‘ขับเป็น ไม่ใช่แค่ขับได้’ โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ฯ กับเคล็ดลับลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
การจัดอบรมเรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์ ขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ และรถพยาบาลที่มีมาตรฐาน จะช่วยสร้างพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย และช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่ง
การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนับว่าเป็นการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจากการที่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด อีกทั้งยังขาดทักษะ ความรู้ขั้นพื้นฐานในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต
หากผู้ขับขี่มีความรู้ว่าจะขับขี่อย่างไรให้ความปลอดภัย นี่จะเป็นโอกาสดีที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
“เรามีความเชื่อว่า เราปลอดภัยคนเดียว เราทำได้ดีคนเดียวก็ไม่รอด เพราะการใช้รถใช้ถนน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนจะต้องมีสามัญสำนึก และมีความรู้ความเข้าใจ ในการที่จะหลีกเลี่ยง อย่างกรณีรถบรรทุกที่มีขนาดใหญ่ บริเวณทางโค้งที่รถบรรทุกจะหักเลี้ยวมักเกิดจุดบอดตรงที่คนขับไม่สามารถมองเห็นด้านข้างได้ สำหรับรถจักรยานยนต์ถ้าหากมีองค์ความรู้จริงจะไม่พาตนเองเข้าไปเบียดแซงหรืออยู่ใกล้กับรถที่มีขนาดใหญ่ ถ้าเขารู้ก็จะไม่ปฏิบัติ พอไม่ปฏิบัติก็จะลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน”
นายชลัช วงศ์สงวน ผู้บริหารโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ โดยเอสซีจี เริ่มต้นให้ข้อมูล และว่า โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาทักษะและศักยภาพด้านการขับขี่ รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยบนท้องถนน โดยในปีนี้ทางโรงเรียนได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเรื่องความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายภาคประชาชน และภาครัฐ ร่วมรณรงค์ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เนื่องจากการขับขี่ในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์และรถพยาบาล
ยิ่งช่วงเทศกาลมักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาเดิม โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายงานจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 3,724 ครั้ง ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 1.การขับรถเร็วเกินกำหนด 2.ดื่มแล้วขับ และ 3.การขับรถตัดหน้าแบบกระชั้นชิด
ส่วนของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ และรถปิกอัพ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 3,897 ราย
อุบัติเหตุเหล่านี้นำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
ทางโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ฯ จึงได้แนะนำเคล็ดลับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ด้วยหลักการ 5 พร้อม ได้แก่
1. ร่างกายพร้อม หมายถึง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
2. จิตใจพร้อม หมายถึง มีสติ มีสมาธิ มอง สังเกต และคาดการณ์อันตรายอยู่เสมอ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด
3. ชุดพร้อม หมายถึง สวมหมวกนิรภัย เสื้อแขนยาวสีสว่างมองเห็นชัดเจน สวมถุงมือ กางเกงขายาว และรองเท้าหุ้มส้น
4. รถพร้อม หมายถึง ตรวจสอบระบบเบรก ระบบไฟส่องสว่าง สภาพยาง สารหล่อลื่น และฟังเสียงผิดปกติของเครื่องยนต์
5. เอกสารพร้อม หมายถึง พกใบอนุญาตขับขี่ สำเนาทะเบียน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ
สำหรับหลักสูตรขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์และรถพยาบาล โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) และกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดทำหลักสูตรขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพื่ออบรมพนักงานขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ด้านการขับขี่และการนำส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยยึดหลัก รู้-ลด-ให้-ไป ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิต หรือบาดเจ็บของผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินขณะปฏิบัติงานลงได้
เคล็ดลับการเตรียมความพร้อมในการขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ด้วยหลักการ รู้-ลด-ให้-ไป นั้น ประกอบไปด้วย
1. รู้ หมายถึง รู้ว่าจะไปทิศทางไหน โดยมองไกลไปข้างหน้า เพื่อเลือกช่องทางให้เหมาะสมแต่เนิ่นๆ
