ครม.ไฟเขียวงบฯ 53 ล้าน แผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ครม.อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ให้ปศุสัตว์ดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ 8 มาตรการ ระบุ หากไทยมีระบบที่ดี สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ
วันที่ 9 เมษายน คณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 53,604,900 บาท เห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 รวมถึงขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
แผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย แบ่งการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้
1. โครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ จัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน
2. แผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ
2.1 ระยะก่อนเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัย ป้องกันโรค และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อป้องกันและลดความเสียหายหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น
2.2 ระยะเผชิญเหตุการณ์ระบาด การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยการจัดการควบคุมโรคที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเผชิญเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดความสูญเสียจากการแพร่กระจายของโรคที่จะมีต่อทรัพย์สินของเกษตรกรและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคให้น้อยที่สุด
2.3 ระยะภายหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด เป็นการดำเนินการฟื้นฟูเพื่อปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ลดปัญหาการเกิดโรคอุบัติซ้ำ โดยการนำปัจจัยในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมาใช้ในการฟื้นฟู
โดยประกอบด้วย 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อน การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และการจัดการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
ทั้งนี้ หากกรณีที่ประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากความต้องการสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจยึดผลิตภัณฑ์และผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 20 ก.ย. 2561 - 27 ก.พ. 2562) สามารถตรวจยึดได้ที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง สนามบินนานาชาติภูเก็ต สนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี และสนามบินนานาชาติอู่จะเภา มีจำนวนรวม 209 ครั้ง ปริมาณ 5,766 กิโลกรัม มีจำนวนส่งตรวจ 331 ตัวอย่าง มีผลการตรวจที่ให้ผลบวก จำนวน 22 ตัวอย่าง
จากนั้นกรมปศุสัตว์ได้ออกโปสเตอร์ 5 ภาษาสื่อนักเดินทางห้ามนำผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรเข้าประเทศไทย และเผยแพร่ภาพอินโฟกราฟิก 10 ข้อห้าม 10 ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรมปศุสัตว์ชี้ "กินหมูดิบ" ติดเชื้อ Streptococcus suis มีสิทธิถึงตาย