่ค่อยเป็นข่าวนี้ นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่การเมืองผ่านสื่อหลายแขนง สรุปประเด็นได้ดังนี้
1) พล.ท.ภราดร เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สมช.ในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช (ปี 2551) และถูกโยกย้ายออกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะ พล.ท.ภราดร ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับ "สายตรง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พล.ท.ภราดร มีศักดิ์เป็นหลานของ นายปรีดา พัฒนถาบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นตำรวจติดตาม และคอยให้คำแนะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งตัดสินใจก้าวเข้าสู่สนามการเมือง
การส่ง พล.ท.ภราดร กลับคืนสู่เก้าอี้รองเลขาธิการ สมช.ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงถูกมองเป็นเรื่องการเมืองที่เชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยส่งคนของตัวเองที่ตนเองให้ความไว้วางใจเข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ
2) มีข่าวกระเส็นกระสายว่า พล.ท.ภราดร ได้รับการวางตัวจากรัฐบาลให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.คนต่อไป สืบต่อจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2556 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้ขึ้นคุม สมช.ในการปรับย้ายปลายปีนี้เลย แล้วดัน พล.ต.อ.วิเชียร ออกไปอยู่ตำแหน่งอื่น หรือจะรอให้ พล.ต.อ.วิเชียร เกษียณอายุราชการในปีหน้าก่อน
พล.ท.ภราดร เคยดำรงตำแหน่งโฆษกระทรวงกลาโหม เป็นอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) มีเพื่อนร่วมรุ่นที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญก็เช่น พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 โดย พล.ท.ภราดร ยังเหลืออายุราชการถึงปี 2558
คำถามถึง "ระบบคุณธรรม"
การโอนย้าย พล.ท.ภราดร กลับไปนั่งเก้าอี้ใหญ่ใน สมช.ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายของรัฐบาล โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ต้องอาศัยความเป็น "มืออาชีพ" ที่ฝ่ายการเมืองไม่ควรแทรกแซงอย่าง สมช.
แม้จะมีคำชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการจากคนในรัฐบาลว่าต้อง "คืนความเป็นธรรม" ให้กับ พล.ท.ภราดร เพราะถูกโยกย้ายในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ก็มีคำถามย้อนกลับไปจากบางฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
1) นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.ที่ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล ให้ความเห็นผ่านสื่อว่า พล.ท.ภราดร เป็นทหาร และไม่ค่อยเชี่ยวชาญงาน สมช. แต่ที่ย้ายมา สมช.เพราะไม่อาจเติบโตในกองทัพได้ จึงน่ากังวลว่าทิศทางของ สมช.ที่เคยเป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ เมื่อถูกการเมืองเข้ามาเข้ามายุ่งเกี่ยวแล้วจะเป็นอย่างไร
"การโยกย้ายครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ สมช.อย่างแน่นอน โดยเฉพาะขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการนำบุคคลที่ไม่ได้เติบโตมาใน สมช.อย่าง พล.ท.ภราดร เข้ามาทำงาน ทั้งๆ ที่ นายสมเกียรติ บุญชู ที่ถูกย้ายออกไปก็ไม่ได้กระทำความผิดอะไร แต่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังเติบโตมาในสายงาน สมช.มาโดยตลอดอีกด้วย" นายถวิล ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
2) การแทรกแซงหน่วยงานสำคัญอย่าง สมช.โดยฝ่ายการเมือง มีมาตั้งแต่ช่วงต้นของรัฐบาล เริ่มจากการเด้ง นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเก้าอี้เลขาธิการ สมช.เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี โยกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงก็เพื่อเปิดให้เก้าอี้ ผบ.ตร.ว่างลง เพื่อดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่อดีตภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ (พี่ชายของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร) ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการ
การโยก นายสมเกียรติ บุญชู ออกจากเก้าอี้รองเลขาธิการ สมช.เพื่อให้ พล.ท.ภราดร ซึ่งเป็น "สายตรง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปนั่งแทน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับการเด้ง นายถวิล เปลี่ยนศรี นั่นเอง
และผลสะเทือนที่เกิดกับหน่วยงานอย่าง สมช.นั้น รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง สังเกตได้จากกรณี "เอกสารหลุด" ในโครงการที่นาซาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีการอ้างถึงเอกสารความเห็นจาก สมช.ที่ท้วงติงรัฐบาลว่าการอนุมัติให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ความชอบธรรมของรัฐบาลในการผลักดันโครงการลดฮวบ อันเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสะท้อนให้เห็นถึง "รอยร้าว" ในองค์กรแห่งนี้อย่างชัดเจน
ข้อมูลลึกจาก "คนข่าวกรอง"
นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เขียนบทความในคอลัมน์ "กรองข่าวมาเล่า" ในเว็บบอร์ดเสรีไทย เอาไว้อย่างน่าสนใจ เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า...
"...นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อาจกลัวคุณถวิลเหงาก็ได้ จึงส่งคุณสมเกียรติไปเป็นเพื่อนคุยแก้เหงาหรือช่วยกันตบยุงในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมียุงบินว่อนไปหมดเพราะมีน้ำเน่าเยอะ หลังจากนี้คุณสมเกียรติคงมีสภาพคล้ายกับคุณถวิลซึ่งนั่งเหงารองานที่นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่ามีมากมายที่จะให้ทำ แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีงานมาให้ทำเลยสักชิ้น น่าเสียดายที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์สูง กินเงินเดือนที่เป็นภาษีของประชาชนเดือนละหลายหมื่นบาท แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ยอมใช้เขาให้คุ้มค่า
การโยกย้าย พล.ท.ภราดร มาแทนคุณสมเกียรติครั้งนี้ เป็น ‘เหตุผลทางการเมือง’ เพียงอย่างเดียว ย้อนกลับไปหลังจากที่คุณถวิลถูกโยกย้ายเพียงไม่กี่วัน มีความพยายามที่จะย้าย พล.ท.ภราดร มาเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกคน แต่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง นอกจากไม่ยอมลงนามในคำสั่งย้ายแล้ว ยังตะเพิดข้าราชการการเมืองที่นำคำสั่งมาให้เซ็นกลับไป พร้อมกับเอ็ดตะโรเอาว่า เพิ่งย้ายเลขาธิการออกไป ซึ่งเรื่องยังวุ่นวายไม่จบ ยังจะมาย้ายรองเลขาธิการเขาอีกหรือ
การไม่เซ็นคำสั่งทำให้คนที่อยู่เหนือรัฐบาลโกรธมาก ถึงกับโทรศัพท์มาต่อว่า พล.ต.อ.โกวิท ว่า 'พี่ไม่เข้าใจ คนคนนี้เขามีบุญคุณกับผมมาก' นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.อ.โกวิท ถูกปลดออกจากตำแหน่งก็ได้ ในขณะที่การดัน พล.ต.ท.ภราดร ให้แทนคุณสมเกียรติครั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่านายกรัฐมนตรีเร่งรัดมาก เมื่อ พล.ต.อ.ทำไม่ได้ ก็ให้ ร.ต.อ.ทำแทน
คำว่า 'คนคนนี้เขามีบุญคุณกับผมมาก' นั้น ไม่ทราบว่าหมายถึง พล.ท.ภราดร หรือ คุณปรีดา พัฒนถาบุตร ซึ่ง พล.ท.ภราดร มีศักดิ์เป็นหลานชาย คุณปรีดาเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคุณทักษิณถือกระเป๋าเดินตามมาก่อน คุณทักษิณเคารพและเกรงใจคุณปรีดาเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับบิดา ไม่ว่าจะโมโหโกรธาใครมา แต่พอเจอหน้าคุณปรีดา คุณทักษิณจะสงบเสงี่ยมทันที คุณปรีดาให้คำปรึกษาและวางแผนช่วยเหลือทางการเมืองแก่คุณทักษิณตลอดมา โดยอาศัยประสบการณ์ทางการเมืองหลายสิบปีชนิดที่อ่านการเมืองทะลุปรุโปร่งหมด
คุณปรีดาเป็นผู้ใหญ่ที่สุภาพเรียบร้อย ให้ความเมตตากับน้องๆ นักการเมืองเสมอมา จึงเป็นที่เคารพรักของนักการเมืองรุ่นก่อน สมัยที่คุณทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาทางการเมืองตัวจริงก็คือคุณปรีดานี่เอง
ฉะนั้นหากคุณปรีดาส่งหลานชายเข้าประกวด เชื่อว่าทั้งพี่ชายและน้องสาวต้องเกรงใจบ้าง คนอ้างว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับ พล.ท.ภราดร บ้าง เพราะถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ย้ายออกไป รัฐบาลชุดนี้จึงคืนความเป็นธรรมให้กับ พล.ท.ภราดร เรื่องนี้มองเผินๆ ก็ดูเหมือนจะมีเหตุผลรับฟังได้ แต่ต้องดู 'ที่มา ที่ไป' ของ พล.ท.ภราดรด้วย
ย้อนหลังไปสมัยรัฐบาลทักษิณ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ชอบไปคุยด้วยตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน ก่อนที่จะยึดอำนาจ เมื่อ พล.อ.วินัย กลับกองทัพ คุณประกิจ ประจนปัจจนึก ได้เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน 1 ปีก่อนเกษียณ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ส่ง พล.ท.ศิรพงศ์ บุญพัฒน์ มาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ พอถึงรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ได้ย้าย พล.ท.ศิรพงศ์ และส่ง พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา (ตท.10) มาดำรงตำแหน่งแทน และ พล.ท.สุรพล ได้นำเอา พล.ท.ภราดร มาเป็นรองฯ แต่รู้กันดีใน สมช.ว่าเลขาธิการตัวจริงก็คือ พล.ท.ภราดร นั่นเอง คุณสมเกียรติที่เตรียมตัวขึ้นเป็นรองฯและถูกตัดหน้าไปจึงต้องรอไปก่อน ต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ย้าย พล.ท.สุรพล กลับกองทัพ และย้าย พล.ท.ภราดร เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคุณถวิลเป็นเลขาธิการความมั่นคงฯ คุณสมเกียรติเป็นรองฯ
