พลิกพฤติการณ์อดีตคลังนราธิวาส ปลอมเอกสาร-เบิกเงิน 6.7 แสน ก่อนอุทธรณ์ยืนคุก 19 ปี
ย้อนพฤติการณ์อดีตคลังนราธิวาส ก่อนศาลอุทธรณ์คดีทุจริตพิพากษายืนตามชั้นต้นจำคุก 19 ปี 6 เดือน เหตุเบิกเงินมิชอบ 7 ครั้ง 6.7 แสน อ้างเป็นเงินนอกราชการ เอามาเก็บไว้นาน 76 วันก่อนเปิดบัญชีใหม่ส่งคืน ปลอมเอกสารราชการส่งผู้ว่าฯ-อธิบดีกรมบัญชีกลาง-คกก.สอบสวนวินัย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า นางกชพร คะนึงคิด หรือกชกร ถนอมนิ่ม อดีตคลังจังหวัดนราธิวาส ถูกศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกหนัก 19 ปี 6 เดือน ใน 2 ข้อหาคือ เบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝาก 3 องค์กร 6.7 แสนบาทโดยมิชอบ และการปลอมเอกสารราชการ (อ่านประกอบ : อุทธรณ์ยืนคุก 19 ปี 6 ด.! อดีตคลังนราธิวาส ปลอมเอกสารราชการ-เบิกเงิน 6.7 แสนมิชอบ)
หลายคนอาจสงสัยว่า การเบิกเงินจ่ายเงินมิชอบเพียง 6.7 แสนบาท และปลอมเอกสารราชการ ทำไมโทษจำคุกถึงสูงขนาดนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปพฤติการณ์ตามคำพิพากษาของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.กชพร คะนึงนิด หรือนางกชกร ถนอมนิ่ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดนราธิวาส เป็นจำเลย
โดยขณะเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2555 จำเลยเบิกถอนเงินสด 3 บัญชี จำนวน 7 ครั้ง ได้แก่ บัญชีห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี 95,140 บาท บัญชีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 199,203 บาท และบัญชีชาวไทยมุสลิมจังหวัดนราธิวาส 384,673 บาท รวมเป็นเงิน 678,039 บาท อันเป็นเงินที่สำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้เปิดบัญชีและรับฝากไว้ แต่จำเลยได้ถอนเงินฝากออกมาโดยมิชอบ และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งของทางราชการ โดยจำเลยไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวส่งฝาก และเก็บไว้ที่คลังจังหวัดนราธิวาสในวันรุ่งขึ้นทันที ตามข้อบังคับว่าด้วยการฝากและถอนคืนเงินต่อกระทรวงการคลัง หรือจำเลยได้เบียดบังเงินดังกล่าวไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาเงินนั้นไปเสีย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายตามจำนวนเงินดังกล่าว
ภายหลังจำเลยกระทำความผิดข้างต้น เมื่อมีผู้รายงานให้กรมบัญชีกลางทราบ จำเลยพยายามกลบเกลื่อนความผิด โดยจำเลยได้ทำหนังสือบันทึกข้อความของสำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาส เรื่อง ขอมอบเงินที่ไม่ทราบแหล่งที่มาให้จังหวัดจัดการตามวัตถุประสงค์ หน้าแรกย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความว่า “ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อเงินดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอถอนเงินนี้เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว และนำมาฝากไว้ต่อคณะกรรมการคลังในลักษณะหีบห่อก่อนที่จะมีการเบิกถอนออกไป” จำเลยเสนอบันทึกข้อความดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่มีคำสั่งให้เก็บรักษาเงินจำนวนนี้ไว้ที่คลัง
ต่อมาปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยจำเลย จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในหนังสือบันทึกข้อความของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในหน้าสุดท้ายของหน้าแรกแผ่นที่ 1 ว่า “ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อเงินดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงถอนเงินนี้เป็นระยะ ๆ เพื่อทราบความเคลื่อนไหว และนำมาฝากไว้ที่ตู้เซฟเก็บเงินของคลังจังหวัด เพื่อจะได้นำฝากต่อคณะกรรมการคลังในลักษณะหีบห่อต่อไป เนื่องจากเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณสมควรจะนำฝากไว้ชั่วคราว”
