สวทน.โต้โผ ผุดโรดแมป เศรษฐกิจหมุนเวียนไทย 10 ปีข้างหน้ามั่นใจยั่งยืน
สวทน. โต้โผ ผุดโรดแมป “ภาพอนาคตเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” ในอีก 10 ปีข้างหน้า มั่นใจปรับสมดุลโลกเกิดความยั่งยืน
ในการจัดสัมมนา Focus Group เพื่อกำหนดเป้าหมายและขอบเขตของแผนที่นำทางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดเห็นในประเด็นที่มีผลกระทบต่อ เศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศใน 6 ด้าน คือ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นโยบายภาครัฐ และค่านิยมหรือคุณค่า เพื่อสร้างภาพอนาคตเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” เซอร์คูลาร์อีโคโนมี อีก 10 ปีข้างหน้า หรือในประมาณปี พ.ศ. 2030
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า ตามที่ สวทน. ได้จัดทำสมุดปกขาวการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy (BCG)) ซึ่งนโยบาย BCG ดังกล่าว เป็นการนำแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานชีวภาพ เคมีและวัสดุชีวภาพ และการท่องเที่ยว โดย วทน. จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนนำเทคโนโลยีชั้นสูงไปสร้างให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพหรือสตาร์ทอัพที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม โดยทิศทางการพัฒนาของทั้ง 4 อุตสาหกรรม จะต้องยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
ดร.สุรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันในการดำเนินงานด้านเซอร์คูลาร์อีโคโนมีในประเทศไทย มีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อย และสตาร์ทอัพเริ่มให้ความสนใจ และมีการดำเนินรูปแบบการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ก็ยังมีจำนวนจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในระบบรวมทั้งผู้บริโภคยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและบริโภคตามระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม มาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้บริโภคเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตที่ส่งเสริมการหมุนเวียนของทรัพยากร การขาดฐานข้อมูลและระบบในการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการ การขาดระบบหรือแรงจูงใจสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนของวัตถุดิบอย่างเต็มรูปแบบ ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
“การวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังเป็นแนวคิดใหม่ จำเป็นต้องกำหนดขอบเขตการดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาออกแบบการดำเนินการที่จำเพาะเจาะจงในแต่ละอุตสาหกรรมที่สำคัญ ตลอดจนต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งวิเคราะห์ขีดความสามารถทางการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” ผู้ช่วยเลขาธิการ สวทน. กล่าว
ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้จากการร่วมกันวิเคราะห์แผนภาพอนาคต ครั้งนี้ จะเป็นแนวทางการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แหล่งที่มาและการได้มาซึ่งวัสดุ/วัตถุดิบในอนาคต กระบวนการผลิต รูปแบบและวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร วิธีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภค การขนส่ง การกระจายสินค้า ในอนาคต รูปแบบการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นลักษณะใด และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่จะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เป้าหมายและขอบเขตการดำเนินการและหลักคิดที่จำเป็นต่อการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป