ไทยจัดระดมความเห็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เตรียมพร้อมสู่เวทีสหประชาชาติ
กต. สธ. สปสช. จัดประชุมระดมความเห็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เตรียมพร้อมท่าทีไทย จัดทำข้อเสนอสู่ร่างปฏิญญาการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2562 ภายใต้เวทีสหประชาชาติ มุ่งเป้าประเทศทั่วโลกบรรลุ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพ มีการประชุมรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) เพื่อเตรียมการจัดทำท่าทีระดับประเทศสู่การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการฉลองวันอนามัยโลก 7 เมษายน 2562 “สุขภาพดีถ้วนหน้า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ”
งานประชุมดังกล่าวจัดโดย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 300 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้ให้บริการ ประชาชน นักวิชาการ ผู้แทนสภาวิชาชีพ หน่วยงานระบบหลักประกันสุขภาพและหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน โดยมีผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศในประเทศไทยร่วมสังเกตการณ์
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กล่าวว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบายและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำเป็นข้อมูลสู่การจัดเตรียมประเด็นท่าทีและข้อเสนอแนะของไทยในเวทีการเจรจาร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2562 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเด็นในการรับฟังความเห็นเป็นไปตามที่ประธานสมัชชาสหประชาชาติกำหนด ตามหัวข้อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย (Multi-stakeholders hearing) ดังนี้ 1.การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฐานะตัวขับเคลื่อนการพัฒนาและความเจริญของประเทศอย่างทั่วถึง 2.การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียม และ 3.การมีส่วนร่วมดำเนินการและการลงทุนจากภาคส่วนต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ได้รับฟังจะนำไปสู่การผลักดันในเวทีโลก เพื่อทุกภูมิภาคทั่วโลกบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหรือการขับเคลื่อน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาเพื่อร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ด้านนายพิชิต บุญสุด รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มนโยบายต่างประเทศด้านสุขภาพ โดยในปี 2560 เราสามารถผลักดันให้มีร่างข้อมติในสหประชาชาติ 2 ร่างข้อมติ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้กำหนดให้มีการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเดือนกันยายน
"ประชุมระดับสูงคือการประชุมระดับผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีขึ้นไป ทางสหประชาชาติจะจัดประชุมทุกเดือนกันยายนก็จะมีการคุยในเรื่องที่มีความสำคัญๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาเราผลักดันให้มีการพูดคุยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเดือนกันยายนปีนี้ จึงเป็นที่มาว่าก่อนจะมีการประชุมระดับสูงก็ต้องมีการเก็บข้อมูลประมวลความเห็นของภาคส่วนต่างๆ และก่อนที่จะไปสู่เวทีสหประชาชาติ ประเทศไทยก็ต้องคุยกันในส่วนของเราเองก่อนว่ามีอะไรจะไปเสนอ จึงเกิดเป็นการจัดประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2562 ขึ้นมา" นายพิชิต กล่าว
นายพิชิต กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้รับการชื่นชมอย่างมาก เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานร่วมเกี่ยวกับกระบวนการจัดประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต่างประเทศยอมรับประเทศไทย ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ต่างชาติให้ความสนใจนั้น จะเป็นความสนใจในองค์รวมว่าวิธีการบริหารจัดการของไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง และการที่ไทยเราใช้งบประมาณไม่มาก จุดนี้นี้สามารถนำไปปรับใช้ในประเทศอื่นๆได้หรือไม่ เพราะทุกประเทศไม่ได้รวยเหมือนกันหมด ถ้ามีวิธีการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ เมื่อการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสร็จสิ้นลง ก็จะถือเป็นปฏิญญาทางการเมือง เป็นแนวทางการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีระหว่างประเทศต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 เม.ย. 2562 ก็จะถูกบรรจุอยู่ในปฏิญญานี้ด้วยเช่นกัน