กทม.จับมือ กสทช.นำสายสื่อสารลงใต้ดิน 'ผู้ว่าฯ อัศวิน' ลั่นเสร็จภายใน 2 ปี
ผู้ว่าฯ กทม.แถลงร่วมกับ กสทช. ถกนำสายสื่อสารลงดิน คาดเริ่มได้ปลายเดือน พ.ค. แล้วเสร็จใน 2 ปี ใช้ “กรุงเทพธนาคม” ดำเนินการ เผยกระทบการสัญจรน้อยเพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ ขุดเฉพาะทางเท้า ลึกแค่ 80 ซม.
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงข่าวหลังการประชุมการดำเนินโครงการบริหารจัดการการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2562 อนุมัติให้ กทม.ประสานกับ กสทช.ให้นำสายสื่อสารลงดินให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.รับทราบมติ ครม.เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จึงได้หารือกับ กสทช.ซึ่งจะเริ่มดำเนินการหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คาดว่าปลายเดือน พ.ค.จะเริ่มดำเนินการขั้นที่ 1 โดยการขุดจะมีความลึก 80 เซนติเมตร (ซม.) หน้ากว้างไม่เกิน 40 ซม. โดยจะไม่ให้กระทบปัญหาการจราจรเนื่องจากจะขุดบนทางเท้าซึ่งมีความกว้างอย่างน้อย 2 เมตร และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนที่ใช้ทางเท้า และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ กทม.ได้รับคำแนะนำจาก กสทช.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา ระเบียบข้อบังคับ ถ้ามีท่อร้อยสายแล้ว สายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าทั้งหมดต้องนำลงดิน ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาด และระเบียบของ กสทช.อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องทำความตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในระยะเวลาอันใกล้
ด้านนายฐากรกล่าวว่า วันนี้ทางผู้ว่าฯ กทม.พร้อมคณะได้เข้าหารือร่วมกันกับทางสำนักงาน กสทช.เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการโครงการนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าจะเริ่มดำเนินการปลายเดือน พ.ค.นี้ มีระยะทาง 1,260 กิโลเมตร (กม.) ในถนนสายหลักและถนนสายรอง รวมทางเท้าไป-กลับ เป็นระยะทาง 2,520 กม. โครงการนี้มีระยะเวลา 2 ปี แต่ทาง กสทช.อยากให้ทาง กทม.ส่งแผนระยะเวลาดำเนินการให้มีความชัดเจนในแต่ละเฟส รวม 4 เฟส
“เมื่อระยะที่ 1 แล้วเสร็จ กสทช.จะเตรียมการกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมนำสายสื่อสารลงดินเพื่อให้โครงการดำเนินการไม่ล้าช้า โดยจะมีการนำสายลงไปก่อน อาจจะดำเนินการแค่ 4-5 เดือน สอดคล้องกับการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครของอาเซียน” นายฐากรกล่าว
เมื่อถามถึงข้อห่วงใยเรื่องอัตราค่าบริการ ยืนยันว่าโครงการนี้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของสาธารณะและประชาชน เนื่องจาก กทม.เห็นว่าโครงการนี้ไม่คิดกำไรใดๆ อยากจะให้นำต้นทุนดำเนินการมาคำนวณกับ กสทช.เพื่อกำหนดอัตราค่าบริการ ซึ่งข้อห่วงใยผู้ประกอบการโทรคมนาคมพบว่า อัตราค่าบริการนำสายสื่อสารลงดินจะสูงเกินไปหรือไม่ ทาง กทม.จะนำราคาต้นทุนต่างๆ ที่จะคำนวณส่งให้ กสทช.เพื่อประสานผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้ามาดูอัตราค่าบริการต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง ตรงไหนที่ กสทช.จะดำเนินการหรืออำนวยความสะดวกได้ เช่น ลดหย่อนผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อจูงใจให้นำสายสื่อสารลงดินเร็วที่สุดจะดำเนินการส่วนนั้นต่อไปให้
ส่วนที่ กทม.มองว่าได้สร้างท่อร้อยสายโดยไม่คิดอัตราค่าบริการ เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งออกในนามบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กทม.ต้องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเพราะไม่ได้คิดกำไรในการดำเนินการ ตนได้แนะนำให้ผู้ว่าฯ กทม.ทำหนังสือเข้ามา เนื่องจากได้สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ กสทช.จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมปกติ และค่าธรรมเนียมบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ในการดำเนินการ ทั้งหมดจะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
“ถ้าดำเนินการได้ตามนี้โครงการจะเดินหน้าต่อไปได้เร็ว จะเห็นได้ว่าเส้นทางถนนพหลโยธิน และถนนสุขุมวิท ที่นำสายไฟลงใต้ดินมีความสวยงาม ถ้าทำทั้งถนนสายหลัก และถนนสายรอง จะเกิดความสวยงาม ในอนาคตถนน ตรอกซอกซอยต่างๆ กทม.จะดำเนินการส่วนนี้ต่อไปอีก จึงเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ และคนทั้งประเทศในการทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จเสียที” นายฐากรกล่าว
เมื่อถามว่า สายที่จะนำลงใต้ดินเป็นสายไฟฟ้า หรือสายสื่อสาร นายฐากรกล่าวว่า กทม.ดำเนินการเฉพาะสายสื่อสาร ส่วนสายไฟฟ้าแรงสูงนั้น การไฟฟ้านครหลวงมีโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอยู่แล้ว ซึ่งท่อร้อยสายต่างระดับกัน ท่อร้อยสายสื่อสารลงจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร (ซม.) แต่ถ้าเป็นท่อไฟฟ้าแรงสูงจะลงลึกกว่านั้น ประมาณ 2 เมตร ซึ่งท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงสูงนั้น การไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ก็ต้องขออนุญาต กทม.อีกครั้งหนึ่ง เป็นการแยกระดับการทำงาน
ส่วนพื้นที่นำร่องที่ กทม.จะดำเนินการก่อนเป็นพื้นที่ใดนั้น พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ได้หารือกับเลขาธิการ กสทช.แล้วว่าจะแบ่งออกเป็น 4 โซน ทำคู่ขนานทั้ง 4 โซน ภายในปีนี้แต่ละโซนต้องมีไม่น้อยกว่า 150 กม.ขึ้นไป ทาง กทม.จะทำแผนเพื่อนำมาหารือกับ กสทช.ว่าพิมพ์เขียวที่ออกมาจะทำอย่างไร ตรอกซอกซอยจะเข้าไปยังไง กสทช.จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับ กทม.ซึ่งจะทำเอ็มโอยูร่วมกันภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ กทม.ได้รับความอนุเคราะห์จาก กสทช.อย่างมาก ในเมื่อถ้ามีท่อร้อยสายแล้ว สายสื่อสารที่รกรุงรังพาดกับเสาไฟฟ้าต้องไม่มี
เมื่อถามว่า ราคาที่ กทม.จะดำเนินการอยู่ที่เท่าไหร่ นายฐากรกล่าวว่า กทม.จะดำเนินการคำนวณราคามาให้ทาง กสทช.ดูก่อน ซึ่งจะสอดคล้องกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมด้วย ถ้าทำแล้วราคาจะออกมาเท่าใดจะเชิญผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เพราะ กทม.ต้องว่าจ้างผู้รับจ้างดำเนินการอยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่อัตราค่าบริการไม่ได้แพง ผู้ประกอบการสามารถนำสายต่างๆ ลงแบบสบายใจ ซึ่งต้องรอผู้ว่าฯ กทม.ทำหนังสือเข้ามา เพราะต้องดูราคาต้นทุน ถ้าคำนวณออกมาต่อกิโลเมตรจะคิดกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าสอดคล้องกันทั้งหมดจะเชิญมาอีกครั้ง เบื้องต้นอยู่ที่ 9,600 บาทต่อเดือนต่อกิโลเมตร
เมื่อถามว่า เป็นการเทกโอเวอร์งานของทีโอทีมาทำ นายฐากรชี้แจงว่า เดิมทีโอทีมีท่อร้อยสายเดิม 100 กิโลเมตรเศษที่ใช้งานได้ซึ่งเป็นพื้นที่ของ กทม. ถ้าให้ทีโอทีทำต้องเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่จะขอทำโครงการดังกล่าวต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นควรมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ หลักการก็คือ 1. กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ 2. กทม.มีบริษัท กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม. ในการดำเนินการจะรวดเร็ว จะเห็นว่าระยะทาง 2,520 กม. กทม.รับปากว่าดำเนินการภายใน 2 ปี คณะกรรมการดีอีมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการก็ทำให้กระบวนการทั้งหมดรวดเร็ว
“เมื่อเจ้าของพื้นที่อนุญาตเองในการดำเนินการทั้งหมด จึงมอบหมายให้ กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ดำเนินการ ในอนาคตข้างหน้า ถ้ามีการก่อสร้างถนนใหม่ใน กทม.ก็จะมีการขุดท่อร้อยสายพร้อมกันไปด้วย ไม่ต้องดำเนินการขออนุญาต จะเห็นว่าการประปานครหลวงที่ดำเนินการคือแยกกันทำ ถนนสร้างเสร็จไปขุดท่อประปาอีกก็เหนื่อย แทนที่จะทำรวดเดียว ตนเห็นด้วยที่จะให้เจ้าของพื้นที่ดำเนินการ จะได้จบในครั้งเดียว” นายฐากรกล่าว
เมื่อถามว่า โครงการนี้ กทม.ใช้งบประมาณเท่าไหร่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า เราไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม. แต่จะมี กสทช.เป็นพี่เลี้ยงประคับประคอง กทม.ไม่ได้หวังกำไรเหมือนตลาดนัดสวนจตุจักร ที่เก็บจากผู้ค้าพันกว่าบาท เพราะไม่ใช่นักธุรกิจที่ต้องการกำไร กทม.มีรายได้จากภาษีประชาชนอยู่แล้ว ฉะนั้นภาษีประชาชนต้องคืนสู่ประชาชน ยืนยันว่าไม่แพง กสทช.จะกำหนดเรื่องราคา ส่วนเงินทุนกำลังหาผู้ลงทุน แต่ กทม.จะไม่มีหนี้สิน
“เหมือนกรณีรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที ทำมาแล้ว 7 ปี แต่พอผมเข้ามาก็จ้างเดินรถปีละประมาณ 1,600 ล้านบาท พอหมดสัญญาเมื่อปี 2560 จะมาขอต่อสัญญา กทม.ไม่ต่อให้ ปัจจุบันก็ยังเดินรถอยู่ประมาณ 2 ปี ผมไม่ต้องจ้างปีละ 270 ล้านบาท เขาก็เก็บค่าโดยสารพอ สามารถทำได้ ได้หารือกับ กสทช.ตลอด ส่วนใครจะมาลงทุนเท่าไหร่ จะมาเก็บสูงกว่าผู้ประกอบการเคยใช้อยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคม วัตถุประสงค์คือต้องการไม่ให้สายสื่อสารรกรุงรัง ให้สวยงาม จัดระเบียบบ้านเมือง ทำเพื่อประโยชน์สังคมโดยไม่ได้หวังกำไร” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
เมื่อถามว่า การทำท่อร้อยสายสื่อสารจะไม่กระทบต่อการจราจร แปลว่าจะไม่มีการปิดถนนสักเส้น พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ทำบนทางเท้า ความกว้างแค่ 40 ซม. ไม่ได้ขุดบนถนน ขุดบนทางเท้า ประชาชนยังเดินได้ และจะทำอย่างเร่งด่วน สมมติถนนกว้าง 2 เมตร จะขอปิดการจราจรแค่ 1 เมตร ความกว้าง 40 ซม. ระยะทาง 3-5 กม. ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์เท่านั้น และขยับต่อไป เราไม่ต้องการให้ผลกระทบตกอยู่กับประชาชน ส่วนบางพื้นที่ซึ่งมีการค้าขายบนทางเท้า ประชาชนเดินไม่ได้อยู่แล้ว การก่อสร้าจะกระทบหรือไม่ ก็พยายามจะกระทบให้น้อยที่สุด แต่เพื่อความเจริญของบ้านเมือง บางครั้งก็เสียสละบางส่วนเล็กน้อยเพื่อความสบายในภายภาคหน้า
ขณะที่นายฐากรกล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่น่าจะกระทบน้อย เพราะเปิดแค่ต้นทางและปลายทางในการดำเนินการ โดยได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมการดีอี จะเห็นว่าในพื้นที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้นำสายสื่อสารลงดินแล้ว กสทช.ไปตรวจพื้นที่พบว่าประชาชนดีใจมาก 40-50 ปีไม่เคยมีหน่วยงานไหนดำเนินการ วันนี้สายสื่อสารลงดินแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งทำให้สังคมดีขึ้น วันนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้ลุกขึ้นมาทำเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นสังคมน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งเรื่องความสวยงามอีกด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า โครงการดังกล่าว กทม.มีแผนบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร อีกทั้งสอดคล้องกับที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2560 ซึ่งมีมติให้กรุงเทพมหานครจัดทำแผนการดำเนินงาน มาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดังนั้น กทม.จึงได้หารือร่วมกับ กสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดย กทม.รับเป็นเจ้าภาพ พรอมทั้งมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินโครงการ รวมถึงขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ถูกต้อง และนำเสนอแผนดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการ DE คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน
ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ได้ประสาน กสทช.เพื่อขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 จากนั้นได้เสนอแผนดำเนินงาน มาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการ DE คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี เพื่อเห็นชอบการดำเนินการ จนกระทั่งเมื่อวันทึ่ 15 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการ DE ให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ
สำหรับการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น กทม.ได้มีการแยกแผนดำเนินการออกจากแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง เนื่องจากปัญหาสายสื่อสารระโยงระยาง รกรุงรัง เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นต้องดำเนินการในทันที อีกทั้งลักษณะการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสายสื่อสาร และสายไฟฟ้า มีความแตกต่างกัน โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าที่ความลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ในขณะที่ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง จะเป็นการขุดวางใต้ผิวจราจรที่ระดับความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า
ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จะดำเนินการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสาย โดยนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย (Microduct) จำนวนตั้งแต่ 14-21 ไมโครดัก ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน และเป็นมาตรฐานเดียวกับมหานครอื่นๆ ทั่วโลก มาใช้ในการดำเนินการ บนถนนสายหลักและสายรองทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางประมาณ 2,450 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพตอนเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะมีการสำรวจและออกแบบโครงข่าย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2562 และคาดว่าจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี เพื่อให้ภูมิทัศน์เมืองเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งในอนาคต หากมีการขยายถนนเพิ่มเติม กรุงเทพธนาคม จะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินไปพร้อมๆ กัน
ที่มาข่าว:https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000033523