กรมปศุสัตว์ชี้ "กินหมูดิบ" ติดเชื้อ Streptococcus suis มีสิทธิถึงตาย
กรมปศุสัตว์ชี้ "กินหมูดิบ" ติดเชื้อ Streptococcus suis มีสิทธิเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูดับ ม่านตาอักเสบ ถึงขั้นเสียชีวิต เเนะปรุงสุกก่อนบริโภค เเยกอุปกรณ์ประกอบอาหาร
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่กรณีมีผู้บริโภคกินหลู้หมูดิบติดเชื้อ Streptococcus Suis จนมีอาการ โลหิตเป็นพิษ ไตวายเฉียบพลัน การหายใจล้มเหลว และผิวหนังอักเสบ ทำให้เกิดภาวะเนื้อตายจนต้องตัดขาทั้ง 2 ข้างทิ้งนั้น ยืนยันว่า เชื้อ Streptococcus Suis นั้นสามารถพบได้ทั่วไปในระบบทางเดินหายใจของสุกร เช่น ช่องจมูก และต่อมทอนซิล โดยปกติสุกรที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการป่วย แต่หากมีภาวะเครียดอาจเนื่องมาจากความแออัด ความสกปรก หรืออากาศไม่เหมาะสม จะทําให้เชื้อสามารถเพิ่มจํานวน และแพร่จากต่อมทอนซิลไปยัง ต่อมน้ำเหลือง และติดเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังสมองและทําให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการไข้หนาวสั่น ชักเกร็ง มีผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต ตาบอด หูหนวก ข้ออักเสบแบบรุนแรง ปอดและหลอดลมอักเสบ และอาจจะแสดงอาการชักจากการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
"ผู้บริโภคสามารถติดเชื้อ Streptococcus Suis ได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสุกรที่ติดเชื้อ (Direct contact) โดยเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลและการบริโภคเนื้อ เครื่องในหรือ เลือดสุกรติดเชื้อที่ไม่สุก อาการที่มักพบในผู้ป่วย คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทําให้สูญเสียการได้ยินซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคหูดับ และอาจจะพบอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นเหียน มีไข้ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ และอาจทําให้เสียชีวิตได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด"
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวย้ำว่าผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสุกรแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ และแยกอุปกรณ์ประกอบอาหารระหว่างเนื้อดิบและอาหารสุก รวมถึงเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐานและโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายผ่านตราสัญลักษณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การรับรอง เช่น ตราสัญลักษณ์ Q หรือ ปศุสัตว์ OK เนื่องจากสุกรซึ่งเป็นสัตว์พาหะนำโรคสามารถติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้นการเลี้ยงดูสุกรให้อยู่ในสภาวะสุขาภิบาลที่ดี ไม่ก่อให้เกิดความเครียดในฟาร์มมาตรฐาน และการฆ่าสุกรในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายซึ่งมีระบบการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์จะช่วยความเครียดของสุกรได้ ลดความเสี่ยงการเพิ่มจำนวนและฉวยโอกาสก่อให้เกิดโรคในสุกรของ Streptococcus Suis ได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/