ต่อมาจำเลยได้ใช้และอ้างหนังสือฉบับนี้ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทำปลอมขึ้นบางส่วนต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อให้เชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันน่าจะเกิดความเสียหายต่อราชการ และองค์กรที่เป็นเจ้าของเงินทั้ง 3 บัญชี รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กรมบัญชีกลาง และเป็นกรณีจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสั่งการให้จำเลยเก็บรักษาเงินไว้ที่คณะกรรมการคลังก่อน เพื่อทำการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยได้ปลอมเอกสารแก้ไขคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาเป็นให้จำเลยนำเงินสดมาฝากไว้ที่ตู้เซฟเก็บเงินของคลังจังหวัดนราธิวาส อันเป็นการป้องกันหรือขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมายและคำสั่ง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หลังเกิดเหตุเป็นเวลานานถึง 76 วัน จำเลยได้นำเงิน 678,039 บาท ที่ได้เบิกถอนไปมาส่งคืน ฝาก และเก็บไว้ที่คลังจังหวัดนราธิวาส
จำเลยให้การปฏิเสธ
@เงินทั้ง 3 บัญชีไม่ใช่เงินส่วนตัว ไม่มีสิทธิถอน
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบภาค 9 พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2539 นายธนิต จิตนุพงษ์ คลังจังหวัดนราธิวาส ได้เปิดบัญชีเงินฝากตามฟ้องทั้ง 3 บัญชี โดยไม่มีใบเสร็จรับเงินผู้บริจาคหรือวัตถุประสงค์ในการใช้เงินบริจาค ไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขานราธิวาส กำหนดเงื่อนไขผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเป็นตนเองแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายสุธี จึงมีผลบุญ ดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดนราธิวาสคนต่อมา เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเป็นตนเองแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเดือน ก.ค. 2555 เมื่อจำเลยมาดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดนราธิวาส จำเลยมีหนังสือถึงธนาคารขอเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเป็นจำเลยแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดเบิกถอนเงินไปจาก 3 บัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ธนาคารส่งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีมาให้แก่สำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดนราธิวาส ได้ถอนเงินปิดบัญชีทั้ง 3 บัญชี ส่วนทางไต่สวนไม่ปรากฏหลักฐานใดว่า เป็นเงินส่วนตัวของนายธนิต หรือบุคคลอื่นที่อาศัยชื่อนายธนิตเป็นตัวแทนให้เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อเก็บรักษาไว้แทนบุคคลนั้นแต่อย่างใด
ดังนั้นด้วยเหตุผลเพียงว่า ไม่ปรากฏหลักฐานผู้บริจาค และหลักฐานวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินบริจาค แต่ชื่อบัญชีก็ระบุชื่อองค์กรสังกัดส่วนราชการไว้ชัดเจน มิใช่ระบุชื่อบัญชีเงินฝากเป็นชื่อบุคคลใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัวของบุคคลใดที่มาเปิดบัญชีไว้ในนามของคลังจังหวัดนราธิวาส กับไม่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นประโยชน์ที่นายธนิตจะสร้างข้อยุ่งยากในการปกปิดทรัพย์สิน โดยแอบฝากเงินส่วนตัวด้วยวิธีแอบอ้างใช้ชื่อบัญชีขององค์กรสังกัดส่วนราชการที่ตนไม่ได้ทำงานทั้งสามแห่งเพื่อประโยชน์ใด นอกจากนี้นายธนิตยังระบุที่อยู่เจ้าของบัญชีเป็นสำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย
จึงมีเหตุให้เชื่อว่า ผู้บริจาคเงินต้องการบริจาคเงินให้องค์กรสังกัดส่วนราชการหรือนิติบุคคลตามชื่อในบัญชีทั้ง 3 แห่งไว้ให้แก่ส่วนราชการใช้จ่ายจริง ทั้งตลอดตั้งแต่เปิดบัญชีจนถึงเวลาที่จำเลยดำรงตำแหน่ง ไม่มีผู้ใดหรือส่วนราชการใดมาอ้างสิทธิในเงินทั้ง 3 บัญชี ข้อต่อสู้ของจำเลยว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินของทางราชการ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
@อ้างไม่ใช่เงินราชการ ไม่ต้องดูแลรักษา ฟังไม่ขึ้น
เงินทั้ง 3 บัญชีระหว่างที่คลังจังหวัดนราธิวาสเก็บเงินบริจาคไว้ในบัญชีเงินฝาก ต้องถือว่า จำเลยในตำแหน่งคลังจังหวัดคนต่อมา มีหน้าที่เก็บรักษาเงินไว้แทนส่วนราชการนั้น หรือแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ดังนั้นในโอกาสแรกที่จำเลยทราบถึงจำนวนเงินบริจาคที่อยู่ในบัญชี จำเลยมีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการเก็บรักษาเงินบริจาคไว้ก่อน แม้จำเลยจะไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวในโอกาสแรก เงินจำนวนดังกล่าวก็ยังถือเป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการ ประเภทเงินนอกงบประมาณที่อยู่ในความรับผิดชอบกำกับดูแลของจำเลย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินที่มีผู้บริจาคให้จำเลยมีหน้าที่เก็บรักษา โดยยังไม่ต้องส่งคลัง จะไม่เป็นเงินนอกงบประมาณที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดชอบ
การที่นายธนิตจะฝ่าฝืนระเบียบทั้งเรื่องการตั้งคณะกรรมการเก็บรักษาเงิน หรือการกำหนดเงื่อนไขผู้มีอำนาจสั่งจ่ายไว้ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็หาทำให้เงินราชการประเภทนอกงบประมาณกลายเป็นเงินส่วนตัวของบุคคลใด อันจะทำให้จำเลยในฐานะคลังจังหวัดนราธิวาส ไม่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาเงินดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การที่หน่วยงานทั้ง 3 แห่งไม่แสดงตนเป็นเจ้าของเงินในเวลาต่อมา ย่อมไม่ทำให้จำเลยในฐานะคลังจังหวัดนราธิวาสสามารถปัดความรับผิดชอบในหน้าที่ดูแลรักษาเงินดังกล่าว ข้อต่อสู้ทั้งหมดของจำเลยว่า เงินทั้ง 3 บัญชีไม่ใช่เงินราชการ และจำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาจึงฟังไม่ขึ้น
@เปลี่ยนสมุดบัญชีใหม่ ไม่ให้ใครรู้ความเคลื่อนไหว
จำเลยทยอยเบิกเงินหลายครั้ง และเก็บเงินที่ถอนไว้จนถึงวันที่ 28 ม.ค. 2556 อันเป็นเวลานานถึง 76 วัน โดยไม่บอกใคร แล้วใช้วิธีสร้างสถานการณ์โดยให้บุคคล 2 ราย เป็นพยานว่า เงินอยู่ในซองในตู้นิรภัยห้องทำงาน โดยก่อนหน้านี้พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่า เงินที่ถอนออกมาทั้งหมด 7 ครั้ง อยู่ในซองในตู้เซฟทั้งหมดทุกครั้งตลอดมาจริงหรือไม่
นอกจากนี้จำเลยยังสร้างสถานการณ์ตั้งบุคคล 2 ราย เป็นกรรมการร่วมกับจำเลยในการดูแลรักษาเงินบริจาคเพื่อให้บุคคลทั้ง 2 ราย เป็นพยานว่า มีเงินบริจาคครบถ้วนอยู่ในซองบรรจุหีบห่อที่เบิกมาจากตู้นิรภัยคลังที่จำเลยแก้ไขทะเบียนนำฝากแล้ว โดยบุคคลทั้ง 2 รายไม่ทราบว่า เงินทั้งหมดมาอยู่ในตู้เซฟในห้องทำงานของจำเลยตั้งแต่เมื่อใด หากพยานทั้ง 2 ไม่ได้ยิน พยานอีกรายหนึ่งทักท้วงจำเลยว่า จำเลยไม่ได้นำหีบห่อมาฝากตู้นิรภัยซึ่งอยู่ในห้องคลังใน พยานทั้ง 2 รายคงไม่ทำบันทึกเหตุการณ์รายงานเหตุการณ์ต่ออธิบดีกรมบัญชีกลางด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอาจคิดว่าเมื่อสมุดเงินฝากทั้ง 3 บัญชีอยู่ที่ตัวจำเลย ก็จะไม่มีใครทราบว่าจำเลยถอนเงินไปทั้งหมดกี่ครั้ง และตั้งแต่เมื่อใด
สอดคล้องกับพฤติการณ์ที่จำเลยมีหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย ขอเปลี่ยนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นจำเลย โดยไม่ลงทะเบียนหนังสือนำส่งไว้ในสารบรรณ แล้วจำเลยเจตนากลบเกลื่อนหลักฐานด้วยการแจ้งธนาคารกรุงไทย สาขานราธิวาสว่า สมุดบัญชีเงินฝากทั้ง 3 บัญชีสูญหาย ทำให้จำเลยได้สมุดเงินฝากเล่มใหม่ทั้ง 3 บัญชี อันเป็นการทำลายหลักฐานการเบิกถอนแต่ละครั้งในสมุดบัญชีเงินเดิม ไม่ให้ใครมาเห็นรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเดิมที่ธนาคารไม่ต้องส่งมาให้สำนักงาน การไปเปิดบัญชีใหม่อีกครั้งที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศาลากลางจังหวัดนราธิวาส คนละสาขากัน จึงเป็นเหตุผลรับรองว่า เหตุใดจำเลยจึงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขผู้มีอำนาจเบิกถอนเป็น 2 ใน 3 คนเสียตั้งแต่วันที่จำเลยทราบว่ามีเงินฝากทั้ง 3 บัญชี อันจะทำให้เจือสมกับหลักฐานที่จำเลยแก้ไขทะเบียนนำฝากหีบห่อที่ห้องฝากคลัง และรายงานให้อธิบดีกรมบัญชีกลางทราบ
ทั้งนี้ระหว่างที่จำเลยครอบครองเงินบริจาคทั้งหมด เป็นเวลา 76 วัน ผิดวิสัยที่จำเลยจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่า ส่วนราชการที่ได้รับเงินบริจาคไม่ตรงกับหน้าที่ต้องมอบเงินบริจาคให้ส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง หรือจำเลยต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นทราบก่อนจะไปถอนเงิน จำเลยอาจนำเงินไปแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง และผู้อื่นโดยไม่มีใครทราบ จำเลยถอนเงินแล้วไม่นำเงินฝากคลังในวันรุ่งขึ้น แม้จะนำเงินทั้งหมดมาคืนโดยการเปิดบัญชีใหม่อีกครั้ง ก็อาจเป็นเพราะเหตุที่จำเลยทราบว่ามีผู้ร้องเรียนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลาง ถือว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยต้องการทราบความเคลื่อนไหวว่าบุคคลใดเกี่ยวพันกับเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อใช้สร้างสถานการณ์ความไม่สงบก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องถอนเงินถึง 7 ครั้งไว้กับตัวเอง ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่จำเลยต่อสู้ว่า เงินที่ถอนยังอยู่ครบถ้วน ก็หาทำให้เจตนาทุจริตสำเร็จกลายเป็นหลุดพ้นไปจากความผิด จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยเบิกเงินทั้งหมด 5 วัน จึงเป็นความผิดกรรมละวัน รวม 5 กรรมตามโจทก์ฟ้อง
@สับเปลี่ยน-แก้ข้อความเอกสารชี้แจง 2 ชุด เสนอผู้ว่าฯ-อธิบดีกรมบัญชีกลาง-คกก.สอบวินัย
จำเลย เป็นผู้พิมพ์บันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ขอมอบเงินที่ไม่ทราบแหล่งที่มาให้จังหวัดจัดการตามวัตถุประสงค์ แผ่นที่ 1 ชุด ก ข้อความ “จึงขอถอนเงินเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว” แต่ยังไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงแก้ไขเป็นชุด ข และสั่งพิมพ์อีกครั้ง แต่จำเลยไม่ได้เสนอแผ่นที่ 1 ในชุด ก ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องการใช้แผ่นที่ 1 ที่แก้ไขในชุด ข เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับเสนอต่ออธิบดีกรมบัญชีกลาง
เหตุที่เสนอแผ่นที่ 1 ชุด ก ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากต้องรีบเร่งเดินทางด้วยเครื่อบินจากสนามบินนราธิวาสกลับมา กทม. ส่วนที่ไม่ได้มีการลำดับเลขหนังสือลงทะเบียนเพราะจำเลยถือหนังสือไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเองแต่ทางไต่สวนได้ความจากพยานว่า จำเลยเป็นผู้สั่งให้พยานพิมพ์บันทึกข้อความแผ่นที่ 1 ทั้งชุด ก และ ข เช่นเดียวกับบันทึกข้อความเสนออธิบดีกรมบัญชีกลาง หารือเรื่องการไม่ทราบแหล่งที่มาของเงิน แต่พยานไม่ได้เป็นผู้ส่งหนังสือทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้หากการเสนอหนังสือบันทึกข้อความต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสผิดหน้าไปจริงตามที่จำเลยต่อสู้ว่าพิมพ์เตรียมไว้ทั้ง 2 แผ่น จำเลยน่าจะสั่งให้พยานพิมพ์ข้อความในแผ่นที่ 1 แต่เพียงชุด ข ไว้เท่านั้น
เมื่อได้ความว่า พยานพิมพ์หนังสือแผ่นที่ 1 ทั้งชุด ก และ ข ให้แก่จำเลย โดยไม่ได้ระบุชื่อพยานเป็นผู้พิมพ์จึงเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาจัดเก็บหนังสือแผ่นแรกชุด ก ไว้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และต้องเสนอแผ่นแรกชุด ข ต่ออธิบดีกรมบัญชีกลาง เพราะไม่อาจปกปิดหลักฐานว่า จำเลยได้ถอนเงินมาทั้งหมด 7 ครั้ง จึงเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้เปลี่ยนแปลงข้อความจากชุด ก เป็นชุด ข โดยใช้ให้พยานเป็นผู้จัดพิมพ์
จำเลยรับราชการในกระทรวงการคลังจนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดนราธิวาส ย่อมทราบว่าหนังสือราชการที่เสนอให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งเช่นใด ถือว่าเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ ผู้ใดจะเปลี่ยนแปลงข้อความให้ผิดไปจากเดิมไม่ได้อีกแล้ว แม้จำเลยจะถือหนังสือไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสด้วยตัวเอง เมื่อบันทึกข้อความถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแผ่นที่ 1 ชุด ก ที่สั่งให้จำเลยดำเนินการตามใดแล้ว การที่จำเลยนำแผ่นที่ 1 ชุด ข เสนอต่อคณะกรรมการสอบวินัยและอธิบดีกรมบัญชีกลาง มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากเดิม
จากข้อความว่า “จึงขอถอนเงินเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว และนำมาฝากต่อคณะกรรมการคลังในลักษณะหีบห่อ ก่อนจะมาทำการถอนไป” เป็นว่า “จึงขอถอนเงินเป็นระยะ ๆ ความเคลื่อนไหว และนำมาฝากไว้ที่ตู้เซฟเก็บเงินของคลังจังหวัดเพื่อจะได้นำฝากต่อคณะกรรมการคลังใน ในลักษณะหีบห่อเมื่อครบจำนวน” เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความให้ความหมายของข้อความในย่อหน้าเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนฯหลงเชื่อว่า จำเลยถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแล้ว หาใช่เพียงครั้งเดียว เพื่อให้ตรงกับหลักฐานการถอนเงินของธนาคารกรุงไทย แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามข้อความในบันทึกที่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด การเปลี่ยนข้อความของจำเลยจึงทำให้คณะกรรมการสอบสวนฯรับฟังข้อเท็จจริงพิจารณาโทษทางวินัยแก่จำเลยคลาดเคลื่อนไป
@พิพากษาคุก 26 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือ 19 ปี 6 เดือน
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งให้จำเลยเก็บรักษาเงินไว้ที่คลังก่อนเพื่อทำการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน เพราะต้องการทราบแหล่งที่มาเพื่อดำเนินการให้มีการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ต่อไป แต่จำเลยขัดขืนคำสั่งโดยกลับนำเงินที่เก็บไว้ที่สำนักงานคลังจังหวัดนราธิวาส ไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศาลากลางจังหวัดนราธิวาส จึงเป็นการขัดขวางมิให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 165 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 กับความผิด พ.ร.บ.ป.ป.ช. 123/1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 25 ปี
ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก แต่กระทงเดียว อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 จึงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 26 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 19 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/