2. ลด หมายถึง ลดความเร็วลงก่อนถึงทางร่วมหรือทางแยก (ความเร็วที่สามารถหยุดได้ทันกรณีฉุกเฉิน)
3. ให้ หมายถึง ให้สัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อบ่งบอกทิศทางที่เราจะผ่านทางแยกนั้นๆ
4. ไป หมายถึง มองขวา – ซ้าย – ขวา เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงจะขับผ่านไปได้
นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ที่เป็นครูผู้ดูแลและฝึกสอนในโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ นำโดย นายนนท์ ภูปรัสสานนทน์ ได้มาร่วมถ่ายทอดทักษะความรู้และสาธิตการขับขี่ภายในสถานีเตรียมความพร้อมก่อนการขับขี่จริง
ผู้ที่เริ่มต้น ทางโรงเรียนทักษะพิพัฒน์จะฝึกสอนในเรื่องของการขับขี่ปลอดภัยให้ โดยให้ผู้เรียนเข้ามาทดสอบการขับขี่บนเครื่องซิมูเลเตอร์ (Simulator) เสียก่อน ให้ผู้ขับขี่เกิดความคุ้นเคยก่อนที่จะขับขี่รถจริง เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน
จำลองการขับขี่รถจักรยานยนต์
จำลองการขับขี่รถบรรทุก
จำลองการขับขี่รถขนาดกลาง
หลังการทดสอบการขับขี่ด้วยเครื่องซิมูเลเตอร์ ถัดมาคือการสาธิตหรือการจำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นบนท้องถนน ยกตัวอย่างเช่น การขับขี่ผ่านผู้ที่กำลังเล่นน้ำสงกรานต์ จุดบอดบริเวณทางโค้งของรถบรรทุกที่กำลังจะเลี้ยว การเปิดเส้นทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยเจ้าหน้าที่ได้อธิบายเพิ่มเติมสำหรับผู้ขับขี่ทั่วไปว่า เมื่อเห็นรถพยาบาลที่เปิดเสียงไซเรนสามารถช่วยให้การนำส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยด้วยหลักการหลีกทางรถพยาบาลฉุกเฉิน ดังนี้
1. ผู้ขับขี่ควรตั้งสติ เมื่อพบเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน
2. พยายามมองกระจกหลัง เพื่อกะระยะของรถพยาบาลที่วิ่งมา
3. พิจารณาปริมาณรถทั้งซ้ายและขวา ให้ลดความเร็วรถและเบี่ยงซ้าย เพื่อหลีกทางให้กับรถพยาบาลทันที
4. หากไม่สามารถหลีกทางได้ ให้หยุดชะลอรถ เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไป และห้ามขับตามเด็ดขาด
5. ในกรณีที่รถติด เมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลัง ให้หลบทาง พร้อมเปิดไฟเลี้ยว เพื่อให้สัญญาณรถพยาบาลฉุกเฉินแซงผ่านไปได้สะดวก
สาธิตการหลบหลีกรถพยาบาลฉุกเฉิน
ภาพจำลองการขับขี่รถจักรยานยนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้ข้อมูลเสริมถึงอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนของไทยในปัจจุบันติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยเฉพาะสถิติอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ยังคงติดอันดับ 1 ของโลก หากเข้าไปค้นข้อมูลการเสียชีวิตในศูนย์วิจัยอุบัติเหตุจะพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตไปกว่า 340 ราย ปัจจัยหลักเกิดจาก 1.ขาดความคาดประมาณหรือการตระหนักรู้ในเรื่องของความเสี่ยง 2.ขาดทักษะในการควบคุม และ 3.ขาดทักษะในการตัดสินใจ
ทั้งนี้ จากข้อมูลจะพบว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุมีเพียง 3% เท่านั้นที่เรียนรู้จากโรงเรียน ส่วน 97% ที่เหลือไม่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนอย่างเป็นระบบเลย
"ค่าเฉลี่ยของการขับขี่รถจักรยานยนต์ของคนไทยเริ่มตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ซึ่งการขับขี่อย่างปลอดภัยต้องไม่ใช่แค่ขับได้ แต่ต้องขับเป็น และคำนึงถึงองค์ประกอบด้านความปลอดภัยหลายๆ ประการด้วย" ผู้จัดการศวปถ. ระบุ พร้อมกับเน้นย้ำว่า สติในการขับขี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การฝึกอบรมเรื่องการขับขี่ปลอดภัยของโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ จึงถือว่า มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์สำหรับคนขับรถบนท้องถนนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดอบรมเรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์ การขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์และรถพยาบาลที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยสร้างพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย และช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่ง
“ความสูญเสียในภาพรวมและเรื่องของการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกลับมาตั้งหลักกับเรื่องการสร้างการเรียนรู้ โดยผมมองว่า สิ่งที่โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ได้เน้นกับจุดนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างการเรียนรู้ให้เป็นพื้นฐาน สิ่งนี้แหละที่ประเทศไทยกำลังขาด” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย