เสริมเกราะคนไทย-แรงงานข้ามชาติ ปลอด “ไข้มาลาเรีย” ภายในปี 67
มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กำจัดไข้มาลาเรีย เน้นให้ความรู้ “คนไทย-แรงงานข้ามชาติ” ในพื้นที่เสี่ยง ตระหนัก ป้องกัน เพื่อดำรงชีพด้วยวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่าอย่างสมบูรณ์
...ปี 2561-2567 โรคไข้มาลาเรียต้องหมดไปจากประเทศไทย
นี่คือเป้าหมายสูงสุดการขับเคลื่อนของภาครัฐและภาคีเครือข่าย เพื่อให้โรคไข้มาลาเรียเป็นศูนย์ แต่ด้วยระบบการบริการสาธารณสุขในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ในบางครั้งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ อย่างกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ กลุ่มประชากรข้ามชาติที่มีการเคลื่อนย้ายระหว่างชายแดน และชนกลุ่มน้อย ทำให้การแก้ปัญหายังคงเป็นความท้าทาย
จ.ศรีสะเกษ เป็นพื้นที่กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในยุทธศาสตร์กำจัดไข้มาลาเรียในประเทศไทย ซึ่งมูลนิธิรักษ์ไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 อำเภอที่เคยมีเชื้อมาลาเรียต้องไม่มีการแพร่เชื้อ 95% และปลอดจากการแพร่เชื้อภายในปี 2567 ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
ธนยศ พรมด้าว ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการดำเนินงานครั้งนี้อยู่ภายใต้พันธกิจ 4 ประการ คือ 1. กำจัดเชื้อที่ดื้อต่อยา 2. ใช้มาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 3. เพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มประชากรเสี่ยง และ 4. พัฒนาการมีส่วนร่วมทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงในพื้นที่ชายแดนด้วย
โดยการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐนั้น จะเข้ามาดูแล 3 อำเภอหลัก ในจ. ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.ภูสิงห์ ขุนหาญ และกันทรลักษ์
“ประชากรที่มูลนิธิเข้าไปดำเนินงานในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย ส่วนมากจะเป็นแรงงานข้ามชาติ และประชากรเคลื่อนย้ายที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งมากและน้อยกว่า 6 เดือน ทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในรูปแบบการเกษตรตามฤดูกาล การปลูกพืชต่างๆ และการเข้ามาทำงานในฟาร์มของชุมชน ตลอดจนกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตดำรงชีพร่วมกันกับป่า และหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ป่า เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน”
ผอ.มูลนิธิรักษ์ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต่อว่า กิจกรรมของโครงการที่ดำเนินการอยู่นั้น มีการสร้างอาสาสมัคร และพัฒนาความรู้ ลำดับแรกในการให้ความรู้ อาสาสมัครจะต้องมีการปฐมนิเทศ เพิ่มทักษะให้กับอาสาสมัครได้รู้ถึงการทำงานการป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เพื่อสามารถให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนได้ ทั้งนี้อาสาสมัครส่วนมากจะต้องเป็นคนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เพราะอาสาสมัครจะต้องเตรียมพื้นที่ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง และสำรวจกลุ่มเป้าหมายด้วย
ด้าน อัฑฒ์สุภัค ฉกรรจ์ศิลป์ หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศช่องสะงำ (อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ) กล่าวถึงโครงการที่จัดขึ้นเป็นการควบคุมโรคติดต่อที่ดี เพราะมาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งในประเทศไทยยังพบโรคนี้ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา โดยปัญหาหลักที่ทำให้กวาดล้างไข้มาลาเรียให้หมดสิ้นไปไม่ได้นั้น เป็นเพราะว่าเชื้อโรคนี้เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้อการเกิดของยุง คือพื้นที่มีป่าเป็นจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ดำรงชีพร่วมกันกับป่า โอกาสในการกวาดล้างจึงค่อนข้างลำบาก
“วิถีชีวิตของพี่น้องหากินอยู่กับธรรมชาติ แต่การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติก็เป็นดาบสองคม เพราะการอยู่กับธรรมชาติก็มีโรคภัยไข้เจ็บที่แฝงมา เพราะฉะนั้นคำว่ากวาดล้างไม่มีทาง ทำได้เฉพาะป้องกัน สร้างความตระหนักให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้มีแนวทางป้องกันตัวเอง ส่วนภาครัฐก็ต้องมีการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง จึงเป็นที่มาของความถี่ 2 ครั้งต่อเดือน”
หัวหน้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศช่องสะงำ กล่าวถึงส่วนของการดำเนินงานนั้น มูลนิธิรักษ์ไทยเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง เดือนละ 2 ครั้ง หลักๆ จะเป็นการให้ความรู้ และจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันยุงต่างๆ ให้กับคนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งยาทาป้องกันยุง มุ้งชุบน้ำยา ทำให้คนในพื้นที่มีอุปกรณ์ป้องกันเบื้องต้น ส่วนการเข้ามาดูแลเรื่องการรักษา เป็นพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลภูสิงห์ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเข้ามาดูแล และสนับสนุนภารกิจต่างๆ จนทำให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นจุดที่มีแนวทางในการดำเนินการควบคลุม เฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียที่เข้มแข็ง ทั้งยังได้มาตรฐานสากล ไม่แตกต่างจากที่อื่น
ขณะที่ สุภี คุณแขวน นักวิชาการสาธารณะสุขชำนาญการ โรงพยาบาลภูสิงห์ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการบ่งชี้ของไข้มาลาเรียแรกเริ่มคือ การเป็นไข้สูง 38 องศา หนาวสั่น แต่ผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการ แต่หากซักประวัติผู้ป่วยแล้วทราบการดำรงชีพ จะมีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที มีผู้ป่วยหลายรายเป็นไข้มาลาเรียแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง บางรายเป็น 4-5 ครั้ง โดยการประกอบอาชีพของผู้ป่วยนั้น ทำให้เราป้องกันและควบคุมทั้งหมดไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นเราก็ให้ความรู้ และแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันยุงต่างๆ ให้กับพี่น้องในพื้นที่ แต่เหตุที่กลับมาเป็นมาลาเรียอีก บางคนมีสาเหตุมาจากเชื้อมาลาเรียตัวเดิม บางคนก็เกิดจากเชื้อมาลาเรียตัวใหม่
“ถามว่าไปกรีดยางพาราป้องกันยุงส่วนใดได้บ้าง เขาก็ผูกยากันยุงไว้ข้างหลัง แต่ยุงก็กัดอยู่ดี เพราะยุงก็มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ แม้บางคนจะทายาป้องกันยุง แต่อยู่ได้เพียง 2 ชั่วโมง ยาก็หมดฤทธิ์ ซึ่งการกรีดยางพาราหลายๆ ไร่ต้องใช้เวลาพอสมควร แม้ใส่เสื้อคลุม บางครั้งก็ไม่สะดวกต่อการทำงานในเวลาเร่งด่วน ส่วนใหญ่ยุงก็มักจะกัดใบหน้า เพราะมีไฟส่อง และหากใส่หมวกหรือปิดมิดชิดมาก ก็จะเกิดปัญหาในการทำงาน นี่เป็นสาเหตุเบื้องต้นของผู้ป่วยที่ทำให้ติดเชื้อมาลาเรีย” นักวิชาการ โรงพยาบาลภูสิงห์ ขยายความ
อีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นมาลาเรียซ้ำๆ นั้น สุภี ระบุส่วนใหญ่มาจากการประกอบอาชีพหาของป่า ถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยใช้ยากันยุง อย่างเช่นการล่าสัตว์ เพราะสัตว์ส่วนมากหากได้กลิ่นยากันยุงจะไม่ออกมาตรงที่เขาดักอยู่ เขาจึงใช้วิธีการดูดบุหรี่ไล่ยุงแทน ซึ่งไม่สามารถช่วยเขาป้องกันได้
น้ำฝน บัวศิริ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลภูสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดูแลผู้ป่วยไข้มาลาเรียนั้น เน้นไปที่การเข้าถึง และรีบเข้ารับการรักษา เพราะใน จ.ศรีสะเกษมีผู้ป่วยหลายรายเสียชีวิตจากไข้มาลาเรีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มีผู้ป่วยเสียชีวิตไป 1 ราย จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมไว้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเข้าออกของแรงงานข้ามชาติ ยังทำให้ยากต่อการเข้าไปดูแลควบคุม แต่เราก็ยังพยายาม โดยร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก ในการการติดตามเข้าเยี่ยมผู้ป่วย เรามีหน้าที่ส่งข้อมูลพื้นฐานให้กับทางมูลนิธิฯ และกรมควบคุมโรค หลังจากนั้นจิตอาสามูลนิธิรักษ์ไทยก็จะมีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วย แล้วกลับมาประเมินผลร่วมกัน
ยุรี เทพอาจ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงการเข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องมาลาเรีย เป็นการให้ความรู้เรื่องการป้องกัน หลักการรักษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายกลับประเทศ จึงก่อให้เกิดอุปสรรคในการตามผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการอบรมนั้น ต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันไข้มาลาเรีย ด้วยการนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปปฏิบัติตาม
นิท เอียง อายุ 35 ปี แรงงานข้ามชาติที่มีอาชีพเก็บของป่า
นิท เอียง อายุ 35 ปี แรงงานข้ามชาติที่มีอาชีพเก็บของป่า เธอบอกว่า เคยเป็นไข้มาลาเรียนานถึง 4 ปี เริ่มแรกมีอาการเวียนหัว เป็นไข้ ปวดเนื้อปวดตัว เข้าตรวจเชื้อครั้งแรกแต่ไม่พบ คุณหมอให้เฉพาะยาแก้ปวดปกติ จนกระทั่งกลับไปที่ประเทศบ้านเกิด (กัมพูชา) ก็ยังเหมือนเดิม คุณหมอจ่ายยามาให้ทาน แต่เมื่อทานยาครบแล้ว อาการก็ไม่ได้หายขาด สุดท้ายไปตรวจพบเชื้อมาลาเรียที่อนามัย และได้เข้ารับการรักษาจนหายขาด แต่ถึงกระนั้นอาชีพของเธอก็ยังเสี่ยงในการกลับมาเป็นมาลาเรียอีกครั้ง เพราะหนทางการเปลี่ยนอาชีพในการทำมาหากินของเธอนั้นไม่มีแล้ว แต่เธอก็มีวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับมาติดเชื้อมาลาเรียอีกครั้ง ด้วยการเข้าร่วมอบรมกับมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นประจำทุกเดือน เพราะครั้งที่เธอป่วยมูลนิธิเข้ามาดูแล และคอยตามประวัติการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนหายขาด ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของมูลนิธิทำให้เธอตระหนักถึงอันตรายของมาลาเรียมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นเธอจึงสนใจ และเข้ารับการอบรมของมูลนิธิอย่างต่อเนื่อง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/