เพราะฉะนั้นการอ้างความเป็นธรรมก็ต้องดูที่มาที่ไปเหมือนกัน อย่าหยิบเฉพาะในช่วงเวลาที่จะเป็นประโยชน์กับตนมาพูดเท่านั้น
ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะตั้งอัตรารองเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ขึ้นมาใหม่อีกอัตราหนึ่งสำหรับ พล.ท.ภราดร เพื่อไม่ให้กระทบต่อรองทั้ง 3 คน แต่ปรากฏว่ามีปัญหาด้านเทคนิคหลายประการ จึงต้องใช้วิธีโยกย้ายคุณสมเกียรติแทน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิยมของผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลชุดนี้ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ ส่วนวิธีการนั้นไม่สนใจว่าจะกระเทือนใครหรือไม่อย่างไร..."
คำถามเรื่อง "ทิศทางดับไฟใต้"
ยังมีประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก คือผลกระทบต่อทิศทางนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สะท้อนผ่านการโยก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กลับไปเป็นใหญ่ใน สมช.
เพราะต้องไม่ลืมว่า นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งจัดทำโดย สมช.ในฐานะ "เจ้าภาพ" งานด้านความมั่นคง และถือเป็น "คัมภีร์ดับไฟใต้" ที่ทุกหน่วยต้องยึดถือนั้น สนับสนุนให้มีการ "พูดคุยสันติภาพ" หรือ peace talk โดยในนโยบายเขียนเอาไว้ชัดว่า "การพูดคุยสันติภาพ" สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างมี "เอกภาพ" และไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
วัตถุประสงค์ข้อ 8 จาก 9 ข้อเพื่อแปรนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ไปสู่การปฏิบัติ ระบุเอาไว้ว่า เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ มีวิธีการคือ
1.ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
2.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
ประเด็นก็คือ พล.ท.ภราดร เคยแสดงทัศนะต่อผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้หลายครั้งว่า เขาเชื่อว่าปัญหานี้ทำให้ "จบ" ได้อย่าง "เบ็ดเสร็จ" โดยให้อำนาจเต็มกับแม่ทัพภาคที่ 4
"สูตรดับไฟใต้" ที่ให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีอำนาจสูงสุดในระดับพื้นที่ เคยได้รับการนำเสนอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีการจัดเวิร์คชอปอย่างใหญ่โตเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว แนวทางก็คือให้มีคณะกรรมการบริหาร หรือ "บอร์ด" ใน 2 ระดับ ได้แก่ "บอร์ดระดับนโยบาย" ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับ "บอร์ดระดับพื้นที่" ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) เป็นประธาน
ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยออกแบบไว้ให้เป็นหน่วยงานในระดับเดียวกับ กอ.รมน.นั้น จะถูกย่อยลงให้เป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก" ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 ตามสูตรนี้
เดิมทีช่วงตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยใหม่ๆ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลดูจะเห็นด้วยกับแนวทางที่ กอ.รมน.นำเสนอ จึงไฟเขียวให้มีการจัดเวิร์คชอป แต่แล้วจนถึงปัจจุบัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. (และ ผอ.ศอ.บต.โดยตำแหน่ง) ก็ยังไม่ยอมลงนามในร่างคำสั่งที่เป็น "สูตรดับไฟใต้" ตามที่ กอ.รมน.เสนอ
