สกอ.จับมือกรมหม่อนไหม ยกทักษะทอผ้าชุมชน โกอินเตอร์
พัฒนาหลักสูตรการเลี้ยง ทอ ขึ้นลายผ้าไหม ดึงวิทยาลัยชุมชนจัดการศึกษาเสริมศักยภาพชาวบ้าน เล็งสร้างช่างทอรุ่นใหม่สืบสานภูมิปัญญา เตรียมนำร่อง 6 วชช.
นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ในการพัฒนาหลักสูตรการเลี้ยง การทอ และการพัฒนาลายผ้าไหม ว่าตนได้มองเห็นถึงปัญหาการทอผ้าไหมหรือฝ้ายทอมือคือคุณภาพและราคาที่ต่างกันมากอันเกิดจากกระบวนการขึ้นลายที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้หากสามารถยกระดับการขึ้นลายได้ ราคาของผ้าไหมก็จะสูงขึ้น ดังนั้นวิทยาลัยชุมชน(วชช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จึงควรเข้าไปมีบทบาทพัฒนาศักยภาพชาวบ้านในเรื่องดังกล่าว จึงให้ สกอ.ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมหม่อนไหมนำองค์ความรู้ด้านวิชาการและจัดฝึกอบรมให้กับชุมชนเป้าหมาย
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่ากรมหม่อนไหม จะเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับชุมชนเป้าหมายอาชีพทอผ้าของ วชช. ซึ่งจะทำให้กลุ่มอาชีพทอผ้าที่อยู่ในชุมชนต่างๆของพื้นที่ตั้ง วชช.ได้พัฒนาทักษะวิชาชีพทอผ้าแบบดั้งเดิมให้มีคุณภาพและสามารถแข่งขันในระดับสากล มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาไหมไทยไว้ได้
น.ส.สุนันทา แสงทอง ผอ.สำนักบริหารงาน วชช. กล่าวว่าจากการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน ที่ประกอบอาชีพการทอผ้าไหม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านโคกหม้อ จ.อุทัยธานี พบปัญหาเยาวชนในท้องถิ่นไม่สนใจภูมิปัญญาชาวบ้าน ดังนั้นทั้ง 2 หน่วยงานจึงมีเห็นร่วมกันว่าจะสร้างช่างทอรุ่นใหม่เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของกลุ่มบ้านโคกหม้อ รวมทั้งจะสนับสนุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การฟอกย้อม เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหม และให้มีรายได้จากการทอผ้าเพิ่มขึ้น ในระยะแรกจะมี วชช. นำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย วชช.อุทัยธานี, แพร่, มุกดาหาร, หนองบัวลำภู, สงขลา และ นราธิวาส.