เบื้องลึก! ผลสำรวจคนไทยอ่านนานเฉลี่ย 80 นาที/วัน เพิ่มขึ้นเชิงปริมาณหรือคุณภาพ?
“...ส่วนตัวไม่ตื่นเต้นกับตัวเลขที่สูงขึ้นในเชิงปริมาณ แต่สนใจในเชิงคุณภาพที่สำคัญมากกว่าว่า คนกำลังอ่านอะไรอยู่ สมมติถ้าเด็กได้อ่านสิ่งที่เหมาะสมกับวัยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กได้อ่านสิ่งที่ดีต่อเขามากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ เด็กที่อยู่ในเขตเมืองหรือมีฐานะค่อนข้างดีไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเด็กที่อยู่ชนบทหรือเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก ใครจะเป็นผู้จัดหาหนังสือให้เด็กเหล่านั้นได้อ่าน เราสามารถพึ่งพาโรงเรียนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ขนาดไหน...”
เด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปี อ่านเพิ่มขึ้น-ใช้เวลาเฉลี่ย 42 นาที/วัน
ผลสำรวจยังพบความถี่ในการอ่านนาน ๆ ครั้ง ของเด็กเล็กลดลง เหลือร้อยละ 8.1 และใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 42 นาที/วัน นานขึ้นจากเดิม 8 นาที/วัน
แนวโน้มการอ่านของประชากร อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป พบว่า ปี 2561มีผู้อ่านเป็นร้อยละ 78.8 (49.7 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.7
คือ ประเด็นสำคัญ ในการแถลงข่าว เรื่อง "ผลสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ที เค พาร์ค) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ผลสำรวจ ปี 61 ชี้คนไทยอ่านนานขึ้นเฉลี่ย 80 นาที/วันผลสำรวจ ปี 61 ชี้คนไทยอ่านนานขึ้นเฉลี่ย 80 นาที/วัน)
โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้ นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เน้นย้ำระหว่างการเปิดเผยภาพรวมสำรวจการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ. 2561 ว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และ ภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และและ 2556 อ่าน 37 นาที
จากผลการสำรวจปี 2561 ดังกล่าว 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 92.9%, สมุทรปราการ 92.7%, ภูเก็ต 91.3% ขอนแก่น 90.5% สระบุรี 90.1% อุบลราชธานี 88.8% แพร่ 87.6% ตรัง 87.2% นนทบุรี 86.6% และ ปทุมธานี 86.2%
ด้านนายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวย้ำว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park เห็นว่าแม้ว่าจะมีตัวเลขคนอ่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.8 ก็ตาม แต่เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่า มีถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่าน มีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ
ส่วนเหตุผลของประชากรไทยที่ไม่อ่านถึงเกือบ 14 ล้านคน ในจำนวนนั้น นายกิตติรัตน์ ย้ำว่า มีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่าน ถึงร้อยละ 25.2 คิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 3,450,000 คน คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุทยานการเรียนรู้ TK park และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย และเมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปีมีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล เมื่อไปดูในเด็กอายุ 15-24 ปี กลับพบว่า ไม่ชอบการอ่านหนังสือถึงร้อยละ 34.9 ขณะที่วัยผู้ใหญ่ 25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึงร้อยละ 32.8 ชี้ให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี นางสาวธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ ให้ความเห็นต่อผลสำรวจการอ่านดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ผลสำรวจการอ่านที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่คำถามที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าคือ สิ่งที่อ่านนั้นคืออะไร
นางสาวธนิษฐา แดนศิลป์ ขณะพูดเรื่อง "รู้จักสถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดีย"