หนำซ้ำยังกลับใช้ ศอ.บต.ตามโครงสร้างที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางเอาไว้ เปิดแนวรุกทางการเมือง ซื้อใจคนทุกกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการทำงานของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบันอีกด้วย
คำถามก็คือ การตั้ง พล.ท.ภราดร กลับไปเป็นรองเลขาธิการ สมช.ตอบโจทย์ดับไฟใต้ของรัฐบาลตรงไหน เพราะแนวคิดแนวทางของ พล.ท.ภราดร ดูจะตอบโจทย์ของ กอ.รมน.มากกว่า
นี่คือความสับสนอีกครั้งคราของรัฐบาลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายดับไฟใต้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด...
ย้อนกลับไปที่คำว่า "เอกภาพ" เพื่อแปรนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ไปสู่ภาคปฏิบัติ แม้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ จะเพิ่งจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.เป็นประธาน พร้อมบทสรุปการเดินหน้า 9 ยุทธศาสตร์ 29 เป้าหมาย และ 5 แนวทางขับเคลื่อน
ทั้งหมดก็เพื่อบูรณาการงานของ ศอ.บต.กับ กอ.รมน.ซึ่งเชื่อมโยง 17 กระทรวง 66 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ทว่าผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ในระดับพื้นที่ยังไม่มีอะไรขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย
นายทหารระดับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวเพิ่งกล่าวบนเวทีเสวนาแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯเมื่อไม่นานนี้ว่า พวกเขายังไม่ทราบว่าต้องทำอะไรบ้างตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่เป็นข่าวครึกโครมเสียด้วยซ้ำ ยกเว้นภารกิจที่ทหารต้องรับผิดชอบอยู่แล้วทุกวันอย่างไม่มีหยุดพัก
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังเพิ่งให้สัมภาษณ์เชิง "คาดโทษ" หน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ยอมลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่อยู่เลย...
"เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ในวงประชุมทั้ง ศอ.บต.และ กอ.รมน.ก็เห็นตรงกันว่าต้องให้แต่ละกระทรวงเข้าไปดำเนินการ ซึ่งมีเวลาให้ทำอีก 3 เดือน ถ้าไม่ปฏิบัติ งบประมาณที่จะใช้ใน 3 จังหวัดจะคืนให้รัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในเรื่องที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ร่วมต่อไป เรื่องนี้ต้องเอาจริง"
เป็นคำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้!
ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดไกลไปถึงการแปรนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการ "พูดคุยสันติภาพ" ซึ่งต้องใช้การทำความเข้าใจอย่างมากกับบุคลากรทุกหน่วย ทุกฝ่ายที่ร่วมรับผิดชอบอยู่ในปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงประชาชนคนไทยทั้งประเทศด้วย
แต่รัฐบาลกลับย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี และ นายสมเกียรติ บุญชู ผู้ซึ่งปลุกปั้นแนวทางการแก้ปัญหาที่ว่านี้ออกไปจาก สมช.
การส่ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เข้าไปนั่งใน สมช.จึงเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น หาได้ตอบโจทย์ของปัญหาภาคใต้แต่อย่างใดไม่
และรัฐบาลก็ยังคงสร้างความสับสนในนโยบายต่อไป ในห้วงที่ไฟใต้กำลังคุโชนเข้าใกล้ 1 ทศวรรษเต็มที!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยรัฐ
ข่าวเก่าเกี่ยวกับ พล.ท.ภราดร ในเว็บอิศรา : แม่ทัพภาค 4 ลุยสร้างเอกภาพดับไฟใต้ แง้มนโยบายเคาะประตูทุกบ้านรับฟังปัญหา-สานงานพัฒนา
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4125&Itemid=4