สสส. ห่วงสุขภาพ “ผู้สูงอายุ” ชวนลูกหลานทำอาหารด้วยสูตร 2:1:1 เน้นปรุงแต่งน้อย
สสส. ห่วงสุขภาพ “ผู้สูงอายุ” ชวนลูกหลานกลับบ้านวันสงกรานต์ทำอาหารด้วยสูตร 2:1:1 ปรุงเมนู 6 : 6 : 1 เน้นปรุงแต่งน้อย ถือโอกาส “วันผู้สูงอายุ” แสดงความรัก ความกตัญญู กินอร่อย-ปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในครอบครัว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2583 องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินไว้ว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ สูงถึงร้อยละ 33 และเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุสูงที่สุดในอาเซียน การช่วยให้ประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ควรเริ่มรักษาสุขภาพของตนเอง และบุคคลใกล้ชิด วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ วันสำคัญที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญ ร่วมดูแลความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และการรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ทั้งนี้การเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงจะทำให้ก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้ในอนาคต
“การดำเนินชีวิตของครอบครัวในปัจจุบันที่อาศัยการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารรสจัด หวานจัด มันจัด และเค็มจัดจนเกินไป รวมไปถึงอาหารจานด่วน อาหารฟาสฟู้ด และอาหารแช่แข็ง รวมถึงการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนไทยป่วยเป็นโรค NCDs มากขึ้น การดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุให้สามารถดูแลตัวเองจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อย่างเรื่องการรับประทานอาหาร ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ ควบคุมปริมาณการกินในสัดส่วนที่พอดี ด้วยการใช้แบบจำลองจานอาหารหรือที่รู้จักกันในชื่อเมนู 2:1:1 โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน 2 ส่วนแรกเป็นผัก 1 ส่วนเป็นข้าวหรือแป้ง และอีก 1 ส่วนสุดท้ายเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน พร้อมใส่ใจการลดหวาน มัน เค็ม” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้สูงอายุ รวมถึงคนในครอบครัวทุกวัย ควรได้รับประทานอาหารที่ใช้สูตร 6 : 6 : 1 ในการปรุง คือ น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อสุขภาพของประชาชน ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารตามธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อย หรืออาหารสุขภาพ เน้นการเลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพราะมีสารอาหารมากกว่า พร้อมเลือกรับประทานเนื้อปลา สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะมีโปรตีนที่มีคุณภาพ เลือกรับประทานไข่ได้วันละฟอง โดยเน้นไข่ต้ม ไข่ตุ๋น เลี่ยงไข่ดาวและไข่เจียว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ให้ลดเหลือ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ เลือกโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด ดื่มนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย 1 กล่องหรือ 1 แก้วต่อวัน เพื่อเสริมสร้างแคลเซียม และรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เน้นอาหารที่ต้ม ย่าง ยำ ตุ๋น หรือนึ่ง ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหว ออกแรง หรือมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นหายใจหอบ โดยสะสมให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจเป็นการออกกำลังกายรวดเดียว 30 นาที หรือแบ่งเป็นช่วง ช่วงละ 10 – 15 นาที ซึ่งถ้าเป็นออกกำลังกายเบา เช่น เดินเล่น รวมถึงการนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 5-6 ชั่วโมง