“ส่วนตัวไม่ตื่นเต้นกับตัวเลขที่สูงขึ้นในเชิงปริมาณ แต่สนใจในเชิงคุณภาพที่สำคัญมากกว่าว่า คนกำลังอ่านอะไรอยู่ สมมติถ้าเด็กได้อ่านสิ่งที่เหมาะสมกับวัยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กได้อ่านสิ่งที่ดีต่อเขามากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ เด็กที่อยู่ในเขตเมืองหรือมีฐานะค่อนข้างดีไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเด็กที่อยู่ชนบทหรือเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก ใครจะเป็นผู้จัดหาหนังสือให้เด็กเหล่านั้นได้อ่าน เราสามารถพึ่งพาโรงเรียนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ขนาดไหน”
เมื่อถามว่าแล้วคนไทยควรอ่านอะไร นางสาวธนิษฐา ตอบว่า การที่จะรู้ว่า ควรอ่านอะไรนั้น ต้องดูว่า สังคมต้องการให้ประเทศเดินไปในทิศทางไหน และการที่จะรู้ว่าประเทศจะเดินทางไปในทิศทางไหนนั้น อย่างน้อยต้องรู้ด้วยว่า คนในประเทศมีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง เช่น เด็กไทยอ่อนด้านวิทยาศาสตร์ ก็ต้องส่งเสริมจุดนั้น
นางสาวธนิษฐา กล่าวต่อไปว่า ในประเทศอินเดียมีหน่วยงานที่ชื่อว่า National Book Trust (NBT) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ก่อตั้งด้วยงบประมาณของรัฐ เพื่อดูแลจัดการเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านภายในประเทศ อินเดียมองว่าการที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ถ้าไม่พัฒนาเรื่องการอ่านหนังสือของคนในประเทศก่อนจะพัฒนาไปได้ยาก ฉะนั้นจึงหันมาพัฒนาด้านที่เป็นพื้นฐานก่อน การที่จะพัฒนาคนได้ คนต้องอ่านหนังสือ
“สิ่งที่ NBT ทำยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียมีการใช้ภาษาที่หลากหลายในท้องถิ่นต่างๆ NBT ทำการแปลหนังสือเล่มหนึ่งๆ เป็นภาษาต่างๆ กระจายไปยังชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงหนังสือเล่มนั้นได้อย่างเท่าเทียม หรืออีกอย่าง สมมติว่านักเขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่ง อยากเขียนหนังสือที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ แต่ไม่ใช่นักดาราศาสตร์โดยตรง ก็สามารถขอความช่วยเหลือไปยัง NBT ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประสานงานกับนักดาราศาสตร์ให้ช่วยเหลือด้านข้อมูลแก่นักเขียน การตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาสาระของหนังสือ หรือแม้แต่ทุนในการช่วยผลิต หรือผลิตหนังสือที่เป็นประโยชน์ จำเป็นต่อคนในชาติ ที่อาจไม่ทำกำไรในแง่ของธุรกิจ อีกทั้ง NBT ยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานหน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น นักเขียน นักอ่าน ห้องสมุด ภาครัฐ เอกชน”
ประเทศไทยนั้น ภาครัฐต้องเห็นว่าภาพรวมประเทศเป็นอย่างไร คนในประเทศเป็นอย่างไร ยังขาดอะไร จะส่งเสริมการอ่านได้อย่างไร ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านเกิดขึ้นมากกมาย แต่หลายกิจกรรมจะเป็นในรูปแบบที่ไม่ต่อเนื่อง หรือต่อเนื่องได้สักระยะแล้วหายไป ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานของรัฐที่จะมาดูแลระบบหนังสือและการอ่านของคนในประเทศอย่างจริงจัง แบบที่มีในอินเดีย หรือบางประเทศที่มีองค์กรในรูปแบบที่คล้ายกัน หลักการดังกล่าวเคยถูกเสนอไปยังรัฐบาลแล้วแต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น อยากแนะนำให้รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น เป็นองค์กรที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาล นางสาวธนิษฐาระบุ
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การอ่านหนังสือในประเทศไทยล่าสุด และดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอคอยผู้มีอำนาจหน้าที่เข้ามาหาทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่อไปเป็นการด่วน!
หน้าเว็บไซต์ Natioanl Book Trust : http://www.nbtindia.gov.in/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :