สปสช.แจ้ง ปชช.สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยไม่ถึงวิกฤติ ให้เข้า รพ.รัฐที่ใกล้สุดไว้ก่อน
สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท เดินทางช่วง “เทศกาลหยุดยาวสงกรานต์” หากเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ เข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่” ส่วนกรณีไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ใช้สิทธิรักษาได้ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนะนำให้เข้า รพ.รัฐที่อยู่ใกล้สุดไว้ก่อน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว และปีนี้เป็นวันหยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2561 เป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจำนวนมากที่ทำงานอยู่ต่างถิ่น จะได้เดินทางกลับบ้านหรือไปเยี่ยมญาติ รวมทั้งเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ในช่วงเทศกาลนี้ ในระหว่างนี้ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง หากมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ หรือ Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต กรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง หากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้
สถานพยาบาลอื่นนั้นหมายถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนประจำไว้ และสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเช่นเดียวกันคือแนะนำให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการเบิกจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มความสะดวกเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการเตรียมหลักฐานสำคัญคือบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